ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > สกพอ.จับมือ “ออมสิน-เอ็กซิมฯ-บสย.”จัดแพ็กเกจสินเชื่อ ลุยปล่อยกู้ลูกค้าทุกระดับใน EEC

สกพอ.จับมือ “ออมสิน-เอ็กซิมฯ-บสย.”จัดแพ็กเกจสินเชื่อ ลุยปล่อยกู้ลูกค้าทุกระดับใน EEC

27 ตุลาคม 2021


สกพอ.จับมือ “ออมสิน-เอ็กซิมฯ-บสย.” จัดแพ็กเกจสินเชื่อ ลุยปล่อยกู้ลูกค้าทุกระดับ ตั้งแต่หาบเร่แผงลอยยันโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ EEC

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุน และบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) , ธนาคารออมสิน , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก , นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน , นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้น ระหว่าง สกพอ. และ 3 สถาบันการเงินครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่าง ๆ รวมทั้ง เทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยสนับสนุนแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะมีบริการและเครื่องมือทางการเงิน สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประสบผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ จะได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อการบริการด้านการเงินการลงทุน การนำเข้า ส่งออก และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการนักลงทุนได้ครอบคลุมทุกความต้องการ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี อย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน จัดเตรียมบริการสินเชื่อ GSB Smooth Biz for EEC เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนลงทุนในสินทรัพย์ถาวรให้แก่กลุ่มเป้าหมายนิติบุคคล ซึ่งประกอบธุรกิจผลิต การให้บริการ การพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือ Social Enterprise ในพื้นที่ อีอีซี และบริการสินเชื่อประชาชนสุขใจ สำหรับผู้ประกอบการภายในพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการใช้หนี้นอกระบบ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มค้าขาย หรือ ให้บริการรายย่อย ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่าย ส่วน EXIM BANK เตรียมบริการ สินเชื่อ EXIM EEC Plus เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนใน อีอีซี หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงานระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ บสย.ได้เตรียมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อไว้บริการลูกค้าทุกกลุ่ม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารออมสิน พร้อมให้ความมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน ประชาชนและชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคาร โดยเฉพาะการสนับสนุนและให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ และให้กู้ได้นานเป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ สินเชื่อ GSB Smooth BIZ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท และ สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจ Small SMEs เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝาก ให้กู้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 70 ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย งานบริการและผลิตสินค้าอุปโภคเพื่อจำหน่าย ได้แก่ สินเชื่อประชาชนสุขใจ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ หรือใช้ปลดภาระหนี้นอกระบบ ให้วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน Flat Rate ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกใช้บริการสินเชื่ออื่น ตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ตามความประสงค์ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan สำหรับ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง , สินเชื่อ Soft Loan ธปท. เพื่อฟื้นฟูกิจการ , สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 และ สินเชื่ออิ่มใจ เป็นต้น

ธนาคารออมสิน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ ในการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงิน เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ด้านดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการทำงานอย่างสอดประสานเหมือนการต่อจิกซอว์ เพื่อเดินเครื่องเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย 3 สถาบันการเงินได้แก่ ออมสิน,บสย. และ EXIM BANK จะจัดให้มีแพ็กเกจบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการใน EEC สำหรับนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขยายหรือปรับปรุงโรงงาน ยกระดับซอฟต์แวร์ในกระบวนการผลิต รวมถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว

โดยแพ็กเกจทางการเงินของ EXIM BANK ในโครงการนี้ ได้แก่ สินเชื่อ EXIM EEC Plus เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนใน EEC หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน ระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี เป้าหมายวงเงิน 1,000 ล้านบาท

“EXIM BANK ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญอย่าง EEC เพื่อให้เกิดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองใหม่โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนภาคการผลิตเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของการส่งออก โดยสอดคล้องกับเมกะเทรนด์และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์กล่าว

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย.

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. ได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับลูกค้าทุกระดับในวงเงินตั้งแต่ 10,000 บาทต่อราย ไปจนถึง 150 ล้านบาทต่อราย ผ่านโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan ของ EXIM BANK และโครงการสินเชื่อประชาสุขใจของธนาคารออมสิน สำหรับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ ทั้งนี้ บสย. ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีค่าใช้จ่ายลดลงอีกด้วย และ บสย. ยังมีโครงการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ช่วยแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามผลกระทบในเวลานี้ และสามารถพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระยะต่อไป