ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ทำความเข้าใจและรับมือโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ไวรัสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทำความเข้าใจและรับมือโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ไวรัสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

27 กรกฎาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.healthmap.org/covid-19/

ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 กรกฎาคม 2564) ดร. แอนโทนี่ เฟาซี กล่าวว่า เนื่องจากคนอเมริกันราวครึ่งหนึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า จึงเป็นการแพร่ระบาดในหมู่คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้อเมริกามีสภาพอยู่ 2 แบบ คือส่วนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ที่มีจุดอ่อนมาก และส่วนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ที่ค่อนข้างได้รับการป้องกัน

รัฐบาลสหรัฐฯยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำแนะนำในเรื่อง การสวมหน้ากากอนามัย แม้จะมีการหารือกันระหว่างทำเนียบขาวกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในประเด็นที่ว่า ควรแนะนำอย่างเป็นทางการหรือไม่ที่ว่า แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ควรจะสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในอาคาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

นางโรเชลล์ วาเลนสกี้ (Rochelle Walensky) ผู้อำนวยการศูนย์ CDC กล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า จะแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่แพร่ระบาดในต้นปี 2020 สายพันธุ์เดลต้าเป็นหนึ่งในไวรัส ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจได้มากที่สุด ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น สหรัฐฯเองยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้อยู่

แต่นางโรเชลล์ วาเลนสกี้กล่าวว่า ข่าวดีก็คือวัคซีน 3 ชนิดที่ผ่านการรับรองในสหรัฐฯ สามารถป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ข้อมูลจากหลายมลรัฐระบุว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา 99.5% ของการเสียชีวิตจากโควิด-19 เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

อะไรคือโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

บทความชื่อ The Covid-19 Delta Variant: What to Knowของ webmd.com กล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่อินเดีย ทุกวันนี้ เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลัก ที่แพร่ระบาดในสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ ได้แพร่ระบาดไปแล้ว 74 ประเทศ แม้ว่าจะเพิ่งค้นพบไวรัสนี้ เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่ะระบาดในอัตรา 30-100% ที่มากกว่าสายพันธุ์แอลฟา

นักวิจัยด้านไวรัสยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ทำไมสายพันธุ์เดลต้าจึงแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนหนึ่งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน ที่ห่อหุ้มตัวไวรัส อาจทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น งานศึกษาในระยะแรกเห็นว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสายพันธุ์เดลต้า อาจทำให้ไวรัสนี้เข้ากันได้ดีกับเซลล์มนุษย์ ทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น จนระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา ไม่สามารถรับมือกับเชื้อตัวนี้

บทความของ The Washington Post ชื่อ What you need to know about the highly contagious delta variant กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขเห็นว่า เดลต้าคือสายพันธุ์ที่มี “คุณสมบัติเหมาะที่สุด” ของโคโรนาไวรัส หมายความว่า…

เดลต้าสามารถเอาชนะสายพันธุ์อื่นของโควิด-19 ในการทำให้คนติดเชื้อมากขึ้น เจ็บป่วยมากขึ้น และเป็นสายพันธุ์ที่โจมตีแหล่งที่เชื้อเข้าไปอาศัยอยู่ (host) ได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น

ทำไมเดลต้าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล

บทความของ The Washington Post กล่าวว่า การวิจัยเบื้องต้นระบุว่า สายพันธุ์เดลต้าทำให้เกิดการติดเชื้อมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์แอลฟา ที่พบในอังกฤษ ส่วนสายพันธุ์แอลฟาทำให้เกิดการติดเชื้อมากกว่า 50% เทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่น ที่พบในจีนเมื่อปลายปี 2019

แม้จะมีหลักฐานว่าสายพันธ์เดลต้า ทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อมูลอยู่จำกัดในเรื่องที่ว่า สายพันธุ์เดลต้าทำให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ โรงพยาบาลของสหรัฐฯ ในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า รายงานว่า มีคนไข้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนมากขึ้น แต่สิ่งนี้อาจเป็นเพราะว่า คนกลุ่มนี้มีการฉีดวัตซีนในจำนวนที่น้อยกว่า

วัคซีนป้องกันเดลต้าได้ผลหรือไม่

บทความ The Washington Post กล่าวว่า จากข้อมูลของสหรัฐฯและประเทศอื่น วัคซีน 3 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน จากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ สามารถป้องกันการเกิดอาการที่รุนแรง และการเสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลต้า แต่ว่าให้การป้องกันน้อยลงจากอาการเพียงเล็กน้อยและปานกลาง

William Moss อาจารย์ด้านระบาดวิทยาของ John Hopkins University บอกว่า จุดนี้คือสิ่งที่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างแท้จริง เพราะเป้าหมายอันดับแรกของเรา ในความพยายามให้มีการฉีดวัคซีน คือการป้องกันอาการติดเชื้อที่รุนแรง ป้องกันการเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิต

ส่วนวารสาร The New England Journal of Medicine ก็เพิ่งเปิดเผยรายงานการศึกษาล่าสุดว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ทั้ง Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า การฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็ม จะให้การป้องกันได้ถึง 88% จากอาการที่เกิดจากสายพันธุ์เดลต้า เทียบกับ 94% ที่สามารถป้องกันได้จากสายพันธุ์แอลฟา ส่วนการฉีดวัคซีน AstraZenaca 2 เข็ม จะได้ผล 67% ในการป้องกันจากสายพันธุ์เดลต้า ลดลงจาก 75% ที่วัคซีนนี้ สามารถป้องกันจากสายพันธุ์แอลฝา

งานวิจัยนี้ยังกล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มเดียว จะมีผลในการป้องกันน้อยกว่าฉีด 2 เข็ม โดยวัคซีนเข็มเดียวของ Pfizer ได้ผลในการป้องกัน 36% ส่วนวัคซีนเข็มเดียวของ AstraZeneca ได้ผลเพียง 30% สำหรับวัคซีน AstraZeneca ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สหรัฐฯ

แต่รายงานการศึกษานี้ ขัดแย้งกับข้อมูลเบื้องต้น ที่เปิดเผยโดยกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลที่ว่า วัคซีน Pfizer ได้ผลเพียง 64% ในการป้องกันอาการโรคที่เกิดจากสายพันธุ์เดลต้า แต่ผู้สังเกตการณ์ก็กล่าวว่า ข้อมูลของอิสราเอลเป็นเพียงการสังเกตุการณ์ ไม่ใช่ผลของการศึกษาวิจัย

เดลต้าจะกระทบสหรัฐฯอย่างไร

เนื่องจากคนอเมริกัน 160 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว ดังนั้น ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าจะไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขคาดการณ์ว่า จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นมาในชุมชน ที่มีการฉีดวัคซีนในอัตราที่ต่ำ การระบาดดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดความเสี่ยงแก่คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว และคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

ดร. แอนโทนี่ เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า เขามีความกังวลต่อสายพันธุ์เดลต้า เพราะจะนำไปสู่สภาพของ “สองอเมริกา” คือคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการป้องกันจากการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูง กับคนอีกกลุ่มที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ คนกลุ่มหลังนี้จะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดได้ง่าย สิ่งนี้จะทำให้เกิดสภาพ “สองอเมริกา”

ประชาชนจะป้องกันตัวอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพกล่าวว่า คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ยังจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และหาทางให้ฉีดวัคซีนเร็วที่สุด แม้ CDC ไม่ได้แนะนำให้คนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจะยังคงสวมหน้ากาก เพราะวัคซีนจะให้การป้องกันที่สูง ส่วนดร. แอนโทนี่ เฟาซีบอกว่า แต่ละคนก็ต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ในเรื่องที่สวมหรือไม่สวมหน้ากาก โดยพิจารณาจากอายุ สุขภาพ และสภาพแวดล้อม

นาง Mariangla Simao ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ประชาชนยังต้องป้องกันตัวเอง ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อ แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ไหลเวียนในชุมชน จุดนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมพนักงานสาธารณสุขของอินเดีย แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีการติดเชื้อ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเผชิญกับเชื้อไวรัสจำนวนมาก

สำหรับความเสี่ยงของเด็กจากสายพันธุ์เดลต้า ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขแนะนำว่า เนื่องจากเดลต้าสามารถแพร่เชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น เด็กจึงเสี่ยงมากขึ้นที่จะติดเชื้อ ในสหรัฐฯเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีน แต่เด็กอายุ 2 ปี หรือมากกว่านี้ จะต้องสวมหน้ากาก เมื่ออยู่ในพื้นที่ของอาคารรวม เด็กต้องหมั่นล้างมือด้วยสบู ไม่อยู่ใกล้คนที่มีอาการไอและจาม และปฏิบัติตามคำแนะนำของ CDC

ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ด้านโมเลกุลชื่อ Eric Topol กล่าวว่า หากเรายังไม่ติดโควิด ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่สวมหน้ากาก เรากำลังสร้างปัญหาให้กับตัวเองแล้ว เพราะเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า จะมองหาเราจนพบ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพมาก ในการค้นหาสิ่งที่จะเข้าไปอาศัยอยู่ ดังนั้น หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน การสวมหน้ากากคือสิ่งที่สำคัญสุด ณ เวลานี้

เอกสารประกอบ
What you should know about the COVID-19 variant, webmd.com
What you need to know about the highly contagious delta variant, July 23, 2021, washingtonpost.com
Two doses of Pfizer and AstraZeneca coronavirus vaccines effective against delta variant, study says, July 22, 2021, washingtonpost.com