ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้ครัวเรือน

นายกฯ ตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้ครัวเรือน

25 มิถุนายน 2021



วันที่ 25 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยระบุว่า ด้วยระดับหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและมีความอ่อนไหวประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทาง เศรษฐกิจของประชาชน

เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และเป็นธรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย รวมรวมทั้งสิ้น 22 คน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังหรือรองปลัดกระทรวงการคลังที่ได้รับมอบหมาย
เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากกระทรวง หน่วยงานอื่นๆที่ร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ใด้รับมอบหมาย, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม, อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์,เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค,ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย,ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี, ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ,ประธานสมาคมธนาคารไทย,ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร.เป็นกรรมการและเลขานุการ ขณะที่รองเลขาธิการสภาพัฒนาการ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ, นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลา กรรมการและผู้ช่วย เลขานุการ, นายขจร ธนะแพสย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคือ
1)ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา
2)บูรณาการและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
3)เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง แสดงความคิดเห็นส่งเอกสาร ให้ช้อมูล หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ
4)แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
5)ปฏิบัติภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อมูลหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวนรวม 14.20 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) โดยเป็นเงินให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุุคลมีจำนวน 10.77 ล้านล้านบาท