ThaiPublica > Sustainability > Headline > “ปันอิ่ม” เปลี่ยนพลังลบเป็นพลังบวกในวิกฤติโควิด ร่วมสร้างกลไก Social Safety Net ให้สังคม

“ปันอิ่ม” เปลี่ยนพลังลบเป็นพลังบวกในวิกฤติโควิด ร่วมสร้างกลไก Social Safety Net ให้สังคม

5 สิงหาคม 2021


กว่า 1 ปีของการแพร่ระบาดโควิด-19 จากระลอก1 มาถึงระลอก 4 รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสุด พ่วงด้วยการคุมเข้มกิจการแทบทุกประเภท พยายามลดยอดผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตให้ประชาชนอยู่บ้าน กระทบหนักกับร้านอาหารขนาดเล็กตามชุมชนที่อาจไม่ได้มีต้นทุนในการปรับตัวไปขายเดลิเวอรีเหมือนร้านขนาดใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าจากร้านค้าเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการรัฐ ร้านค้าส่วนใหญ่แทบจะไปต่อไม่ได้

หลายคนพยายามต่อสู้ พร้อมบอกว่า…ก็ต้องเลือกจะ “ติดเชื้อตายหรืออดตาย”

10 พฤษภาคม 2564 เพจปันอิ่ม ประกาศการกลับมาอีกครั้งหลังจากหยุดพักโครงการไปตั้งแต่สถานการณ์ระบาดดีขึ้นเริ่มดีขึ้นในระลอกแรก ช่วงต้นปี 2564 เมื่อประชาชนออกจากบ้านได้บ้าง ร้านค้าพอมีทางทำมาค้าขาย แตกต่างจากครั้งนี้ที่ทีมงานปันอิ่ม ในฐานะประชาชน ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

ครั้งนี้ “ปันอิ่ม” ขับเคลื่อนด้วยน้ำพักน้ำแรงของทีมงานหลักทั้งหมด 8 คน สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมไทย ที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างพลังบวก จุดประกายสังคมไทยท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่มีคนหลายๆกลุ่มมากมายลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ ซึ่ง “ปันอิ่ม” เป็นอีกหนึ่งในพลังบวกที่ร่วมขับเคลื่อน

ทีมปันอิ่มได้กลับมาเล่าเรื่องราวอีกครั้งกับไทยพับลิก้าเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 จากที่ได้เคยพูดคุยกันก่อนหน้านี้

  • ถอดพลังบวก โครงการ “ปันอิ่ม” พลังแบ่งปัน…พลังการให้ที่ไม่มีสิ้นสุด
  • ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

    ปันอิ่มโมเดล: ซื้ออิ่มให้ชุมชนที่กักตัว

    “โควิดระลอก 3 ร้านค้าเริ่มทักมาทางอินบ็อกซ์ว่าไม่ไหวแล้ว มีอะไรช่วยเขาไหม ขณะเดียวกันคนใจดีที่เคยบริจาคก็ติดต่อมาว่าสถานการณ์มันเริ่มแย่ลงแล้วนะ เราเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีคนอยากช่วย งั้นเราลองเชื่อมโยงความช่วยเหลือดีกว่า ก็เลยเริ่มกลับมาติดต่อร้านค้าเดิมๆ ที่เคยช่วยเหลือไว้ ปรากฏว่าบางร้านเราช่วยเหลือเขาไม่ทันแล้ว บางร้านปิดตัวไป เขาบอกว่าสู้ไม่ไหว บางร้านค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เรารู้สึกว่าสูญเสียโอกาสช่วยคนที่เราเคยช่วยเหลือไว้” ดร.ปาริชาต มั่นสกุล หรือ ดร.ปลา ผู้อำนวยการ สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคาราบาวตะวันแดง จำกัด หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนปันอิ่ม เล่าจุดเริ่มต้นที่กลับมาทำปันอิ่มอีกครั้ง

    สถานการณ์โควิด-19 เริ่มแย่ลงตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 (ระบาดระลอก 3) แถมยังรุนแรงขึ้นทุกวันจนจำนวนผู้ติดเชื้อทำนิวไฮเกือบทุกวัน ตัวเลขค่อยๆ เพิ่มจากหลักพันสู่หลักหมื่น และเดือนสิงหาคมก็แตะ 20,000 ราย(ณ วัน 4 สิงหาคม 2564 ที่เผยแพร่บทความ)

    โครงการปันอิ่มจึงต้องเพิ่มโมเดล จากเดิมที่มีเฉพาะ “ซื้ออิ่ม” (ด้วยแนวคิดช่วยร้านหน้าบ้านให้อยู่รอด โดยจ่ายเงินให้ร้านอาหาร แล้วติดป้ายหรือสติกเกอร์หน้าร้านว่ามีกี่จานที่สามารถแจกจ่ายได้) มาเป็นซื้ออิ่มเพื่อนำไปแจกจ่ายตามบ้านเรือนหรือชุมชนที่ต้องกักตัวเอง

    เดิมปันอิ่มต้องการระดมทุนเพื่อช่วย “ร้านหน้าบ้าน” จึงออกมาเป็นโมเดล “อิ่มที่ร้าน” แต่ช่วงหลังมีการระบาดมากขึ้นจึงปรับจาก “อิ่มที่ร้าน” มาเป็น “อิ่มที่ชุมชน” ให้ร้านอาหารช่วยส่งอาหารให้กับชุมชนด้วย เพื่อช่วยไม่ให้การระบาดแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง และยังเป็นการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

    “สถานการณ์เปลี่ยนไปจากคราวที่แล้ว บางร้านไม่อยากให้คนมาเข้าแถวเยอะๆ เราเลยปรับเปลี่ยนโมเดลจากที่ให้มารับอิ่มที่ร้าน เป็นรวบรวมอิ่มไปตามชุมชนหรือตามแคมป์คนงาน หรือคนกักตัว เพราะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนกักตัวอยู่ได้คือมีข้าวกิน ถ้าเขาไม่มีข้าวกินเขาก็ต้องถูกบีบคั้นให้ออกมาทำงาน เอาความเสี่ยงออกมา ครั้งนี้เลยรวบรวมอาหารไปยังชุมชนที่ต้องการ”

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

    แก้พิษเศรษฐกิจ ด้วยวิธีคิดเศรษฐศาสตร์

    “ทุกวันนี้ผมเห็นใจคุณหมอมาก เราไปช่วยรักษาคนไม่ได้ แต่เราป็นนักเศรษฐศาสตร์ เราอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้คนตายจากพิษเศรษฐกิจได้ เราเลยทำตรงนี้” ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ หรือ ดร.เม่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกความในใจในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และเล่าต่อว่า

    “ผมเคยได้ยินคนพูดกันว่า ‘ทุกวันนี้ต้องเลือกเอาว่าจะตายด้วยโควิดหรืออดตาย’ ผมฟังแล้วถ้า…ตายด้วยโควิดผมช่วยไม่ได้ แต่ตายด้วยพิษเศรษฐกิจผมอาจจะช่วยได้(บ้าง)”

    หนึ่งในทีมงานปันอิ่มอย่าง ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หรือ ดร.โบว์ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การช่วยเหลือของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ แทบจะไปไม่ถึงกลุ่มคนรากหญ้าของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มที่ขาดกลไกการช่วยเหลือมากที่สุด ดังนั้นปันอิ่มจึงต้องช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

    ทั้งนี้ มีร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการปันอิ่มไม่น้อยกว่า 40 ร้าน โดยทีมงานตั้งใจเลือกร้านค้าขนาดเล็ก หรือร้านตามชุนชน เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพในการปรับตัวมากนัก

    ความเหลื่อมล้ำของคนรากหญ้า

    “เวลาอ่านรายงานเศรษฐกิจ ดูข่าว มีตัวเลขจีดีพี คนตกงาน กับวันที่เราไปเจอเขาจริงๆ ได้ลงไปคุยกับร้านค้า เห็นคนลำบาก รู้สึกว่ามันคือเรื่องจริง รู้ว่าเขาลำบากจริงๆ เราสัมผัสถึงใจเขา เหมือนกับคนที่หิว คนที่ลำบาก ร้านค้าที่จะไปไม่รอด เขาไม่ใช่แค่ตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพีที่ลดลง เขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ พรุ่งนี้เขาจะหาเงินจากไหน หรือเขาคิดว่าครอบครัวจะกินอะไร พอเราได้สัมผัสก็รู้สึกมันไม่ได้แล้ว ต้องช่วยเขา” ดร.ปลากล่าว

    “บอกว่าเปลี่ยนไปทำเดลิเวอรีเหรอ มือถือเขามีหรือเปล่า เข้าสู่แพลตฟอร์มได้ไหม ดูแล้วไม่ได้ง่ายเหมือนร้านใหญ่ๆ” ดร.โบว์กล่าวเสริม

    ทีมงานปันอิ่มยังเล่าไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ตกสำรวจจากภาครัฐ

    • ร้านค้าสนใจเข้าร่วมปันอิ่ม ขายอาหารในชุมชนไม่ได้ เพราะไม่มีใครมาซื้อ เมื่อทีมงาขอไลน์กับบัญชีธนาคารเพื่อจะติดต่อและโอนเงิน ทางร้านบอกว่าไม่มีไลน์และบัญชี ทุกอย่างใช้เงินสด
    • ร้านถัดมาอยู่ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ โดยครั้งแรกทีมงานปันอิ่มนำเงินสดไปให้เป็นทุนเริ่มต้น ต่อมาขอบัญชีธนาคารก็ได้รับตามปกติ แต่พอจะโอนเงินครั้งถัดมา ป้าซึ่งเป็นเจ้าของร้านก็อึกอักเรื่องบัญชี จนกระทั่งพบว่าบัญชีของป้าเป็นสมุดบัญชีเงินฝากออมสิน และไม่มีบัตรเอทีเอ็ม การถอนเงินต้องไปธนาคาร
    • ร้านบะหมี่เกี๊ยวรถเข็นที่ไม่มีไลน์ ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน แต่ไม่ได้เติมต่อเนื่อง ทีมงานจึงต้องเดินทางไปให้เงินเป็นครั้งๆ
    • ในเพจปันอิ่มยังได้รับข้อความว่ามีคนหนึ่งอยู่ในสถานที่รกร้างที่ผิดกฎหมาย และไม่อยากให้ทีมงานช่วยเหลือ เพราะมีการลักขโมย ทีมงานปันอิ่มมองว่าถ้าคนคนนี้กินอิ่มนอนหลับ เขาจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร สุดท้ายทีมงานจึงฝากร้านอาหารบริเวณใกล้เคียงช่วยส่งข้าวสารอาหารแห้งให้

    “เราลืมคิดถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งไปว่าเขาเป็นอย่างนี้ โตแบบนี้ ทำธุรกิจโดยไม่มีบัญชีธนาคาร ใช้เงินสดตลอด หรืออาจจะมีบัญชีของลูก ทำให้เราอยากช่วยคนกลุ่มนี้ ถ้าหากเราเป็นโครงการที่เป็นทางการ เอกสารต้องมีการตรวจสอบได้ เราจะไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ไม่ได้เลย เราอาจจะต้องหาวิธีการใหม่” ดร.โบว์กล่าว

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

    ชุมชนเข้มแข็งคือกลไกขับเคลื่อน Social Safety Net

    ทีมงานปันอิ่มสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เช่น คนเร่ร่อน คนไม่มีกิน คนไร้บ้าน คนอดอยาก ร้านค้าที่ขายของไม่ได้ ฯลฯ ว่า

    ประเทศไทยล้มเหลวเรื่อง social safety net (โครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม) ถึงแม้จะมี แต่ก็ไม่ครอบคลุมกับคนตัวเล็กๆ ที่มักจะถูกมองข้ามเพราะรัฐไม่มีฐานข้อมูล ผิดกับประเทศในแถบยุโรปที่มีสวัสดิการครอบคลุมประชากรทุกคน

    ดร.เม่นกล่าวว่า “ถามว่าภาครัฐทำคนเดียวพอไหม ผมว่าไม่พอ ตอนนี้เดินไปถาม 10 คนว่าลำบากไหม 9 ใน 10 บอกว่าลำบากหมด การช่วยเหลือมันเป็นงานสาธารณะ ภาครัฐต้องสร้างกลไกที่ทำให้คนช่วยเหลือกันได้ด้วย เพื่อให้เกิดการช่วย หรือเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถมาช่วย เหมือนภาคเอกชนก็อยากเข้ามาช่วย (ระดับนโยบาย) แต่ก็ได้แค่ข้อเสนอ”

    “หลายคนบอกประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ถ้ามองให้ดีเหลื่อมล้ำแปลว่ามันมี ‘คนมี’ และ ‘คนไม่มี’ หน้าที่เราคือเป็นสะพานเชื่อมคนที่มีกับคนไม่มี ดีกว่าไม่มีทั้งประเทศ”

    อย่างไรก็ตาม ดร.โบว์มองว่า สุดท้ายแล้วการที่ชุมชนช่วยเหลือกันเองยังมีความสำคัญในสังคมไทย เพราะโครงการภาครัฐไปไม่ถึงกลุ่มคนรากหญ้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร อีกทั้งไม่มีข้อมูลว่าชีวิตคนกลุ่มนี้ต้องการเติมเต็มส่วนไหน จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสร้าง ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ เพื่อให้เข้าใจกันและดูแลกันเอง

    ยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายอาจเป็นอุปสรรคในการลงพื้นที่ทำงานสำหรับคนภายนอก ทีมงานจึงปรับการทำงานเน้นการมอนิเตอร์ โดยมีปันอิ่มเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมระหว่างคนบริจาคกับร้านอาหาร จากนั้นให้คนใน ‘ชุมชน’ ที่เป็นอาสาสมัครช่วยรับอาหารไปแจกจ่ายต่อในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง

    ดร.ปลาเล่าภาพที่เห็นทางวิดีโอว่า มีอาสาสมัครหญิงคนหนึ่งถือถุงที่มีข้าว 60 กล่องเดินแจกตามชุนชน เดินเข้าไปแจกตามซอยบ้าน ยิ่งกว่านั้นพอเห็นว่าบ้านหลังหนึ่งที่ไม่ได้มีฐานะ มีคุณตาอยู่กับคุณยายติดเตียงเพียง 2 คน อาสาสมัครชายเลยค้นกระเป๋าเงินบริจาคให้ แต่ปรากฏว่ามีเงินแค่ 20 บาท จึงยอมให้เงิน 20 บาทกับคุณตาคุณยาย

    ดร.โบว์เล่าว่า จิตอาสาที่ร่วมกับปันอิ่มมีทั้งการให้แบบเดินไปแจกของให้ผู้เดือดร้อนโดยตรง ด้วยการแขวนไว้หน้าบ้าน รวมถึงเดินแจกตามพื้นที่กักตัวจุดต่างๆ ซึ่งจิตอาสาภายในพื้นที่จะเข้าใจพื้นที่ชุมชนดีกว่าทีมงาน 

    “เราทำได้แค่ติดต่อร้านอาหาร แล้วให้ผู้นำชุมชนช่วยกระจายความช่วยเหลือ ส่งไปถึงมือคนที่ต้องการ ทำหน้าที่ชุมชนดูแลกันเอง ส่งรูปให้ดูตลอดว่าบ้านนี้กักตัวก็ไปแขวนไว้หน้าบ้าน ตรงนี้มีคนลำบากตกงาน ก็วางอาหารไว้” ดร.โบว์กล่าว

    เหตุการณ์ถัดมาคือ ร้านอาหารเล่าว่ามีอินบ็อกซ์เข้ามาที่เพจเฟซบุ๊ก มีใจความว่า “พี่คะหนูทราบว่าร้านพี่แจกอาหาร แต่หนูไปรับอาหารไม่ได้ เพราะหนูเป็นผู้ป่วยโควิด กักตัวอยู่กับน้องสาว มีหลานตัวเล็ก 4 ขวบ ร้านอยู่ใกล้ๆ พี่ พี่เคยมาซื้อผักที่บ้านหนู ถ้าไม่รบกวนขอส่งอาหารมาให้หนูที่บ้านได้ไหมคะ” และจบลงด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลกันจากคนในชุมชน

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

    เปลี่ยนพลังลบเป็น ‘พลังบวก’

    “ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกคนมีพลังลบอยู่ในตัวเยอะมาก พร้อมจะเป็นเครื่องจักรด่าทุกคน ทั้งรัฐบาล สถานการณ์เศรษฐกิจ มีทั้งผู้ประกอบการ คนทำธุรกิจที่หมดหวังกับชีวิต มีคนออฟฟิศที่อยู่กับตัวเอง ไม่ได้ไปไหน เป็นซินโดรมที่อึดอัดว้าวุ่นใจ” ดร.โบว์เล่าถึงภาวะความรู้สึกของสังคมไทย ณ เวลานี้ ที่ปรากฏตามโซเชียลต่างๆ

    พร้อมเล่าต่อว่าอย่างทีมงานปันอิ่มคนหนึ่งที่เพิ่งจบปริญญาตรี ครอบครัวพ่อแม่อยู่ที่อุตรดิตถ์ ตัวเองอยู่คนเดียวในคอนโดที่กรุงเทพฯ เขารู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรบางอย่าง แต่เมื่อเข้ามาทำปันอิ่มก็เปลี่ยนมุมมอง จากที่เคยด่าเคยบ่น ก็รู้สึกว่ามีชีวิตชีวา ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า ยิ่งกว่านั้นพ่อแม่ยังฝากเงินมาสมทบกับโครงการด้วย

    นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารที่ด่ารัฐบาลลงในเพจ แต่พอมาทำปันอิ่มแล้วไม่มีเวลาบ่น ต้องไปแจกข้าว จนสุดท้ายคอนเทนต์บนเพจกลายเป็นรายงานสถานการณ์การแจกแทน เช่น วันนี้มีปันอิ่ม 30 อิ่ม, ใครพร้อมมีเวลามาช่วยแจกอาหารกันได้ ฯลฯ

    แม้แต่ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากทีมปันอิ่มไป ก็มีกำลังใจมากขึ้นพร้อมที่จะส่งพลังบวก บางรายโอนกลับมาสมทบให้ทีมงานแม้เป็นจำนวนเพียง 7 บาทเท่านั้น โดยอินบ็อกซ์มาว่า “หนูมีไม่มาก เหลือในบัญชีแค่นี้ อยากจะช่วยตอบแทนที่พี่เอาข้าวมาให้ทุกวัน ถ้าหนูมีตังเพิ่มหนูจะช่วยอีกนะคะ”

    ดร.โบว์กล่าวถึงผลที่ได้จากโครงการปันอิ่มว่า

    “เหมือนร้านจะเจ๊ง แต่ มีคนมายื่นมือให้เขา และตอนนี้เขากำลังยื่นมือให้คนอื่นต่อ ทำให้มุมมองชีวิตหรือกำลังใจกลับขึ้นมา แค่เปลี่ยน mindset เปลี่ยนวิธีคิด มีความหวังใหม่ เปลี่ยนจากพลังลบเป็นพลังบวก เปลี่ยนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ การหยิบยื่นทำให้คนเห็นคุณค่าของตัวเอง และเห็นคุณค่าของการให้”

    ดร.เม่นมองแบบเดียวกับ ดร.โบว์ว่า นอกจากปันอิ่มจะเป็นสะพานเชื่อมให้คนอิ่มท้องแล้ว ยังได้เชื่อมพลังบวกของสังคมไทยให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ที่สำคัญคือพลังบวกที่ส่งออกไปจะกลับมาที่ตัวเราเอง

    “เราทำให้ดูว่าแค่เรา 8 คน เราระดมทุนได้เกือบ 640,000 บาท เราปันอิ่มไปแล้วประมาณ 12,000 อิ่ม ทำมาไม่ถึงเดือน(ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ) ผมแค่จะบอกว่าทุกคนช่วยกัน มันทำได้ ใครเก่งอะไรก็ช่วยได้ ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว ผมว่ามันพอมีทาง แต่เราจะสเกลต่ออย่างไร ไม่ใช่แบบปันอิ่มก็ได้ ผมแค่อยากชักชวนว่าใครที่เห็นว่าโครงการของเราดี ก็ไปคิดเองว่าท่านทำอะไรได้ บางคนถนัดประเด็นการศึกษาก็ไปคิดมา มันก็พอไปได้ ผมยังมีความหวังอยู่” ดร.เม่นกล่าว

  • “เราไม่ได้แค่ออเดอร์ข้าว แต่เราส่งมอบกำลังใจให้กับเขาด้วย ร้านค้าจำนวนมากโทรมาบอกเราทุกวันว่าขอบคุณมาก บางร้านบอกพี่คิดว่าจะไม่สู้แล้ว ไม่ไหว แต่ถ้าได้ออเดอร์จากน้อง พี่ก็พร้อมจะสู้ต่อ หรือเวลาเขาถ่ายวิดีโอหรือถ่ายรูปเวลาเอาข้าวกล่องไปมอบให้ชุมชน เราเห็นแววตาเขา รู้ได้เลยว่าเขาได้รับกำลังใจ เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีคนที่พร้อมช่วยเหลือเขาอยู่”
  • ดร.ปลา เล่าถึงพลังบวกที่ตัวเองได้รับ

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปันอิ่มได้เริ่มขยายการให้ความช่วยเหลือจากอาหารไปสู่การแจกจ่ายยาในชุมชน โดยมีอาสาเอายาที่จำเป็น ไปฝากร้านปันอิ่มไว้ไปมอบให้ผู้ป่วย และยังได้เข้าไปอยู่ใน Cheewid ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดมความช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

    ทั้งหมดเป็นเรื่องราวจาก ‘ปันอิ่ม’ ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่จะช่วยร้านหน้าบ้าน มาสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ได้เห็นคนไม่รู้จักกันหยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างให้กันและกัน เปลี่ยนพลังลบเป็นพลังบวก ในวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดยังได้เห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทย

    ร่วมปันอิ่มและติดตามได้ที่เพจ FB Pannimm