เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
คุณพ่อผมปัจจุบันอายุเข้าวัยเกษียณแล้ว เป็นโชคดีของครอบครัวที่คุณพ่อสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ แต่ด้วยสถานะชนชั้นกลาง ปากกัดตีนถีบมาค่อนชีวิต เช่นเดียวกับครอบครัวอีกจำนวนมาก ที่นอกจากเงินผู้สูงอายุอันน้อยนิดแล้ว ก็ไร้ซึ่งบําเหน็จบํานาญใดๆ ความหวังจะเห็นสวัสดิการประชาชนที่เพิ่มขึ้นก็ดูจะเป็นไปได้ยากเหลือเกินในชาตินี้
ไม่ใช่แค่วัยรุ่นหรือวัยทำงาน แต่ในวัยเกษียณ ซึ่งปราศจาก “การถูกปกครอง” (ทั้งโดยพ่อแม่และโดยผู้จ้าง) และโดยมากก็ไม่จำเป็นต้อง “ปกครอง” ใครอีก ถือได้ว่าหลุดพ้นจากภาระทั้งปวง เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ลองสิ่งใหม่ๆ ทบทวนอดีต สนุกกับปัจจุบัน เพลิดเพลินกับอนาคต และเป็นโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามปรารถนาของใครหลายคน
การมีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม หรือ social safety net จะยิ่งส่งเสริมให้ผู้หลุดพ้นจากภาระเหล่านี้กล้าที่จะใช้ชีวิตอีกครั้ง เฉกเช่นคำขวัญของพรรค Swedish Social Democratic ที่ว่า “Secure people dare”
หลายเดือนก่อน ผมมีโอกาสอ่านหนังสือของคุณ Cameron Huddleton นักข่าวและนักเขียนด้านการเงินส่วนบุคคล ผู้ฝากผลงานไว้ในนิตยสารจำนวนมาก ในหนังสือ Mom and Dad, WE NEED to TALK คุณฮัดเดิลตันรวบรวมวิธีสร้างบทสนทนากับพ่อแม่เรื่องเงินๆ ทองๆ ไว้อย่างสนุกสนานและเข้าใจง่าย
บทความนี้จึงอยากหยิบยกส่วนที่น่าสนใจและเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตมารีวิวและแบ่งปันกับผู้อ่าน
ทำไมต้องคุยเรื่องการเงินกับพ่อแม่?
เว็บ Care ปี 2016 ระบุว่า พ่อแม่มากกว่าครึ่งสะดวกใจที่จะคุยกับลูกเรื่อง sex มากกว่าคุยกับพ่อแม่ของตัวเองเรื่องเงินและการเกษียณอายุ ในขณะที่เว็บ GoBankingRates พบว่า พ่อแม่ชาวสหรัฐฯ 10% สะดวกใจคุยเรื่องชีวิตโรแมนติกมากกว่าเรื่องเงิน
โพลของ Gallup ระบุว่า พ่อแม่อายุ 50-64 ปีเกือบครึ่งไม่มีแผนจัดการการเงิน และพ่อแม่จำนวนมากก็ไม่ได้วางแผนการเงินร่วมกัน อีกฟากหนึ่ง Fidelity Investment รายงานว่า พ่อแม่ 69% คาดหวังให้ลูกสักคนจัดการเรื่องการเงินให้ แต่ 1 ใน 3 ของลูกมักไม่รู้มาก่อน ในขณะที่พ่อแม่ 72% คาดหวังให้ลูกสักคนดูแลตอนแก่ แต่คนเป็นลูก 40% ก็ไม่รู้มาก่อนเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า กว่าครึ่งของคนอายุราว 50-64 ปีไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ นอกจากนี้ จากผลการสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ยังระบุถึงการไม่มีแผนจัดการด้านทรัพย์สิน การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ประกันสุขภาพระยะยาว รวมถึงเงินสำรองสำหรับการดูแลรักษา
Dr.Brad Koontz นักจิตวิทยาการเงิน ให้เหตุผลว่า พ่อแม่มักโอเคที่จะคุยเรื่องเซ็กซ์กับลูกมากกว่าเรื่องเงิน ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ
-
1) กลัวการเปลี่ยนจากผู้ดูแล เป็นผู้ถูกดูแล
2) กลัวทำให้ลูกผิดหวัง
3) กังวลว่า หากให้ลูกเข้ามาจัดการการเงิน ตนเองจะสูญเสียอิสรภาพ
4) อาย
5) มักไม่อยากนึกเรื่องอายุและการจากไป
6) ไม่เชื่อใจลูก (ที่นอกจากนิสัยแล้ว ยังรวมถึงข่าวสแกรม ข่าวหลอกเงินต่างๆ)
แต่บทสนทนาหวานอมขมกลืนนี้ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี ไม่ควรรอให้พ่อแม่มีปัญหาสุขภาพ หรือไม่สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นบทสนทนาและอาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุดคือ การก้าวข้ามความกลัวที่จะคุย แล้วเริ่มคุยกับพ่อแม่ให้เร็วที่สุด สำหรับการวางแผนการเงินแล้ว ไม่มีคำว่าเร็วเกินไป
แล้วจะเริ่มคุยอย่างไร
คุณฮัดเดิลตันแนะนำให้เริ่มจากคุยกับพี่น้อง เพื่อจูนความเข้าใจและสถานการณ์ของพ่อแม่ให้ตรงกัน รวมถึงตัดสินใจร่วมกันก่อนว่า
-
1) ใครจะเป็นคนเริ่มต้นบทสนทนา หนังสือแนะนำว่า อาจเป็นคนที่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ทั้งในทางกายภาพและทางอารมณ์ความรู้สึก
2) จะเริ่มคุยเมื่อไรดี หลายคนอาจคิดว่า ควรเป็นช่วงวันหยุดครอบครัว ซึ่งเป็นเวลาที่หนังสือขอให้เลี่ยง เนื่องจากสำหรับพ่อแม่จำนวนมากแล้ว บทสนทนาเรื่องการเงินไม่ชวนเจริญอาหารเลย
3) จะใช้ท่าทีอย่างไรในการเริ่มต้น
4) ใครจะเป็นคนทำสิ่งต่างๆ เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือ
10 วิธีเริ่มต้นบทสนทนา
1) ถ้าความสัมพันธ์กับพ่อแม่ดี หนังสือแนะนำให้ใช้วิธีพูดตรงๆ
2) อย่าเริ่มด้วยเรื่องเงิน อย่างที่ทราบว่า เรื่องดังกล่าวถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามมาช้านาน
3) อาจเริ่มด้วยการนัดแนะก่อน
4) ขอความช่วยเหลือคนที่เชี่ยวชาญ เนื่องจากในหลายบ้านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พ่อแม่จะรู้สึกกลายเป็นผู้ถูกปกครอง
5) ใช้เรื่องราว อาจพูดถึงพ่อแม่ของเพื่อนหรือคนรู้จัก
6) พูดถึงประสบการณ์การวางแผนการเงินของตัวเอง
7) ใช้สถานการณ์ในชีวิต เช่น การเคยเห็นว่าช่วงปู่ย่าตายายจากไป สร้างความหนักใจให้พ่อแม่ขนาดไหนบ้าง
8) ใช้สถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ความไม่แน่นอนเรื่องเศรษฐกิจการเงินต่างๆ
9) ใช้คำถาม “จะเป็นอย่างไร ถ้า” เพื่อให้เห็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
10) เสนอแสงสว่างให้พ่อแม่ไม่ต้องหนักใจอยู่ฝ่ายเดียว
และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ พยายามสงบสติอารมณ์และแสดงความจริงใจ อย่าให้เรื่องการเงินกลายเป็นต้นเหตุแห่งความบานปลาย หนังสือแนะนำว่า ระหว่างพูดคุยให้เขียนทุกอย่างลงสมุดอย่างไม่อคติด้วย
อะไรบ้างที่ควรเตรียมพร้อม
ช่วงคุณแม่ผมเสีย นอกจากความทุกข์ระทมอลหม่านจนไม่มีเวลาจะคิดเรื่องอื่นแล้ว ต้องขอบคุณคุณพ่อ คุณแฟนในช่วงเวลานั้น ญาติสนิท และมิตรสหาย ที่ช่วยทำทุกอย่างให้ผ่านไปอย่างราบรื่น ในหนังสือพูดถึงสิ่งที่ทั้งต้องเตรียม ต้องรู้ และต้องจัดการไว้ล่วงหน้าหากเป็นไปได้ไว้หลายส่วน ผมขอสรุปส่วนสำคัญมาดังนี้
1. เอกสารสำหรับอนาคต เช่น พินัยกรรม หนังสือมอบอำนาจ และผู้จัดการมรดก
2. แผนการเงิน เช่น แหล่งรายได้หลังเกษียณ, เงินฝากในบัญชี, หนี้ค่าบ้าน, บิลรายเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล และค่าอื่นๆ, นโยบายหรือมาตรการสนับสนุนทางการเงินของรัฐ ท้องถิ่น หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, บัญชีเงินลงทุน, อสังหาริมทรัพย์, ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ผู้ที่ไว้ใจได้ และความต้องการสุดท้าย (final wishes)
3. เบอร์โทรหน่วยงานด้านสังคม ความปลอดภัย และหน่วยงานช่วยเหลือฉุกเฉิน
4. เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาน บัตรประกันสุขภาพ กรมธรรม์ประกันชีวิต ใบขับขี่ เลขบัญชีธนาคาร และบัญชีเงินลงทุน พอร์ตหุ้น กองทุน ฯลฯ
5. ไอดีและการเข้าถึงการจัดการสมาชิก Netflix, Youtube หรืออื่นๆ ในกรณีที่พ่อแม่ subscription ไว้
6. การจัดการบัญชีใน Social Media
7. ตำแหน่งแห่งหนของกุญแจบ้าน, ของจำเป็น, ของสำคัญ, กุญแจตู้เซฟ, สมุดเช็ค, บัตรต่างๆ, เรือกสวนไร่นาที่ซื้อไว้, เครื่องประดับ อัญมณี ของมีค่า, สัญญาธุรกิจ, ประวัติผู้จ้างหรือลูกจ้างในอดีต
8. วันเดือนปีเกิดพ่อแม่, ชื่อและคอนแทกต์ของหมอ โรงพยาบาล นักกายภาพ ตลอดจนหมอฟันและร้านขายยาประจำ, ประวัติการแพ้, รายชื่อและปริมาณยา, เงื่อนไขทางสุขภาพ เช่น ความดัน เบาหวาน ฯลฯ, ประวัติการรักษาสำคัญ เช่น การผ่าตัด, เบอร์ติดต่อฉุกเฉิน, สูติบัตร, ทะเบียนบ้าน, ใบหย่า ทะเบียนสมรส, ประวัติทางการทหาร และลิสต์รายชื่อเพื่อนสนิท สถานที่ที่ไปประจำ (อาจเป็นวัด โบสถ์ แหล่งชุมชน คลับ ร้านอาหาร ฯลฯ) รวมถึงความสำเร็จ วีรประวัติต่างๆ
9. นอกจากนี้ ต้องอย่าลืมเตือนพ่อแม่ถึงความอันตรายด้านอาชญากรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เช่น scammers, การหลอกถามข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งแนะนำให้พ่อแม่เข้าใจวิธีการจัดการอย่างทันท่วงทีเมื่อถูกโจรกรรม
สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้คุณผู้อ่านทุกคน ที่นอกเหนือจากการต้องคาดหวังให้สังคมมี social safety net เพื่อคนเป็นพ่อเป็นแม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอีกครั้งหลังเกษียณแล้ว การเริ่มต้นบทสนทนาที่มักถูกห้ามพูดคุยบนโต๊ะอาหารก็เป็นทั้งเรื่องสำคัญ ท้าทาย และหลีกเลี่ยงได้ยากเหลือเกิน