ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน (Sir Richard Branson) อภิมหาเศรษฐีและผู้ก่อตั้งธุรกิจในเครือ Virgin Group ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นปฐมบทของธุรกิจการบินสู่อวกาศ โดยขึ้นยาน Virgin Galactic Unity พร้อมกับลูกเรืออีก 3 คนและนักบินอีก 2 คน ไปสัมผัสกับขอบอวกาศที่อยู่สูงจากโลกนี้ขึ้นไป 86.1 กิโลเมตร เขาได้อยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักและมองออกทางหน้าต่างเห็นความโค้งของผิวโลกที่งดงามอยู่เบื้องล่างเป็นระยะเวลาเพียง 4 นาที แต่ก็เป็นระยะเวลาที่มีคุณค่า และมีการถ่ายทอดสดจากห้องผู้โดยสารโดยที่อภิมหาเศรษฐีผู้นี้เป็นผู้บรรยายถึงความงดงามและประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของเขาให้ชาวโลกฟัง และในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ยานอวกาศนี้จึงได้ร่อนลงบนสนามบินในทะเลทรายรัฐนิวแม็กซิโก
กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่นาย เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) อีกหนึ่งอภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon และบริษัท Blue Origin ได้ประกาศว่าเขาจะเดินทางขึ้นยานอวกาศไปสัมผัสขอบอวกาศที่สูงขึ้นไปจากผิวโลกกว่า 100 กิโลเมตร โดยจะมีผู้โดยสารร่วมไปด้วยอีก 3 คน หนึ่งในนั้นคือน้องชายของเขา นายมาร์ก เบโซส (Mark Bezos) สุภาพสตรีสูงอายุถึง 82 ปีอีกท่านหนึ่งคือนางวอลลี ฟังก์ (Wally Funk) ซึ่งเป็นมนุษย์ที่อายุมากที่สุดที่ได้ขึ้นไปสัมผัสกับอวกาศ โดยที่เธอมีประวัติอันน่าสนใจ คือเป็นครูสอนการบินแก่คนเป็นจำนวนมาก แต่ถูกกีดกันมิให้เป็นมนุษย์อวกาศเพราะว่าเธอเป็นหญิง ทว่ามีความฝันอยากจะขึ้นไปในอวกาศสักครั้งหนึ่งในชีวิต และนายโอลเวอร์ แดเมียน (Oliver Daemen) ลูกชายมหาเศรษฐีชาวเนเธอแลนด์ ซึ่งมีอายุเพียง 18 ปีอีกคนหนึ่งซึ่งประมูลได้ตั๋วที่นั่งในยานลำนี้ด้วยเงินถึง 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับได้ว่าเป็นมนุษย์ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ขึ้นไปสัมผัสกับอวกาศและสภาพไร้น้ำหนัก
แคปซูลของยานอวกาศนั้นถูกออกแบบมาพิเศษให้มีหน้าต่างที่กว้างที่สุด เพื่อให้ผู้โดยสารได้เห็นภาพภายนอกที่กว้างไกลมากที่สุด และมีที่นั่งแคปซูลนี้ถึง 6 ที่นั่ง ซึ่งมีทั้งระบบปรับอากาศ และการรักษาความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม แม้เมื่อลงสัมผัสกับพื้นผิวโลกก็จะยิงแรงขับเพื่อชะลอความเร็วก่อนที่แคปซูลจะกระแทกกับพื้นดิน แม้มีร่มชูชีพแล้วก็ตาม
ส่วนที่เป็นจรวดขับเคลื่อนสำคัญคือยาน New Shepard ซึ่งตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับนักบินอวกาศคนแรกของอเมริกานายแอลัน บาร์ตเลต เชปพาร์ด จูเนียร์ (Alan Bartlett Shepard Jr.) ที่ได้เดินทางขึ้นไปสัมผัสกับอวกาศในปี ค.ศ. 1961 ในโครงการเมอร์คิวรี ซึ่งต่อมาเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ในโครงการอพอลโลสิบสี่ ปี ค.ศ. 1971 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยาน New Shepard นั้น เมื่อผลักดันแคลซูลขึ้นไปถึงความสูง 100 กิโลเมตรแล้วก็จะผลักตัวออก ปล่อยให้แคปซูลเคลื่อนเข้าสู่วงโคจรระยะสั้นๆ
ในขณะที่ตัวยาน New Shepard เองจะถอยกลับลงมาจอดลงที่ฐานยิงเดิม โดยการร่อนลงในแนวดิ่ง และสามารถนำไปใช้ซ้ำได้อีก ยาน New Shepard เองได้เคยมีการทดลองซ้ำถึง 15 ครั้งมาก่อนล่วงหน้า ซึ่งทุกครั้งประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาตลอด
การยิงจรวด Blue Origin ในครั้งนี้ถือฤกษ์เช้าตรู่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเมื่อ 52 ปีมาแล้ว นักบินอวกาศโครงการ Apollo 11 ของสหรัฐฯ ไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว และเป็นครั้งแรกที่ Blue Origin จะมีผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ขึ้นไปสู่อวกาศ
ความฝันของนายเจฟฟ์ เบโซส ไม่ใช่เพียงจัดการท่องเที่ยวอวกาศระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่เขามีโครงการที่จะไปสร้างนิคมบนดวงจันทร์ โดยเขาได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Blue Moon ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ซึ่งมีแผนการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในปี ค.ศ. 2024 นั่นคืออีกเพียง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากที่ทราบว่าดวงจันทร์มีแหล่งน้ำในลักษณะน้ำแข็งจำนวนมหาศาลบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ นิคมนี้จะสูบจะนำเอาน้ำแข็งบนดวงจันทร์มาละลายแล้วแยกเป็นก๊าซออซิเจนและไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งก๊าซทั้งสองนั้นจะเป็นแหล่งพลังงานอย่างสำคัญของนิคมบนดวงจันทร์นี้ และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการส่งจรวดกลับมาสู่โลกและไปยังอวกาศส่วนอื่นได้อีกด้วย
นายเจฟฟ์ เบโซส ยังฝันไปไกลยิ่งกว่านั้นเสียอีก คือ เขามีแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศขนาดมหึมา ซึ่งจะเป็นเมืองลอยฟ้า มีทั้งตึกรามบ้านช่อง ระบบขนส่งทางราง สวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์นับสิบล้านคนในศตวรรษหน้าอีกด้วย มองออกจากสถานีอวกาศนี้ไปเบื้องบนก็จะเห็นโลกสีฟ้าขนาดใหญ่โคจรอยู่ เป็นความฝันที่เขาได้รับจากการอ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์ในวัยเด็ก นายเจฟฟ์ เบโซส ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การ NASA เพื่อให้ได้ปรับปรุงยานอวกาศรุ่นใหม่ๆ ออกมา เพราะ NASA ประจักษ์เป็นอย่างดีว่างบประมาณที่ใช้ของบริษัทเอกชนทั้งหลายนั้นถูกและประหยัดกว่าเท่าตัว นายเจฟฟ์ เบโซส มีแผนการที่จะส่งจรวดให้นักท่องเที่ยวไปท่องอวกาศในลักษณะเดียวกันนี้อีกสองครั้งในปีนี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายและตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวอวกาศก็จะถูกลงไปทุกครั้ง
ส่วนนายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) อภิมหาเศรษฐีอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีทรัพย์สินอันดับต้นๆ ของโลกอีกคนหนึ่งได้ลงทุนในโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ เป็นต้นว่าการสร้างรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla สร้างระบบการขนส่งทางท่อที่สูบอากาศให้เหลือน้อย โดยใช้ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นตัวช่วยที่เรียกว่า hyperloop ซึ่งจะเป็นยานพาหนะที่จะขับเคลื่อนเร็วที่สุดในโลกที่เรียกกันว่า vactrain ซึ่งสามรถทำความเร็วยิ่งกว่าเครื่องบินไอพ่นเสียอีก ส่วนทางอวกาศนั้น นายอีลอน มัสก์ ประกาศที่จะไปสร้างนิคมบนดาวอังคาร โดยเขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Space X ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการส่งมนุษย์อวกาศของสหรัฐอเมริกาขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี ค.ศ. 2019 โครงการสร้างยานอวกาศของเขาเคยล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ที่จรวดเกิดระเบิดขึ้นเมื่อกำลังจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า หรือระเบิดขึ้นเมื่อถูกปล่อยออกจากฐานยิงไปแล้ว แต่นายอีลอน มัสก์ ไม่เคยย่อท้อ และเรียนรู้จากความล้มเหลวทุกครั้งของเขา
เป็นที่รู้กันดีว่า นายอีลอน มัสก์ นั้นเป็นนักคิดที่ชอบคิดนอกกรอบ และเป็นผู้บุกเบิกในอีกหลายวงการ เป็นต้นว่า การสร้างบริษัท Neuralink ซึ่งเป็นการประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบสมองของมนุษย์ เป็นต้น
การเป็นคนที่กล้าคิดกล้าคิดนอกกรอบอย่างที่ไม่เกรงกลัวใคร ทำให้นายอีลอน มัสก์ ถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า ในคดีที่เขามาช่วย “สิบสามหมูป่า” ที่ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนในจังหวัดเชียงรายในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2560 ว่าเขาได้ให้คำแนะนำอย่างผิดๆ แก่นักดำน้ำชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2561 คณะลูกขุนในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ตัดสินเข้าข้างยกฟ้องแก่เขา และยังอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับการให้ความรู้ที่ผิดกับสาธารณะชนโดยเฉพาะเรื่องการทวีตข้อความเกี่ยวกับการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19
สิ่งที่เหมือนกันระหว่างโครงการอวกาศของยาน Virgin Galactic ของเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน New Shepard ของนายเจฟฟ์ เบโซส และ SpaceX ของนายอีลอน มัสก์ คือเป็นยานอวกาศที่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ และมีการขึ้นลงในแนวดิ่ง ทำให้ประหยัดทรัพยากรเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้นแล้ว มหาเศรษฐีทั้งสามคนนี้ยังเป็นนักประชาสัมพันธ์มือฉมัง ทุกอย่างที่จะมีการดำเนินการมีการแถลงข่าวอย่างชัดเจน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน
ณ ขณะนี้โครงการ SpaceX ของอีลอน มัสก์ นั้นถือว่าก้าวหน้ายิ่งกว่าของ Blue Origin ของนายเจฟฟ์ เบโซส หรือ Virgin Galactic ของเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน อยู่หลายขุม โดยที่ SpaceX นั้นแต่เดิมใช้จรวดขับเคลื่อนชื่อ Falcon 9 แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาจรวดขับเคลื่อนชื่อ Starship ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและมีพลังมากกว่า และได้รับการพัฒนาไปถึงระดับที่สองแล้ว
ในขณะที่ Blue Origin มีแผนที่จะสร้างจรวดขับเคลื่อนชื่อ New Glenn (เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบินอวกาศอเมริกันที่โคจรรอบโลกสำเร็จเป็นคนแรก) ซึ่งควรจะสำเร็จในปี พ.ศ. 2563 โดยที่ New Glenn นั้นจะลำใหญ่กว่าทรงพลังมากกว่าจนสามารถขับเคลื่อนแคปซูลอวกาศเข้าสู่วงโคจรระดับสูงได้ แต่กระนั้นยังไม่สำเร็จ และเชื่อว่าจะล่าช้าไปอีกถึงสองปี
ในขณะที่ Falcon 9 ของนายอีลอน มัสก์ ได้พัฒนาจนสามารถนำนักบินอวกาศอเมริกัน 4 คนขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้แล้ว SpaceX ยังเป็นเจ้าเครือข่ายดาวเทียมอวกาศในเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกซื่อ Starlink ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และลูกค้าทั่วโลกอีกด้วย
แม้ว่านายเจฟฟ์ เบโซส จะชนะประมูลกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการส่งดาวเทียม โดยเป็นการร่วมกิจการกับบริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัท ได้แก่ Boeing และ Lock Heath Martin ก็ตาม แต่ปรากฏว่าโครงการของเขาล่าช้ากว่ากำหนดมาก
การแข่งขันทางอวกาศของอภิมหาเศรษฐีนี้ ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเกมอย่างหนึ่งของคนรวย ไม่เกี่ยวกับชาวโลกเท่าใดนัก เพราะมีแต่เฉพาะคนที่รวยมากๆ จนไม่รู้ว่าจะเอาเงินของตนเองไปทำอะไรเท่านั้นจะเป็นลูกค้าของทั้ง 3 บริษัทนี้ แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ การแข่งขันทางอวกาศของบริษัทเอกชนในยุคนี้แตกต่างกับการแข่งขันทางอวกาศของอภิมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ขณะที่การแข่งขันในยุคนั้นเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ปรากฏในหมู่ชาวโลก ว่าค่ายประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์จะส่งมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์ได้ก่อนกัน
แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ไม่ใช่แข่งกันในเชิงอุดมการทางการเมือง ทว่าเป็นเรื่องธุรกิจและความมั่นคงของชาติ
สหรัฐอเมริกาแม้จะเป็นที่ตั้งของบริษัทที่แข่งขันกันทางอวกาศทั้งสาม แต่ในโลกนี้มิใช่มีแต่อเมริกาเพียงประเทศเดียว ออสเตรเลียได้เกิดบริษัทสตาร์ตอัปหลายบริษัทที่มุ่งมาแข่งขันทางอุตสาหกรรมอวกาศเช่นเดียวกัน และมีความทะเยอทะยานไม่แพ้ทั้งสามบริษัทในอเมริกาเลย โดยมีรัฐบาลของออสเตรเลียให้การสนับสนุนด้วยเห็นว่าอุตสาหกรรมใหม่นี้จะเป็นสิ่งที่สร้างรายได้แก่ประชาชนในระยะยาว
ดาวเทียมยุคใหม่สามารถระบุพิกัดบนพื้นผิวโลกได้ละเอียดระดับเป็นเซนติเมตรแล้ว ยังช่วยในการสำรวจแร่ธาตุต่างในแผ่นดินและยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย
เหตุผลประการหลังนี้สำคัญอย่างมาก และเป็นสิ่งที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศมักจะมองข้าม เพราะนึกไม่ออกว่าดาวเทียมที่โคจรอยู่ในอวกาศเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของชาติได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีดาวเทียมเหล่านี้อยู่ในวงโคจรในระดับต่างๆ รอบโลกหลายหมื่นดวง หากดวงหนึ่งดวงใดชำรุดไป ก็ย่อมมีดาวเทียมดวงอื่นทำหน้าที่แทนได้โดยไม่ยาก
อันที่จริงแล้วในปัจจุบันได้มีการจารกรรมดาวเทียมในวงโคจรของโลกอยู่ตลอดเวลา การจารกรรมนั้นอาจเกิดขึ้นจากแฮกเกอร์ลอบเข้าไปในซอฟต์แวร์ของดาวเทียม ทำให้มันหยุดทำงาน ซึ่งอาจมีการเรียกค่าไถ่ หรือเกิดจากกระบวนการก่อการร้ายทั้งในประเทศหรือนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งทำลายดาวเทียมเป็นดวงๆ ทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะดาวเทียมมิได้มีเฉพาะการสื่อสารอย่างเดียว หลายดวงเกี่ยวกับการสำรวจ ทรัพยากรธรรมชาติ หลายดวงเกี่ยวกับระบบป้องกันประเทศ
ยิ่งนับวันที่เทคโนโลยีทางอวกาศราคาถูกลงเท่าใด ภัยการก่อการร้ายย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นเงาตามตัว
ส่วนประเทศไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศไปทางไหน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศนโยบายที่จะส่งดาวเทียมน้ำหนัก 50-100 กิโลกรรม โดยจะเป็นดาวเทียมที่โคจรรอบโลกก่อนที่จะเร่งความเร็วไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งการเดินทางในอวกาศนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี และโครงการนี้จะสำเร็จภายในระยะเวลาอีก 7 ปีข้างหน้า และจะเป็นการปลดประเทศไทยจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 3,000 ล้านบาท
กระนั้น ท่านรัฐมนตรีมิได้กล่าวถึงบทบาทของดาวเทียมที่สัมพันธ์กับความมั่นคงของชาติเลย ทั้งที่เป็นมิติที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของหลายชาติ
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศนั้นจำเป็นต้องมีโครงการนวัตกรรมทางสังคมควบคู่กันไปด้วยเสมอ องค์การ NASA ไม่เคยลืมมิติทางสังคมเลยตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการจัดตั้งองค์การนี้ขึ้นในสหรัฐอเมริกา
นอกจากมีการทำสารคดีถึงภารกิจของโครงการต่างๆ แม้กระทั่งความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งออกมาตีแผ่ให้โลกได้รับรู้ ยิ่งไปกว่านั้น NASA ยังเปิดโครงการให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมร่วมส่งโครงการเข้าประกวด สมทบไปกับแต่ละโครงการของ NASA อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาการชักใยของแมงมุมในสภาวะไร้น้ำหนัก การเติบโตของพืชชนิดต่างๆ ในสถานีอวกาศ การสังเคราะห์แสงของพืชในอวกาศ เป็นต้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การให้นักเรียนทั่วอเมริกาและทั่วโลก ได้สนทนากับเจ้าหน้าที่องค์การ NASA ในการส่งยาน Perseverance ไปสำรวจดาวอังคาร ซึ่งมีกระบวนการที่สลับซับซ้อนอย่างมาก กว่าที่ยานสำรวจนี้จะร่อนลงบนพื้นผิวดาวอังคารได้ ต้องผ่านหลายขั้นตอน จนกระทั่งการปล่อยโดรน ออกไปสำรวจจุดต่างๆ บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ และส่งภาพถ่ายและคลิปต่างๆ ส่งมาให้ดูกันทาง YouTube ประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ทุกขั้นตอนเหล่านี้ NASA มีทีมงานโฆษกที่ประชาสัมพันธ์และตอบคำถามของนักเรียนต่างๆ ตลอดเวลา
การมีส่วนร่วมของเยาวชนนี้มีตัวอย่างให้เห็นได้ชัดในโครงการ Blue Origin ของ เจฟฟ์ เบโซส ตลอดระยะเวลาที่ยานนี้ทดลองยิงขึ้นสู่อวกาศทั้ง 15 ครั้งก่อนที่จะมีผู้โดยสาร เขาได้ประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนส่งภาพวาด โปสการ์ด จากนักเรียนชั้นประถมทั่วสหรัฐอเมริกา โปสการ์ดและภาพวาดเหล่านี้ เขานำไปใส่ในยานอวกาศ และเมื่อกลับมาสู่โลกแล้วจึงส่งทางไปรษณีย์กลับไปยังนักเรียนแต่ละคน เป็นกุศโลบายอย่างดีในการได้รับการสนับสนุนจากเยาวชน นั่นหมายถึงอนาคตของบริษัทของเขา รวมทั้งการสร้างนิคมในอวกาศขนาดมหึมาของนายเจฟฟ์ เบโซส อีกด้วย
การมีส่วนร่วมของเยาวชนเช่นนี้มิได้อยู่ในแผนของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แน่นอน ด้วยงบประมาณเพียง 3,000 ล้านบาท โครงการนี้ย่อมมุ่งเพียงการส่งดาวเทียมดวงหนึ่งที่ค่อยๆ โคจรจากโลกสู่ดวงจันทร์ แต่มิติทางสังคม การสร้างฝันของเยาวชนของไทย การสร้างอุตสาหกรรมอวกาศ หรือความปลอดภัยของประเทศจากการก่อการร้ายในอวกาศนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นมิติที่ไม่มีในโครงการของกระทรวง อว. อย่างน่าเสียดาย!!