ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ไทยถอดบทเรียน Seafood Task Force ในเวทีสหประชาชาติ ผลงานเด่นกรณีอียูยกเลิกใบเหลือง IUU

ไทยถอดบทเรียน Seafood Task Force ในเวทีสหประชาชาติ ผลงานเด่นกรณีอียูยกเลิกใบเหลือง IUU

28 พฤศจิกายน 2019


ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT)(กำลังพูด)

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT) โดยผู้แทน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมนำเสนอประสบการณ์เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานภายใต้ Seafood Task Force

ในการประชุมเรื่อง Multi stakeholders initiatives promoted by States to drive business respect for human rights – effectiveness and lessons learned ว่าด้วยความสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริมการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 62 ณ สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา

ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT) และผู้แทนเครือเจริญโภคภัณฑ์​ ได้กล่าวถึงบทบาทของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ว่าได้ร่วมก่อตั้ง Seafood Task Force ซึ่งมีผลงานโดดเด่น ช่วยให้สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลืองในกรณี IUU Fishing หรือมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing Measures: IUU) ของไทยในที่สุด และย้ำว่า ถึงแม้ว่า CPF ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงโดยตรง แต่ด้วยความเป็นผู้นำในด้านธุรกิจเกษตร-อาหาร และความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน CPF จึงได้ร่วมขับเคลื่อน Seafood Task Force ตั้งแต่ต้น

ดร. เนติธร กล่าวต่อว่าปัจจัยความสำเร็จของ Seafood Task Force มีสามด้านที่สำคัญ ได้แก่

    1. ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพราะทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ ลูกค้าในต่างประเทศ ห้างค้าปลีกในต่างประเทศ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาครัฐ ต่างมาร่วมกันหาทางออก และภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชน ได้เสริมการทำงานของภาครัฐ อาทิ การใช้เครื่องติดตามเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) ร่วมกับกรมประมงของไทย หรือการจัดตั้งศูนย์ Fisherman’s Livelihood Enhancement Center หรือ FLEC โดย CPF ที่จังหวัดสงขลา

    2. การดำเนินงานที่สอดคล้องกัน จากการที่มีผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและเกิดการประสานเชิงนโยบายอย่างแท้จริง

    3. เน้นการขยายผล โดย Seafood Task Force ถือกำเนิดจาก Shrimp Task Force และได้ขยายขอบเขตเพื่อครอบคลุมอุตสาหกรรมประมง ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 องค์กร จากทุกภาคส่วน และจะขยายรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อาทิ เวียดนาม

จากนั้นนาย Dante Pesce สมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในฐานะประธานการประชุม กล่าวชื่นชมความตั้งใจจริงของทางบริษัทและของไทย โดยขอให้เป็นตัวอย่างในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินงานต่ออุตสาหกรรมอื่นอีกด้วย