สกพอ.จับมือมิตซูบิชิ-JETRO เดินหน้า “EEC AUTOMATION PARK” ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี 200 ราย นำร่องยกระดับกระบวนการผลิตสู่ “โรงงานอัจฉริยะ” ตั้งเป้าฯเชิญชวนผู้ประกอบการ-โรงงานในพื้นที่ 10,000 ราย เข้าร่วมโครงการ พร้อมสร้างบุคลากรดิจิทัลรองรับอีก 15,000 คน ภายใน 5 ปี
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “อีอีซี” ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก EEC Automation Park และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น จัดงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 “Digital Manufacturing Platform” แสดงความพร้อมของ EEC Automation Park ที่จะเป็นฐานสำคัญ ขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ ตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างทักษะแรงงาน อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. , ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร(EEC-HDC) นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ “JETRO” ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สกพอ. , นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park และผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 ราย เข้าร่วมงาน
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์และเข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี ที่มีมายาวนาน และยังคงต่อเนื่องเดินหน้ายกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งนำโดย บริษัท มิตซูบิชิฯ ที่ริเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต ผลักดัน Industry 4.0 ให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ อีอีซี ดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก
โดยคาดว่า การลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาทเป็นการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน
ด้าน นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธาน JETRO กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่าง JETRO และอีอีซี ด้านการสนับสนุน Robotic & Automation ว่า ปัจจุบัน JETRO ได้จัดตั้งเว็บไซต์พิเศษ เพื่อแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ คู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งได้ร่วมกับ อีอีซี จัดสัมมนาและประชุมออนไลน์ สร้างโอกาสการลงทุนขึ้นจริง เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ของบริษัทญี่ปุ่น และไทยแล้วกว่า 50 บริษัท การจัดประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ทางธุรกิจร่วมกันกว่า 60 ครั้ง ซึ่งประเทศญี่ปุ่น พร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านทางภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Robotic & Automation ที่ EEC Automation Park แห่งนี้ จะเป็นฐานความร่วมมือสำคัญ พัฒนาอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ Industry 4.0 และการพัฒนาทักษะบุคลากรร่วมกันต่อไปในอนาคต

นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมถึงการร่วมจัดทำ EEC Automation Park ว่า บริษัทฯ ได้นำระบบสายการผลิตอัจฉริยะ หรือ “e-F@ctory” เข้ามาใช้ในการสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมใช้นวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาระบบ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) ที่จะเป็นเครืองมือประเมินระดับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในโรงงาน เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนของผู้บริหาร โดยจะแสดงวัตถุประสงค์ ทิศทางการพัฒนา และผลที่จะได้รับจากการลงทุนในแต่ละขั้นตอน นำมาใช้ในการประเมินระดับความสามารถในการผลิตแบบดิจิทัล รวมทั้ง ทำให้เกิดมาตรการควบคุมลดการใช้พลังงานในไลน์การผลิต นอกจากนี้ ยังได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งด้าน IT (Information Technology) และด้าน OT (Operation Technology) มาใช้ระบบ Factory Automation เพิ่มความยืดหยุ่นในการนำไปใช้งานได้อย่างเสถียร และ Real Time ได้อย่างแท้จริง รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน
ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC) กล่าวถึงการพัฒนาบุคคลากร ว่า ทาง EEC HDC ได้เชื่อมโยงการพัฒนาบุคลากร ตามแนวทางสร้างคนให้ตรงกับงาน หรือ EEC Model ซึ่งความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรใน อีอีซี (New, Up, Re -Skill) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมาย รวมภายใน 3 ปี ผลิตไม่น้อยกว่า 120,000 คน โดยเป็นบุคลากรรองรับด้านดิจิทัล 5G ให้ได้ 50,000 คน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ สกพอ. กล่าวเสริมว่า EEC Automation Park จะยกระดับไปสู่ ศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร หรือ EEC-NET ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี จะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมในพื้นที่ อีอีซี 100% แล้วเพิ่มขึ้น เกิดบริการข้อมูลฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ในรูปแบบการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตร เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง พร้อมกันนี้ EEC Automation Park จะสามารถฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทักษะด้าน Robotics & Automation ได้มากกว่า 25 หลักสูตร โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ประมาณ 2,000 คน/ปี และภายใน 5 ปี ได้สูงถึง 15,000 คน ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูงต่อไป