ThaiPublica > คอลัมน์ > วิธีการต่อต้านการแพร่ระบาดของข่าวเทียมที่เกี่ยวกับโควิด-19

วิธีการต่อต้านการแพร่ระบาดของข่าวเทียมที่เกี่ยวกับโควิด-19

30 มิถุนายน 2021


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เมื่อไม่นานมานี้น้องสาวของผมส่งคลิปวิดีโอของ ดร. คนไทยในประเทศเยอรมนีคนหนึ่ง ที่ออกมาพูดห้ามปรามไม่ให้คนไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดยเขาได้ให้เหตุผลในวิดีโอว่า การฉีดวัคซีนเป็นการลดจำนวนประชากรของโลก และถึงแม้ว่าน้องของผมจะทราบดีว่ามันเป็นข่าวเทียม เขาก็เล่าให้ผมฟังว่ามีคนแชร์มาให้เขาดูอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่ามันน่าจะมีคนอื่นอีกหลายคนที่แชร์วิดีโอนี้ไปทั่วโซเชียลมีเดีย

จะว่าไป ปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวเทียม โดยเฉพาะข่าวเทียมที่เกี่ยวกับโรคโควิด เป็นปัญหาที่สำคัญระดับโลกเลยก็ว่าได้นะครับ เพราะ 1) ข่าวเทียมมักจะแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าข่าวจริงที่ออกมาหักล้างข่าวเทียม และ 2) ข่าวเทียมเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนหลายคนคิดว่าโควิดเป็นแค่โรคหวัดธรรมดา คิดว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก็ได้ เป็นต้น

คำถามที่สำคัญก็คือ เวลาที่คนเราทั่วไปแชร์ข่าวเทียมนั้น พวกเขาทราบไหมว่ามันเป็นข่าวเทียม และถ้าทราบ จะยังตัดสินใจแชร์มันอยู่ไหม และถ้าไม่ทราบ เราจะสามารถแก้ไขปัญหาของการแชร์ข่าวเทียมกันยังไง

ในการหาคำตอบเหล่านี้ Gordon Pennycook และเพื่อนร่วมงานที่เป็นนักจิตวิทยาอีกสี่คน ได้ทำการทดลองกับคนที่ถูกสุ่มมาจำนวนกว่า 1 พันคน โดยในการทดลองนั้น พวกเขาได้ให้คนกลุ่มนี้อ่านบทความสั้นๆ เกี่ยวกับโควิดบน Facebook จำนวน 30 บทความ และใน 30 บทความนี้ 15 บทความเป็นข่าวจริง ส่วนอีก 15 บทความเป็นข่าวเท็จ

หลังจากนั้น Pennycook และเพื่อนก็ทำการสุ่มแยกคน 1 พันคนนี้ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ โดยคนในกลุ่มแรก (กลุ่ม A) ได้รับคำถามที่เกี่ยวกับแต่ละบทความที่พวกเขาอ่านว่า “คุณคิดว่าบทความที่คุณเพิ่งได้อ่านจบไปนั้นเป็นความจริงไหม”

ส่วนคนในอีกกลุ่มหนึ่ง (กลุ่ม B) ได้รับอีกคำถามหนึ่งที่ถามพวกเขาว่า “คุณคิดว่าคุณจะแชร์บทความที่คุณพึ่งจะอ่านไปไหม”

Pennycook และเพื่อนพบว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่ม A สามารถแยกข่าวจริงจากข่าวเทียมได้ (โดยเฉลี่ยแล้ว 65% ของคนในกลุ่ม A เห็นข่าวจริงแล้วบอกว่าเป็นข่าวจริง และเพียง 35% เท่านั้นที่เห็นข่าวปลอมแล้วบอกว่าเป็นข่าวจริง) แต่ว่าอัตราการแชร์ข่าวจริงและข่าวเทียมของคนในกลุ่ม B นั้นกลับมีค่าพอๆ กันที่ประมาณ 45-50%

พูดง่ายๆ ก็คือ โอกาสที่คนเราส่วนใหญ่จะแชร์ข่าวเทียมที่เกี่ยวกับโควิดนั้นมีค่าพอๆ กันกับโอกาสที่เราจะแชร์ข่าวจริง ถึงแม้เราถามเขาตรงๆ ว่าเขาทราบไหมว่ามันเป็นข่าวเทียม ส่วนใหญ่เขาจะรู้ว่ามันเป็นข่าวเทียมด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้มันหมายความว่าคนเราตั้งใจที่จะแชร์ข่าวเทียมทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นข่าวเทียมน่ะเหรอ

ในการตอบคำถามนี้ Pennycook และเพื่อนได้ทำการทดลองที่สองเพื่อพิสูจน์ว่าคนเราตั้งใจที่จะแชร์ข่าวเทียมทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่จริงหรือเปล่า โดยพวกเขาได้ทำการสะกิด หรือ nudge ให้คนคิดถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่เขาอ่านว่ามันเป็นจริงหรือเท็จก่อนที่จะแชร์ เพื่อที่จะดูว่าถ้าคนเราคิดถึงความเป็นจริงของข่าวก่อน

พวกเขาจะยังแชร์บทความที่เป็นข่าวเท็จอยู่ไหม เพราะถ้าคนเราตั้งใจจะแชร์ข่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นข่าวเท็จล่ะก็ การทำให้เขาคิดถึงความเป็นไปได้ของข่าวก่อนก็ไม่น่าจะมีผลลัพธ์อะไรต่อพฤติกรรมการแชร์ของเขา

Pennycook และเพื่อนพบว่าการทำให้คนฉุกคิดถึงความเป็นจริงของข่าวก่อนสามารถเพิ่มโอกาสที่เขาจะแชร์ข่าวจริงมากกว่าข่าวเทียมเกือบสามเท่าตัวด้วยกัน

สรุปก็คือ คนเราส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะแชร์ข่าวเทียมกันนะครับ และไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่สามารถบอกได้ว่าข่าวไหนเทียมข่าวไหนจริง ส่วนใหญ่คนเรามักจะบอกได้ว่าข่าวไหนเทียมข่าวไหนจริงด้วยซ้ำไป

แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่เขาแชร์ข่าวเทียมก็คือเพราะเขาไม่ได้หยุดคิดถึงความเป็นไปได้ของข่าวนั้นก่อนที่เขาจะแชร์ต่างหาก

เพราะถ้ามีการสะกิด หรือการเตือนสติสักสองสามวินาทีให้เขาคิดถึงความเป็นไปได้ของข่าวก่อนที่เขาจะกดแชร์ล่ะก็ เราจะสามารถลดอัตราการแชร์ข่าวเท็จได้หลายเท่าตัวเลยทีเดียว

คำถามก็คือ เราจะมีกลไกอะไรบ้างที่จะช่วยทำให้คนหยุดคิดถึงความเป็นไปได้ของข่าวก่อนที่เขาจะกดแชร์ กดส่งมันให้คนอื่นทางไลน์บ้าง มีใครมีวิธีหรือทางออกกันบ้างไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม

Pennycook, G., McPhetres, J., Zhang, Y., Lu, J.G. and Rand, D.G., 2020. Fighting COVID-19 misinformation on social media: Experimental evidence for a scalable accuracy-nudge intervention. Psychological science, 31(7), pp.770-780