ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติด้านประชากรที่ลดลง ทำให้จีนต้องแข่งกับเวลา เพื่อเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง”

วิกฤติด้านประชากรที่ลดลง ทำให้จีนต้องแข่งกับเวลา เพื่อเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง”

9 มิถุนายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : cnn.com

หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า ที่ประชุมของกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีมติให้คู่สมรสของจีน สามารถมีบุตรได้ 3 คน ถือเป็นการสิ้นสุดของนโยบายครอบครัวมีบุตรได้ 2 คนของจีน การเปลี่ยนนโยบายนี้ แสดงถึงการยอมรับว่า การจำกัดจำนวนการมีบุตรของแต่ละครอบครัว เป็นอันตรายต่ออนาคตของจีน

ในปี 1980 พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำหนดนโยบายให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตรได้หนึ่งคน เป้าหมายก็เพื่อชะลอการเติบโตของประชากร และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เพิ่งเริ่มต้นจากการเปิดประเทศในปี 1979 ต่อมาในปี 2013 ทางการจีนเริ่มเข้าใจผลกระทบจากปัญหาจำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้น จึงอนุญาตให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตรได้ 2 คน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังกล่าวว่า จะเพิ่มงบประมาณมากขึ้น ในเรื่องสวัสดิการสำหรับคนที่เกษียณ ปี 2020 คนจีนที่อายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวน 264 ล้านคน เท่ากับ 18.7% ของประชากรทั้งหมด ทางการจีนคาดว่า ในปี 2025 คนสูงอายุนี้จะเพิ่มเป็น 300 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 ใน 5 ของคนจีนทั้งหมด

ประชากรจีนเพิ่มต่ำสุดใน 60 ปี

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนเปิดเผยว่า ในปี 2020 ประชากรจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 12 ล้านคน นับเป็นจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ที่มีตัวเลขต่ำสุด เมื่อนับจากปี 1961 เป็นต้นมา จำนวนประชากรที่เพิ่มน้อยลง ไม่เพียงจะกระทบต่อจีนเอง แต่จะมีผลต่อประเทศต่างๆทั่วโลก เศรษฐกิจจีนอาจจะยังเติบโตอยู่ แต่ก็จะชะลอตัวลง ภาพลักษณ์ของจีนที่เป็นประเทศแรงงานราคาถูก ก็จะกลายเป็นเรื่องประวัติศาสตร์

การสำรวจประชากรระบุว่า ปี 2020 จีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มประชากรมีอัตราเฉลี่ยปีละ 0.53% สัดส่วนประชากรวัยทำงานลดจาก 70% ในปี 2010 มาเหลือ 63.4% ในปีที่แล้ว ส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนพุ่งขึ้น

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จำนวนประชากรของจีนอาจเพิ่มขึ้นแบบติดลบ ลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรมากสูงสุดในปี 2010 เกาหลีใต้ในปี 2019 และสิงคโปร์ในปี 2003 แต่ทั้ง 3 ประเทศนี้กลายเป็นสังคมของคนสูงอายุ ล้วนมีมาตรฐานชีวิตของประชากรในระดับสูง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่มีคุณภาพ

สังคมที่แก่ก่อนร่ำรวย

หนังสือชื่อ Empty Planet (2019) กล่าวว่า นักประชากรศาสตร์จะต้องพยายามคาดการณ์ เรื่องจำนวนประชากรของจีนและอินเดียให้ถูกต้อง เพราะ 1 ใน 3 ของคนในโลก อาศัยอยู่ใน 2 ประเทศนี้ ชะตากรรมของภาวะสิ่งแวดล้อมในโลก เศรษฐกิจโลก และการพุ่งขึ้นหรือตกต่ำของเป็นประเทศมหาอำนาจ ล้วนขึ้นกับปัจจัยด้านประชากรนี้
หน่วยงานด้านประชากรของสหประชาชาติเคยคาดการณ์ไว้ว่า จำนวนประชากรของจีน จะพุ่งขึ้นสูงสุดที่มากกว่า 1.4 พันล้านคนในปี 2030 หลังจากนั้น ในระยะเวลา 70 ปี หรือในปี 2100 ประชากรจีนจะลดจำนวนลงเหลือเพียงราวๆ 1 พันล้านคน

ที่มาภาพ : http://www.xinhuanet.com/english/2021-06/01/c_139981452.htm

เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ทำให้จีนมีแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาลอยู่ในมือ แรงงานราคาถูกและมีจำนวนมาก จนทำให้บริษัทตะวันตกย้ายโรงงานมายังจีน แต่ตลาดแรงงานของจีนกำลังหดตัวลง เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มประชากรลดน้อยลง ประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น จีนกำลังมีสภาพแบบญี่ปุ่น จะแตกต่างกันก็คือญี่ปุ่นมั่งคั่งร่ำรวยก่อนที่จะแก่

Feng Wang นักประชากรศาสตร์กล่าวไว้ในหนังสือ Empty Planet ว่า จำนวนประชากรที่ลดลง และสังคมที่สูงอายุมากขึ้น จะสร้างวิกฤติทางการเมืองต่อจีน

ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ความชอบธรรมทางการเมืองของจีน มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยอิงอาศัยแรงงานราคาถูก และความต้องการทำงานของแรงงาน แต่แรงงานที่สูงอายุมากขึ้น จะบังคับให้จีนต้องมีโมเดลเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา

เสี่ยงติด “กับดักรายได้ปานกลาง”

จีนเป็นประเทศที่ประชากรสูงอายุ มีอัตราเพิ่มที่รวดเร็ว ทั้งๆที่อยู่ในช่วงระยะแรกของการพัฒนา อนาคตข้างหน้า ในปี 2050 สัดส่วนประชากรที่เกษียณ จะอยู่ที่ 39% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในปี 2018 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 249 ล้านคน หรือ 18% ของประชากรทั้งหมด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ (1) นโยบายในปี 1979 ที่ให้มีบุตร 1 คน และในปี 2015 ทางการจีนอนุญาตให้เพิ่มเป็น 2 คน และ (2) อายุเฉลี่ยของคนจีนที่สูงขึ้น ในช่วงปี 1950-2020 อายุเฉลี่ยคนจีนเพิ่มจาก 44.6 ปีเป็น 77.4 ปี

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ China’s Population Aging and the Risk of “Middle-Income Trap” กล่าวว่า นักประชากรศาสตร์แบ่งโครงสร้างประชากรเป็น 3 ส่วน คือประชากรวัยเด็ก 0-14 ปี กลุ่มวัยทำงาน 15-59/64 ปี และกลุ่มสูงอายุ 60/64 ปีขึ้นไป ประชากรทุกกลุ่มล้วนเป็นผู้บริโภค แต่มีเพียงกลุ่มวัยทำงาน ที่เป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต

โครงสร้างอายุของกลุ่มประชากรดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ผลกำไรจากประชากร (demographic profit) ดอกผลจากประชากร (demographic dividend) และการขาดดุลจากประชากร (demographic deficit) ประเทศทั้งหลายจึงต้องใช้โอกาสให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ในช่วงที่โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมรับมือกับสังคมสูงอายุ ที่เป็นช่วงเข้าสู่การขาดดุลจากประชากร การใช้ประโยชน์จากยุคดอกผลจากประชากร ยังหมายถึงการพัฒนาให้ประเทศหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

ประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวเข้าสู่ระดับรายได้ปานกลาง ล้วนเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) การติดกับดักนี้จะแสดงอาการออกมาที่การชะงักงันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ความขัดแย้งทางสังคมที่มีมากขึ้น และความรู้สึกไม่พอใจของผู้คน ต่อความเป็นไม่ยุติธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ
ส่วนสาเหตุสำคัญของการติดกับดักรายได้ปานกลาง คือความล้มเหลวของสังคม ที่ไม่สามารถพัฒนาไล่ตาม

    (1) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่กลายเป็นปัจจัยนำของอุตสาหกรรมยุคใหม่
    (2) ความก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมสารสนเทศ
    (3) กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ที่ระบบการผลิตของโลก กระจายไปในหลายประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับและถ่ายโอนการผลิตด้านอุตสาหกรรม มายังประเทศกำลังพัฒนา

หนังสือ China’s Aging Population กล่าวว่า การสูงอายุของประชากร มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ไม่นาน หลังจากนั้น ประชากรที่สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น จากโครงสร้างประชากรจีนที่เป็นอยู่ ที่ประชากรวัยทำงานยังมีสัดส่วนสูงนั้น

ในช่วงปี 1990-2030 จีนจะยังสามารถที่เอาประโยชน์ดอกผลจากประชากร และยังสามารถที่จะได้ประโยชน์ต่อไปอีก 15 ปี ก่อนที่หน้าต่างของโอกาสดอกผลจากประชากร จะปิดสนิทลง

แต่หากจีนยังสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ปีละ 7% เมื่อสิ้นปีทองของโครงสร้างประชากรในปี 2030 เศรษฐกิจจีนก็จะมีมูลค่าเพิ่มอีกเท่าตัว รายได้ต่อคนของจีนก็จะสูงในระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้น จีนก็สามารถเอาชนะกับดักรายได้ปานกลาง

เอกสารประกอบ
China Says It Will Allow Couples to Have 3 Children, Up From 2, May 31, 2021, nytimes.com
Aging of China, Wikipedia.org
China’s Population Aging and the Risk of “Middle-Income Trap”, Xueyuan Tian Editor, Springer, 2017.