ThaiPublica > คอลัมน์ > จุดไฟท่องเที่ยวด้วย “ฟองอากาศ”

จุดไฟท่องเที่ยวด้วย “ฟองอากาศ”

27 พฤษภาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

ไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 (โรคโควิด) อาละวาดทั่วโลกจนทำให้การเดินทางระหว่างประเทศถูกระงับทันที ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยพังระเนระนาดอย่างไม่คาดฝันเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ธุรกิจที่เกี่ยวพันเช่น กิจการที่พักโรงแรม ธุรกิจบริษัททัวร์ ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร กิจการสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งบันเทิง ฯลฯ ก็เลยพลอยย่ำแย่ไปด้วย

บัดนี้เชื่อได้ว่าการระบาดของโรคโควิดในไทยและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกซึ่งเคยเป็นแหล่งใหญ่ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยก็อยู่ในสภาวะควบคุมโรคได้แล้ว ดังนั้นจึงสมควรดิ้นรนให้การท่องเที่ยวซึ่งทำรายได้ต่อปีถึง 12% ของ GDP สตาร์ทเครื่องเดินหน้าอีกครั้งได้แล้ว

ตราบใดที่ความไว้วางใจในเรื่องโควิดระหว่างประเทศของผู้ที่เดินทางไปกับประเทศเป้าหมายที่เดินทางไปไม่เกิดขึ้น การเดินทางถึงกันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในขั้นพื้นฐานการท่องเที่ยวจึงติดอยู่ตรงความไว้วางใจว่าจะไม่มาติดเชื้อและจะไม่นำเชื้อมาติด

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาใหญ่ของโลกได้สำรวจความรู้สึกของคนจีนที่เพิ่งพ้นจากการล็อกดาวน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ และพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ออกไปท่องเที่ยวจริงจังถึงแม้จะอยากก็ตาม อย่างมากก็เดินทางไปยังเมืองใกล้ ๆ โดยท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติที่ผู้คนไม่แออัดและเป็นกลุ่มเดินทางเล็ก ๆ สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศที่อยู่ใกล้ๆ นั้นจะยังไม่เริ่มจนกว่าจะถึงปลายเดือนกันยายนหรือต้นตุลาคมของปีนี้

การเคลื่อนไหวต้องการนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีอยู่มากแต่ติดอยู่ตรงความไว้วางใจซึ่งขณะนี้โควิดก็ยังไม่ซาลงในสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรปและเอเชีย (เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตุรกี ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย ฯลฯ) แต่ไทยก็ไม่น่าคอยประเทศเหล่านี้ การท่องเที่ยว “ชนิดจำกัด” ควรเริ่มได้ในเวลาไม่เกิน 2 เดือนจากนี้

ไอเดียในเรื่องการสร้างความไว้วางใจระหว่างกันก็คือ Covid Passport กล่าวคือในยามที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การออกเอกสารให้พลเมืองของประเทศตนเองโดยยืนยันว่าเคยเป็นโรคโควิดแล้วก็จะสร้างความไว้วางใจได้ว่าจะไม่นำเชื้อไปติดโดยอยู่บนความเข้าใจว่าหากเคยเป็นแล้วและหายแล้วก็จะไม่แพร่เชื้อและจะมีภูมิต้านทานจนไม่เป็นอีกในระยะเวลา 2-3 ปี

อย่างไรก็ดีเมื่อ WHO ไม่เห็นด้วยเพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างแจ้งชัดว่าหากเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วจะไม่เป็นอีกและมีภูมิต้านทาน 2-3 ปี กลุ่มผู้เคลื่อนไหวในเรื่องนี้จึงเงียบไปถึงแม้จะยืนยันความเชื่อนั้นเพราะญาติที่ใกล้ชิดคือเชื้อ SARS-CoVid-1 ที่ทำให้เกิดโรค SARS ที่ระบาดอยู่ 1 ปีเศษ (2002-2003) และจู่ ๆ ก็หายไปนั้น หากติดเชื้อแล้วก็จะไม่ติดเชื้ออีกเป็นระยะเวลา 2-3 ปี

อีกไอเดียหนึ่งที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคือการสร้าง “Travel Bubbles” หรือ “Tourism Bubbles” ซึ่งหมายถึงการมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่สถานการณ์เรื่องโควิดคล้ายคลึงกันจนให้ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวถึงกันได้ โดยไม่มีการกักตัว 14 วัน เหตุที่เรียกว่า Bubblesหรือ “ฟองอากาศ” ที่มีของเหลวเป็นเปลือกหุ้มแบบทรงกลมก็เพราะว่าเป็นการเดินทางข้ามประเทศระหว่างกันอย่างปลอดจากโควิดเสมือนมีฟองอากาศคุ้มครองอยู่ โดยมิใช่การเดินทางที่เสรีอย่างเมื่อก่อนหน้าโควิด

ที่มาภาพ : https://www.economist.com/finance-and-economics/2020/05/14/could-travel-bubbles-offer-a-route-to-economic-recovery

นิตยสาร The Economist ฉบับ May 16th-22nd 2020 ได้เสนอสอง “Travel Bubbles” ที่น่าจะเป็นไปได้คือพื้นที่ Asia-Pacific กับ Baltic-Adriatic (กลุ่มประเทศยุโรปในแถบทะเล Baltic และ Adriatic) แต่ละ “ฟองอากาศ” ผู้คนสามารถเดินทางถึงกันได้อย่างไว้วางใจเพราะมีสภาวการณ์ของโควิดใกล้เคียงกัน

ไอเดียเรื่อง “Travel Bubbles” นี้เป็นไปในระยะแรกที่ยังไม่มีวัคซีน และยังไม่มียารักษาโควิด-19 โดยตรง ต่อไปเมื่อสามารถควบคุมการระบาดได้มากขึ้น หลาย bubbles ก็จะเชื่อมถึงกันให้ใหญ่ขึ้น และผู้คนก็จะสามารถเดินทางและท่องเที่ยวได้อย่างเสรีขึ้นทุกที

Asia-Pacific และ Baltic-Adriatic Bubbles รวมกัน มี GDP ถึง 35% ของ GDP โลก /39% ของมูลค่าการค้าขายสินค้าและบริการของทั้งโลก/ 42% ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของทั้งโลก ปัจจุบันได้เกิด “ฟองอากาศ” ดังกล่าวขึ้นแล้วซึ่งได้แก่ (1) Estonia, Latvia และ Lithuania ซึ่งเป็น 3 ประเทศในยุโรปที่จัดการกับไวรัสตัวนี้ได้ดีมาก มีข้อตกลงให้พลเมืองทั้ง 3 ประเทศเดินทางท่องเที่ยวถึงกันได้โดยไม่มีการกักตัว (2) trans-Tasman ซึ่งได้แก่ ทัสมาเนีย (เป็นเกาะและเป็นรัฐหนึ่งของออสเตรเลียที่อยู่ใต้สุด) กับนิวซีแลนด์ (3) จีนและเกาหลีใต้ ร่วมกันตกลงให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศเดินทางถึงกันได้เพียงมีการกักตัวเมื่อถึงที่หมายเพียง 1-2 วันและหากตรวจแล้วไม่มีเชื้อก็อยู่ในประเทศได้

ขณะนี้มีหลายประเทศที่กำลังเจรจาตกลงกันอยู่ และคาดว่าจะมี “ฟองอากาศ” จำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะตกลงกันได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมเชื้อโควิดและการยอมรับของผู้คนในแต่ละประเทศ

ในเรื่อง Asia-Pacific Bubbles นั้นข้อเสนอก็คือ “ฟองอากาศ” ครอบคลุมตั้งแต่จีนไล่ลงมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ไทย กัมพูชา ลาว ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (ยกเว้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) โดย GDP รวมกันมีสัดส่วน 27% ของ GDP โลก นอกจากนี้โดยเฉลี่ย 51% ของมูลค่าการค้าขายทั้งหมดอยู่ภายในกลุ่มนี้ด้วยกัน

ในปี 2019 ทั้งโลกมีผู้โดยสารเครื่องบินรวม 4,600 ล้านเที่ยวบิน แต่ในเดือนเมษายน 2020 มีผู้โดยสารเครื่องบินเพียง 47 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งเท่ากับปริมาณการบินทั้งปีของโลกในปี 1978 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจท่องเที่ยวของทั้งโลก การท่องเที่ยวกันขนานใหญ่ทันทีอย่างเดิมนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความหวาดระแวงติดเชื้อโควิดนั้นฝังใจอยู่

ดังนั้นความโปร่งใสในเรื่องข้อมูลและการอนุญาตให้ตรวจสอบซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความไว้วางใจซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของข้อตกลงในการอนุญาตให้เดินทางถึงกันได้

ในช่วงเวลาเกือบถึงปีหรือกว่านั้นก่อนที่วัคซีนจะถึงมือคนไทยจะมีผู้คนลำบากจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อบรรเทาภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก การจงใจกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวจึงต้องเกิดเร็วที่สุด มีหลายมณฑลของจีนที่รวมกันแล้วมีประชากรนับร้อยล้านคนที่โควิดแทบไม่กระทบเลย นักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้คิดถึงอาหารไทย เงินก็มีพร้อมที่จะซื้อสมุนไพรไทย ชาไทย ยาหม่อง ยาดม ฯลฯ โรงแรมไทยเตรียมเปิดห้องรับ ร้านอาหารไทยเตรียมกะทะ ตะหลิว เตรียมผลิตมาม่าทุกรสไว้ได้เลย ถ้าไทยเจรจาจนมาอยู่ใน “ฟองอากาศ” เดียวกัน

การไม่มีการระบาดติดเชื้อเลยจนเพิ่มขึ้นเป็นศูนย์ทุกวันนั้นเป็นเป้าหมายของจีนกับเกาหลีใต้ สังคมอื่นในโลก รวมทั้งไทยมุ่งสู่การควบคุมการระบาดให้อยู่มือ โดยจำนวนคนล้มป่วยด้วยโควิดอยู่ในขอบเขตของความสามารถรักษาพยาบาลของสาธารณสุขไทย ตราบจนเมื่อคนไทยได้รับวัคซีนในระดับหนึ่งและโลกมียารักษาโควิดแล้วเราก็พอจะหายใจได้โล่งอกจนกว่าจะถึงการระบาดของโรคใหม่อีกครั้ง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์รั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 พ.ค. 2563