ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ลาห์ติ เมืองเล็กในฟินแลนด์ อันดับหนึ่ง European Green Capital ตั้งเป้าปลอดคาร์บอนปี 2025

ลาห์ติ เมืองเล็กในฟินแลนด์ อันดับหนึ่ง European Green Capital ตั้งเป้าปลอดคาร์บอนปี 2025

13 มิถุนายน 2021


ที่มาภาพ: https://www.euronews.com/2021/05/31/european-green-capital-2021-six-climate-friendly-ideas-to-learn-from-lahti-in-finland

ลาห์ติ (Lahti) เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ ครองที่หนึ่งจากการจัดอันดับเมืองสีเขียวแห่งยุโรปหรือ European Green Capital 2021 ด้วยเป้าหมายเชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีแผนจะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2025 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายระดับชาติของฟินแลนด์ถึง 10 ปี และเร็วกว่าเป้าหมายปี 2050 ของสหภาพยุโรป

ลาห์ติ เมืองใหญ่อันดับ 9 ของฟินแลนด์ ห่างจากกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงไปทางตอนเหนือราว 100 กิโลเมตร เดิมเคยเป็นศูนย์กลางด้านวิศวกรรมและการผลิต แต่เศรษฐกิจทรุดในยุค 1990 การว่างงานพุ่ง แม้ฟื้นตัวในช่วงหลังแต่ก็ไม่รุ่งเรือง

ลาห์ติมีมาตรการมากมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ลงลึกไปถึงระดับตัวบุคคล จึงมีความเชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายและเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนหรือเมืองต่างๆ ของยุโรป

เพคกา มิโมเนน นายกเทศมนตรีของเมืองกล่าวว่า นั่นก็เป็นโอกาสที่ลาห์ติจะเป็นต้นแบบในการพลิกจากเมืองอุตสาหกรรมเป็นเมืองทันสมัย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้กับเมืองหรือชุมชนอื่นๆ เพราะโดยส่วนใหญ่ชาวยุโรปอาศัยในเมืองขนาดกลางที่มีจำนวนประชากรราว 120,000 คน เช่น ลาห์ติ

แนวทางหนึ่งที่เมืองลาห์ตินำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมายนี้คือ การหันมาใช้พลังงานยั่งยืน เมืองนี้มีโรงไฟฟ้าใหม่สองแห่ง คือ Kymijärvi II ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของโลกที่เปลี่ยนขยะของเมืองให้เป็นก๊าซ (gasification) ส่วน Kymijärvi III เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้ของเสียจากอุตสาหกรรมไม้และไม้จากป่าในท้องถิ่นที่ผ่านการรับรองในการผลิตไฟฟ้า

การสร้างโรงไฟฟ้านี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 217 ล้านดอลลาร์ตลอดระยะเวลา 5 ปี และได้รับเงินทุนจากสหภาพยุโรป

“เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเรายินดีที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่” อิซา เทปโปเนน ผู้จัดการโครงการของ Lahti Energia บริษัทที่บริหารโรงไฟฟ้ากล่าว “เราเลิกใช้ถ่านหินเป็นแหล่งเชื้อเพลิงและแทนที่ด้วยชีวมวลที่สะอาด”

การหันมาใช้แหล่งเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเทียบเท่ากับที่ชาวฟินแลนด์ 60,000 คน ปล่อยในแต่ละปี

นอกจากนี้พลเมืองของลาห์ติยังสามารถวัดคาร์บอนที่ตนเองปล่อยออกไปได้ด้วยการใช้แอปพลิเคชัน CitiCAP บนมือถือ และจะได้คะแนนหากมีพฤติกรรมที่สร้างความยั่งยืน

ที่มาภาพ: https://www.smarttransport.org.uk/news/latest-news/finnish-city-launches-carbon-trading-app-to-help-reduce-emissions

แอปนี้จะติดตามการเดินทางของคนและตรวจจับอัตโนมัติว่า เดินทางแบบไหน เดิน ใช้รถจักรยาน รถยนต์ หรือวิธีอื่น และแต่ละสัปดาห์ก็จะแสดงผลการปล่อยคาร์บอนว่าได้ปล่อยคาร์บอนหรือไม่และปล่อยเท่าไร เกินจากระดับการปล่อยของแต่ละคน (carbon budget) หรือไม่ หากไม่เกินจะได้รางวัลเป็นเงินดิจิทัลยูโร (virtual euros) ซึ่งสามารถนำเงินยูโรนี้มาจ่ายซื้อตั๋วรถเมล์ หรือชำระค่าบริการสระว่ายน้ำ หรือซื้ออุปกรณ์ ชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมรถจักรยานได้ และนับว่าเป็นการซื้อขายคาร์บอน (carbon trading) ระดับบุคคลแห่งแรกของโลก

จากการทดลองใช้แอปนี้ในปีที่แล้ว มีผู้ใช้ที่เป็น active user จำนวน 350 คนจากที่ลงทะเบียน 2,500 คน และได้ผลดีและคาดว่าจะพัฒนาแอปนี้ต่อเนื่องให้ครอบคลุมหลายด้านมากขึ้นในอนาคต

นอกจากยังมีการรับอาสาสมัครทุกกลุ่มอายุในการดูแลและให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามประสบการณ์ของแต่ละคน เช่น การร่วมวงปั่นจักรยานกับเด็กๆ หรือการนำเด็กไปทำกิจกรรมตกปลาในพื้นน้ำแข็ง

อาสาสมัครสูงวัยเน้นให้เด็กเรียนรู้จากของจริง ที่มาภาพ: https://www.euronews.com/2021/05/31/european-green-capital-2021-six-climate-friendly-ideas-to-learn-from-lahti-in-finland

การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมยังขยายไปถึงวงการดนตรี โดยวงออเคสตรา Lahti Symphony Orchestra ซึ่งขนานนามให้ตัวเองเป็นวงออเคสตราวงแรกของโลกที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จากที่ได้ดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนมาร่วม 6 ปีแล้ว ได้รับรางวัล Classical:NEXT ระดับนานาชาติในปี 2018 จากการลดการพิมพ์โน้ตเพลงและปลูกต้นไม้มากขึ้น

อีกทั้งยังมีทีมฮอกกี้น้ำแข็งที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เช่นกัน จากการใช้พลังงานหมุนเวียน ในการรักษาความเย็นของพื้นน้ำแข็ง และเลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน

ภาคธุรกิจเองก็มีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อความยั่งยืน โดยรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ คลัสเตอร์ที่โดดเด่นคือสมาชิกของ Päijät-Häme คลัสเตอร์ธัญพืช ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 3,000 คนจากฟาร์ม โรงสี และการผลิตมอลต์ ตลอดจนการผลิตและจำหน่ายอาหาร เช่น ขนมปัง เบียร์ อีกทั้งมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างนักวิจัยในพื้นที่และบริษัทที่เป็นสมาชิกในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน

ยาร์คโค อารราโจกิ ผู้บริหาร Fazer Mills Finland และเป็นประธานคลัสเตอร์ให้ความเห็นว่า การร่วมมือกันจะทำให้สามารถประสานและมีส่วนร่วมในโครงการที่บางบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง

Fazer Mills Finland บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารที่ใหญ่สุดของฟินแลนด์ ได้ขยายโรงสีข้าวโอตในลาห์ติและในปีนี้จะผลิตไซลิทอล สารให้ความหวานจากเปลือกข้าวโอต ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงสีใกล้เคียง และใช้พลังงานชีวมวลที่ได้จากกากเปลือกข้าวโอตหลังการผลิตไซลิทอลมาแล้ว

เมืองลาห์ติยังฟื้นฟูทะเลสาบ Lake Vesijärvi จากเดิมที่มีน้ำเสียมีกลิ่นเหม็นเต็มไปด้วยสาหร่ายสีเขียวและขยะลอยฟ่อง ให้เป็นแหล่งฟอกอากาศชั้นดี และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ตกปลา เล่นเรือ

การฟื้นฟูทะเลสาบขนาด 100 ตารางกิโลเมตร เป็นตัวอย่างให้กับโครงการอื่นในลักษณะเดียวกันอีกนับพันโครงการทั้งในฟินแลนด์และในต่างประเทศ

ลาห์ติสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ 600,000 ตันต่อปี หรือลดลงกว่า 70%

นอกจากนี้ยังมีวิธีการกำจัดขยะและนำขยะกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเก็บไปจนถึงการนำกลับมาใช้ ด้วยระบบที่พัฒนามาตั้งแต่ยุค 1990 เพื่อเปลี่ยนขยะที่บริษัทท้องถิ่น องค์กรต่างๆ และประชากรในเขต Päijät-Häme ทิ้งกว่า 200,000 ตันในแต่ละปีให้เป็นรายได้

ปัจจุบันลาห์ติเป็นผู้นำในกระบวนการกำจัดขยะและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ จากการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ในการเก็บ คัดแยก การนำกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล รวมทั้งการกำจัดขยะขั้นสุดท้าย

ศูนย์กำจัดขยะ Kujala Waste Treatment Centre เป็นหนึ่งในศูนย์นวัตกรรมและธุรกิจหลัก ได้ประโยชน์จากโอกาสของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกระบวนการการแปรรูปขยะและการนำขยะมาใช้ใหม่ที่ทันสมัย ส่งผลให้ 96% ของขยะที่เก็บในเขตเทศบาลนำกลับไปใช้ได้อีก โดยราวครึ่งหนึ่งของขยะที่รีไซเคิลนั้นถูกแปรไปเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอื่น ส่วนที่เหลือนำไปใช้ในการผลิตพลังงาน

ที่มาภาพ: https://www.smartlahti.fi/themes/circular-econ/story-of-lahti-circ/

เมืองหลายเมืองในโลก ที่ดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่อัมสเตอร์ดัม ไปจนถึงโยโกฮามา โดยส่วนหนึ่งมาจากสมาคม Carbon Neutral Cities Alliance (CNCA) ที่มีวางองค์กรให้ ประสานความร่วมมือจากเมืองชั้นนำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2050 ซึ่งเป้าหมายเชิงรุกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง

CNCA มีสมาชิก 22 เมืองทั่วโลก ประสานงานในหลายด้าน ทั้งด้านเงินทุน ผู้นำ และการสื่อสารเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในช่วงปี 2015-2019 กองทุน CNCA Innovation Fund ลงทุน 3,255,496 ล้านดอลลาร์ และช่วยหาทุนอีก 43,550,706 ล้านดอลลาร์จากแหล่งเงินอื่นๆ เงินทุนนี้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในด้านการขนส่ง เชื้อเพลิงพลังงาน อาคารและการกำจัดขยะ