ThaiPublica > เกาะกระแส > EEC ทุ่ม 400 ล้าน โมเดล “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G” สู่ Smart City

EEC ทุ่ม 400 ล้าน โมเดล “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G” สู่ Smart City

29 มีนาคม 2021


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. พร้อมกับ ดร.ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 2 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด, นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง แถลงข่าว “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย” ณ โรงแรมภูริมาศ จ.ระยอง

เปิดตัว “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G” สกพอ.ทุ่ม 400 ล้าน เร่งตั้งเสาอัจฉริยะ 160 ต้น เชื่อม “big data” ชุมชน-หน่วยงานรัฐ ประมวลผลข้อมูลเรียลไทม์ ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิต-ความปลอดภัย–บริการสาธารณสุข เดินหน้าเข้าสู่ smart city แห่งแรกของเมืองไทย

เปิดตัวกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการบ้านฉางเมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย โดยผ่านความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “EEC”, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ “NT” และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ในเขตพื้นที่ EEC ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

หลังจากที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเร่งวางโครงข่าย 5G รองรับคลื่นสัญญาณ high band ความถี่ 26 GHZ ตามที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. ไปแล้วกว่า 80% โดยดำเนินการติดตั้งท่อ เสา สายส่งสัญญาณไฟเบอร์ออปติก ตั้งแต่บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ, สนามบินอู่ตะเภา, อำเภอบ้านฉาง ไปจนถึงมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จากนั้นก็เริ่มนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตำบลบ้านฉางให้กลายเป็น “ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ” ในอนาคต

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า โครงการนี้เราต้องการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งในด้านความปลอดภัย, สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ หลังจากที่ NT ได้วางโครงข่ายระบบ 5G ในพื้นที่ EEC ไปแล้วกว่า 80% จากนั้นก็เริ่มนำ “เสาอัจฉริยะ 5G” (5G Smart Pole) จำนวน 5 ต้น มาทดลองติดตั้งที่ตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อสัญญาณและรับส่งข้อมูลบริการต่างๆ ระหว่างชุมชน กับหน่วยงานของรัฐ เช่น เทศบาลตำบลบ้านฉาง, สถานีตำรวจภูธรบ้านฉาง และโรงพยาบาลบ้านฉาง

“ข้อดีของระบบ 5G คือ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือต่างๆ หรือที่เรียกว่า “internet of things: IoT” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ สามารถรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งภาพ เสียงและข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แรงและเสถียรกว่าระบบ 4G ถึง 100 เท่า เนื่องจากท่อส่งสัญญาณใหญ่กว่าหลายเท่า จึงไม่มีปัญหาเรื่องความหน่วงในการจัดส่งข้อมูล และสามารถประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราทำควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างประชากร ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการ”ดร.คณิศกล่าว

ดร.คณิศกล่าวต่อว่า หลายคนอาจไม่เข้าใจประโยชน์ของ 5G ถามว่าตอนนี้โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ 5G มีราคาแพงมาก ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรจาก 5G ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า ถ้าใช้มือถือเพื่อดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ยังสามารถใช้ 4G ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าใช้ในเรื่องของการให้บริการสาธารณะ เชื่อมต่อหรือประมวลผลข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ หรือใช้ในภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์, automation, การแพทย์, ท่องเที่ยว, การบิน, โลจิสติกส์ และเมืองอัจฉริยะ กรณีนี้คงต้องใช้ 5G เท่านั้นที่จะสามารถตอบโจทก์วัตถุประสงค์การใช้งานดังกล่าวได้

สำหรับเสาอัจฉริยะที่นำมาติดตั้งในอำเภอบ้านฉาง ในเบื้องต้นนำมาทดลองใช้งานก่อน 5 ต้น จากเป้าหมายทั้งหมด 160 ต้น ซึ่ง NT กำลังเร่งดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยเสาอัจฉริยะแต่ละต้นสามารถใช้งานได้มากกว่า 10 ฟังก์ชัน

เริ่มจากด้านบนสุดของหัวเสาอัจฉริยะจะติดตั้งระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม ผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเสา

ถัดมาจะเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณจากโครงข่าย 5G และอุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ฟรีไวไฟ ซึ่งทาง NT เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นๆ มาติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณบนเสาอัจฉริยะร่วมกันได้ โดยการเช่า เพื่อใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการลงทุนซ้ำซ้อน

เสาอัจฉริยะแต่ละต้นจะติดตั้งกล้องวรจรปิด 3-4 ตัว ออนไลน์ข้อมูลภาพ 4 ทิศทาง ผ่านระบบ 5G เข้ามาที่ศูนย์ข้อมูล Intelligence Operation Center ตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง และสถานีตำรวจภูธรบ้านฉาง โดยเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ข้อมูล หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถซูมหรือดูภาพขยายได้อย่างชัดเจนแบบเรียลไทม์ รวดเร็วกว่าระบบ 4G ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลภาพทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสถิติปริมาณรถยนต์เข้า-ออกในอำเภอบ้านฉาง จะถูกออนไลน์ไปที่ศูนย์ข้อมูล และนำขึ้นไปเก็บบนคลาวด์เพื่อต่อยอดทำเป็น common data lake เพื่อใช้ในการบริหารจัดการปัญหาจราจร ป้องกันปัญหาอาชญากรรม วิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอาชญากรหรือคนหาย อุบัติเหตุ และอุบัติภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชั้นถัดมาจะติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ตรวจวัดระดับสารพิษในอากาศ และค่าฝุ่น PM2.5 ออนไลน์ข้อมูลไปที่ศูนย์ข้อมูลเทศบาลตำบลบ้านฉางตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัล เครื่องขยายเสียง แจ้งประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ และชั้นสุดท้ายติดตั้งกล้องวงจรปิดมุมต่ำในรูปแบบของวิดีโอคอล S.O.S รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา รวมทั้งเตรียมติดตั้งเครื่อง EV charger เพื่อรองรับรถไฟฟ้าในอนาคตเป็นโครงการถัดไป

ดร.คณิศกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทาง สกพอ. และ NT ยังประสานงานไปยังโรงพยาบาลบ้านฉางและร้านขายยา เพื่อจัดทำระบบ “สาธารณสุขอัจฉริยะ” เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยการจัดทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษาและวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยไปรับยาได้ที่ร้ายขายยาใกล้บ้าน รวมไปทั้งถึงกรณีผู้ป่วยในที่เข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลบ้านฉาง ทีมแพทย์ที่ทำการรักษาอาจใช้วิดีโอคอลไปสอบถามหรือขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลศิริราชผ่านระบบ 5G ได้ ซึ่งในขณะนี้ทางโรงพยาบาลศิริราชอยู่ระหว่างการพัฒนาและยกระดับขึ้นเป็น “โรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G” แห่งแรกของประเทศไทย

“สำหรับโครงการบ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของเมืองไทย จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จะนำมาใช้สนับสนุนโครงการจะมาจาก 3 แหล่งใหญ่ คือ เทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทุน 30%, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ลงทุน 30% และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีก 40% โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.), ตัวแทนจาก สกพอ. และตัวแทนจากเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขึ้นมากำกับดูแล โดย สกพอ. จะนำเสนอรายละเอียดของโครงการลงทุน และโครงสร้างการกำกับดูแลให้ที่ประชุม สกพอ. อนุมัติในครั้งต่อไป” ดร.คณิศกล่าว