ThaiPublica > คอลัมน์ > “สิ่งดี” ที่โควิดให้”

“สิ่งดี” ที่โควิดให้”

1 เมษายน 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

เราพูดถึงโควิด-19 ในปัจจุบันกันพอควรแล้ว น่าคิดว่าหลังจากโควิด-19 ผ่อนคลายและถูกเผด็จศึกในที่สุดด้วยวัคซีนอีกทั้งเศรษฐกิจการค้าปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว(อาจกินเวลานานถึง 2 ปี) โลกได้รับบทเรียนและจะเห็นสิ่งต่อเนื่องใดบ้างจากปรากฏการณ์ “หงส์ดำ” เมี่ยมครั้งนี้

โควิด-19 คือ “หงส์ดำ” อย่างแท้จริง กล่าวคือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างทันใดและเกิดผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน ที่เรียก “หงส์ดำ” ก็เพราะมนุษย์รู้จักหงส์ขาวกันมานับพันปีตั้งแต่สมัยโรมัน แต่ไม่เคยมีใครพบหงส์ดำ จนกระทั่งนักเดินเรือชาวดัชต์ชื่อ Willem de Vlamingh พบหงส์ดำเป็นครั้งแรกที่แม่น้ำในรัฐออสเตรเลียตะวันตกใน ค.ศ. 1691

“หงส์ดำ” หรือ Black Swan เป็นปรากฏการณ์ที่ตั้งชื่อโดยศาสตราจารย์ทางสถิติและความเสี่ยง ชื่อ Nassim Nicholas Taleb ในหนังสือดังของโลก ชื่อ “The Black Swan” (2007)

การไม่เคยพบเห็นหงส์ดำมาก่อนมิได้หมายความว่ามันไม่มีตัวตนอยู่ในโลก เพียงแต่เรายังไม่เคยพบมันเท่านั้นเอง เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ก็คล้ายกัน การไม่เคยเกิดขึ้นมิได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด มันอาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดฝันดังกรณีของโควิด

ประการแรก ที่เราได้เห็นต่อจากปรากฏการณ์โควิด-19 ก็คือ Digitalization เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ไม่มีสังคมใดจะมองข้ามได้ ในยามโรคระบาดการสั่งซื้ออาหาร สิ่งของเวชภัณฑ์ การทำธุรกรรมการค้าอย่างรักษา social distancing การโอนเงินเพื่อช่วยเหลือคนลำบาก การลงทะเบียนเพื่อติดตามอาการคนที่อยู่ในข่ายติดเชื้อ การติดต่อสื่อสารถึงกันระหว่างทางการและประชาชน ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน การให้คำแนะนำในการป้องกันโรค การโอนเงิน การค้นคว้าและเก็บสถิติ ฯลฯ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีโลกดิจิตอล

ที่มาภาพ :เฟซบุ๊กกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ประการที่สอง สถานการณ์โควิด-19 บังคับให้ทุกองค์กรต้องนึกถึงเรื่อง “work from home” เรารู้ว่า social distancing จะลดลงได้ก็ต่อเมื่อประชาชนอยู่บ้าน ไม่ติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกันมากเกินไปกับมนุษย์คนอื่นจนเชื้ออาจติดต่อถึงกันได้จากการที่คนจำนวนมากไปทำงานและระหว่างเดินทางแออัดกับคนอื่น เชื้อโรคมันไปกับตัวคน ถ้าผู้คนไม่ติดต่อถึงกัน โรคติดต่อก็แพร่กระจายออกไปไม่ได้

องค์กรต้องเริ่มคิดว่าใครที่ทำงานที่บ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางมาสำนักงาน งานลักษณะใดและจัดแบ่งอย่างไรที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถทำที่บ้านได้ เมื่อก่อนมิได้คิดมาก่อน ต่อจากนี้ไปจะเห็นชัดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนลงได้

ประการที่สาม การที่มหาวิทยาลัยต้องปิดระหว่างโรคระบาดหนักทำให้ต้องเกิดการเรียนการสอนออนไลน์ขึ้น เมื่อก่อนทำบ้างไม่ทำบ้าง ตอนนี้ถูกบังคับให้ต้องทำโดยปริยาย ดังนั้นหลังจากโควิดจบลง ความเคยชินจากการให้บริการการเรียนการสอนออนไลน์จะยังคงอยู่

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องการเปลี่ยนการเรียนการสอนจากแบบปกติมาเป็นออนไลน์ก็คือ ทั้งสองแบบมีธรรมชาติและมีตรรกะของการเรียนรู้ที่ต่างกันมาก การให้อาจารย์บรรยายแบบเดิมผ่านใยแก้วนำแสงเพื่อให้เห็นภาพและเสียงที่อยู่ไกลออกไปและวัดผลทางไกลแบบเดิมจะไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาดังที่ตั้งใจ การเรียนการสอนออนไลน์นั้นต้องมีเนื้อหา รูปแบบการเรียนการสอน ตรรกะของการเรียนรู้ตลอดจนการวัดผลการเรียนรู้ที่ต่างออกไป

e-learning คือการเรียนการสอนออนไลน์ดังที่รู้จักกันคร่าว ๆ ในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องมีการเตรียมเนื้อหา ลำดับการนำเสนอ การมีส่วนร่วมของผู้เรียน การวัดผล ฯลฯ ที่ต้องจัดขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นการทำกันง่าย ๆ เพราะความจำเป็นที่เกิดขึ้นใช้ได้ในระยะสั้นเท่านั้น ในช่วงเวลาต่อไปจำเป็นต้องปรับรูปแบบตามที่ควรจะเป็น

ประการที่สี่ ผู้คนในโลกจะมีใจยอมรับการใช้อำนาจเต็มรูปแบบในลักษณะที่เรียกว่า authoritarian มากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเห็นความสำเร็จในการกำจัดโควิด-19 โดยการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของจีน

ความสำเร็จในการปราบโควิดจากการใช้อำนาจแนวเดียวกับจีนของสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ชวนให้ผู้คนคล้อยตามเมื่อเปรียบเทียบกับความล้มเหลวที่เห็นจากอิตาลี อิหร่าน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สเปน ฯลฯ ความโน้มเอียงนี้จะเจือสมจนทำให้แนวโน้มของปรากฏการณ์ “นิยมการใช้อำนาจ” ในระดับโลกยิ่งเด่นชัดขึ้น

ประการที่ห้า ผู้คนในโลกจะยังไม่โยนทิ้งขวดเจลแอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อโรค จะไม่เลิกการระแวงการอยู่ในที่ผู้คนแออัด จะไม่เลิกการระแวดระวังโรคติดต่อใหม่และการรักษาความสะอาด จะไม่เลิกระวังการกินอาหารที่ขาดมาตรฐาน จะไม่เปลี่ยนทิศทางการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ฯลฯ ดังที่เคยปฎิบัติตอนโควิดระบาด

ผู้คนจะหันมาให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพส่วนตัว และสาธารณสุขของสังคมมากขึ้นกว่าเดิม สนใจหาความรู้ในเรื่องสุขภาพมากขึ้น อันจะส่งผลให้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งหมดนี้หมายถึงการเกิดขึ้นของ New Normal (“ความเป็นปกติใหม่”) ในเรื่องการต้องการมาตรฐานของอาหาร ของบริการสาธารณสุขสำหรับตัวเองและสังคมมากขึ้น จะไม่แปลกใจเลยที่คนจะหันมาสนใจในเรื่องการดูแลสุขภาพส่วนตัว และการออกกำลังกายมากขึ้น

โควิด-19 ทำร้ายสุขภาวะและกระเป๋าผู้คนทั้งโลกอย่างน่าใจหาย แต่ใน “ลบก็มีบวก” ชาวโลกเรียนรู้มากมายจากปรากฏการณ์ “หงส์ดำ” ครั้งนี้ สองบทเรียนสำคัญคือ

(1) การดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอยู่เสมอนั้นคือยันต์ป้องกันโควิดที่ดีที่สุดและถูกที่สุด
(2) ความไม่ประมาทรีบป้องกันและแก้ไขอย่างเข้มแข็งและทันด่วนแต่แรกคือคำตอบที่ประเทศเอเชียใกล้บ้านเราให้บทเรียนแก่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกา(ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อแซงหน้าจีนไปไกลแล้ว)

การไม่เสี่ยงติดเชื้อโควิดคือการพยายามไม่เป็นพาหะนำโรคไปสู่ผู้อื่นอีกหลายทอดซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญยิ่ง ความรับผิดชอบก็คือ “ดูแลสุขภาพ-social distancing-อยู่บ้าน-ใส่หน้ากากในที่แออัด-ล้างมือบ่อย ๆ”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 31 มีค. 2563