ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนจากก้าวที่พลาดของคนเป็นหนี้

บทเรียนจากก้าวที่พลาดของคนเป็นหนี้

25 มิถุนายน 2021


ชวนันท์ ชื่นสุข และ อโนทัย พุทธารี ธนาคารแห่งประเทศไทย

หลายท่านคงทราบแล้วว่า ในช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (ผู้ประกอบธุรกิจบัตรฯ) จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ในช่วง 2 เดือนของการจัดงานตั้งแต่วันวาเลนไทน์เป็นต้นมา ทีมงาน ธปท. ดีใจมากที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกยึดทรัพย์ และกลุ่มที่กำลังจะถูกขายทอดตลาด ให้สามารถกลับมาเจรจากับผู้ประกอบธุรกิจบัตรฯ ได้อีกครั้ง และสามารถงดการขายทอดตลาดทรัพย์ให้กับลูกหนี้ที่ลงทะเบียนในโครงการได้หลายพันราย

ขณะเดียวกัน มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรฯ นี้ก็ทำให้พวกเรามีประสบการณ์ไกล่เกลี่ยหนี้ให้ลูกหนี้โดยตรงจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง จึงเป็นโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้จากก้าวที่พลาดของคนเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรฯ)

คำถามแรก ลูกหนี้ก้าวพลาดตรงไหน

ก้าวแรกที่พลาดมาจากความไร้เดียงสาของลูกหนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า “ดอกเบี้ยบัตรฯ แพง” และประเมินไม่ถูกว่า “แพง” เป็นอย่างไร และไม่รู้ว่า ถ้าผิดนัดชำระหนี้ หรือจ่ายขั้นต่ำ จะถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สุดท้ายแต่ละเดือนต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงให้กับเจ้าหนี้จนหลายคนท้อ

พลาดที่สองมาจากการเป็นโรคภูมิแพ้การตลาด เริ่มจาก “แพ้” การตลาดของผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการให้ใช้ก่อน-จ่ายทีหลัง หรือตัดแต้มแลกส่วนลดเงินสดหรือแลกสินค้า และยัง “แพ้” ข้อเสนอดีๆ เพื่อให้เปิดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลแถมไม่มีหลักประกันด้วย ยิ่งทำให้เรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งยัง “แพ้” ระบบการตลาดออนไลน์ที่เข้ามายั่วกิเลสได้ทุกเวลา ไม่เลือกสถานที่ สุดท้ายอาการภูมิแพ้ก็แสดงออกมาเป็นการใช้จ่ายเกินตัว และสะสมหนี้จนเกินกำลังจะชำระคืน

พลาดที่สามมาจากการไม่รู้หลักการบริหารเงิน 2 ข้อสำคัญ กล่าวคือ

    ข้อแรก ลงทุนอะไรต้องให้คุ้มกับดอกเบี้ย ธปท. พบว่า ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยรูดบัตรเครดิตซื้อสินค้ามาลงทุน โดยไม่รู้ว่าสินค้านั้นจะขายได้เมื่อไร ขณะที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 16 ในที่สุดธุรกิจก็ไปไม่รอด และนำไปสู่การบังคับคดียึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือน

    ข้อสอง ต้องระวังการลงทุนที่มีลักษณะ maturity mismatch หรือการนำสินเชื่ออายุสั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว เช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อเกิด maturity mismatch ย่อมมีโอกาสที่ลูกหนี้จะหมุนเงินไม่ทันสูง และสามารถเป็นเหตุให้ธุรกิจเจ๊งเพราะขาดสภาพคล่องได้ ปรากฏว่า ลูกหนี้จำนวนหนึ่งกลับใช้สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 25 และเป็นสินเชื่อระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องอายุไม่เกิน 1 ปี มาลงทุนสร้างบ้าน ทั้งที่ควรขอสินเชื่อระยะยาวที่ผ่อนได้นานและดอกเบี้ยต่ำกว่า หรือลดขนาดบ้าน หรือทยอยค่อยๆ เติมบ้าน สุดท้ายเมื่อผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ ก็ถูกดำเนินคดีและถูกยึดบ้านในที่สุด

พลาดที่สี่มาจากการอยากมีชีวิตที่พร้อมตั้งแต่เริ่มทำงาน กล่าวคือ เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพอเริ่มทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเองก็อยากมีคอนโด มีรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่น้อยคนจะสามารถซื้อหาได้ด้วยเงินสด จึงเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยลืมคิดไปว่า การผ่อนของที่มีราคาขนาดนี้ต้องใช้เวลาหลายปี และในช่วงหลายปีนี้จะมีงานทำตลอดหรือไม่ หรือจะมีอุบัติเหตุชีวิตอื่นอีกหรือไม่ และด้วยพลังความมุ่งมั่นแบบไม่กลัวอะไรของคนวัยนี้ ทำให้หลายคนทุ่มหมดหน้าตัก คือเหลือเงินใช้ส่วนตัวไม่มาก อาศัยการรูดบัตรเครดิตหรือขอสินเชื่อส่วนบุคคลมาใช้จ่าย ซึ่งการบริหารเงินที่ตึงตัวแบบนี้ จึงไม่แปลกที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดจะชี้ว่า ลูกหนี้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 เป็นหนี้เสียสูงถึงร้อยละ 20 สุดท้ายชีวิตการทำงานก็ไม่ราบรื่น เพราะต้องพะวักพะวนกับปัญหาหนี้สิน หลายคนถูกดำเนินคดี เสียประวัติด้านการเงิน สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและครอบครัว

คำถามต่อมาคือ เราจะเดินหน้าอย่างไรต่อดี

ในช่วงวิกฤติโควิด การเร่งกระบวนการให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เจรจาตกลงกันได้เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ปัจจุบันสถาบันการเงินต่างมีโปรแกรมช่วยเหลือหลายรูปแบบสำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระ ลูกหนี้จึงควรเปิดใจเข้ามาเจรจากับเจ้าหนี้ดีกว่าการหลบเลี่ยงเมื่อไม่มีเงินจ่าย ซึ่งลูกหนี้จำนวนไม่น้อยจะใช้วิธีเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ จนเจ้าหนี้ก็ติดต่อไม่ได้ หาตัวไม่เจอ จนนำมาสู่การฟ้องดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งทำให้การเจรจาหาข้อยุติยากยิ่งขึ้น เพราะต่างขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมสนับสนุนการเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกขั้นตอน ด้วยการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรฯ กล่าวคือ แม้ลูกหนี้ถูกพิพากษาแล้ว ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ซึ่งปกติลูกหนี้จะไม่มีสิทธิกลับมาเจรจากับเจ้าหนี้อีก แต่มหกรรมฯ นี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ลูกหนี้ได้เจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง พร้อมสิทธิประโยชน์ที่เจ้าหนี้เสนอให้ ที่สำคัญ เราขยายเวลาจัดมหกรรมฯ ไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จึงไม่ควรพลาด

นอกจากนี้ หลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป บทเรียนราคาแพงจากก้าวที่พลาดของลูกหนี้เหล่านี้ ควรนำมาออกแบบนโยบายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน การคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน และนโยบายสาธารณะอื่นๆ เพื่อให้สุขภาพทางการเงินของประชาชนทั่วไปแข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมด้วย