ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > เจาะ ‘โรงพยาบาลสนาม’ กระบวนการและความพร้อมระบบสาธารณสุข

เจาะ ‘โรงพยาบาลสนาม’ กระบวนการและความพร้อมระบบสาธารณสุข

18 พฤษภาคม 2021


ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19ของไทยที่กำลังระบาดระลอก 3 ส่งผลกระทบไปถึงระบบสาธารณสุขจนเกิดปัญหาเตียงขาดแคลน ทำให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนการจัดตั้ง ‘โรงพยาบาลสนาม’ ในวันที่ 3 เมษายน 2563 มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือ (1) เป็นที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 และ (2) เป็นที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังฯ

รัฐบาลมอบอำนาจหน้าที่การจัดการโรงพยาบาลสนามให้กับ 4 หน่วยงานหลักได้แก่ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19) ศปก.สธ. (ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19) กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมกรุงเทพมหานคร (อว.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายพื้นที่

ช่วงเดือนเมษายน 2563 จนกระทั่งราวปลายปี 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันยังอยู่ในระดับสิบไปจนถึงหลักร้อยทำให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนยังคงมีศักยภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเตียงในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ยังมีจำนวนเตียงเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้ช่วงการแพร่ระบาดระยะที่ 1-2 โรงพยาบาลสนามจึงยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก

ระยะแรกโรงพยาบาลสนามจะตั้งภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นต้น และโรงพยาบาลสนามประเภทมหาวิทยาลัยก็อยู่ภายใต้อำนาจของศปก.อว. (ศูนย์ปฏิบัติการฯของกระทรวงอว.)

แต่เมื่อประเทศไทยเข้าสู่การระบาดรอบ 3 จนมีผู้ติดเชื้อหลักพันคนต่อวันอีกทั้งสถานพยาบาลหลักทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยสะสมที่มีจำนวนขึ้นไปแตะหลักหมื่นได้ ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับโรงพยาบาลสนามทั้งในด้านจำนวนโรงพยาลเพื่อให้รองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มบทบาทของโรงพยาบาลสนามให้ครอบคลุมไปถึงการ ‘รักษา’ รวมถึงเป็นศูนย์ส่งต่อผู้ติดเชื้อบางราย

ตัวอย่างหนังสือแสดงความยินยอมรับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม

จากเดิมที่หลักการของโรงพยาบาลสนามกำหนดแค่เป็นที่พักฟื้นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับหลักเกณฑ์โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานหาสถานที่เพื่อจะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อพื้นที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50% ของเตียงที่มีอยู่ในพื้นที่และเมื่อมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 70% ของเตียงในพื้นที่จะต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทันที

ข้อมูลจากศปก.อว.ระบุว่าเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมีเตียงประจำโรงพยายามสนามราว 13,695 – 15,000 เตียง แต่ทั้งนี้ไม่ได้ระบุจำนวนโรงพยาบาลสนามที่แน่ชัดแต่ในจำนวนเตียงกว่า 1 หมื่นเตียงกระจายอยู่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นกรุงเทพและปริมณฑล 25% ภาคกลาง 8% ภาคใต้ 18% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35% ภาคเหนือ 12%  เตียง และภาคตะวันออก 2%

ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเรื่องแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสามารถแบ่งได้เป็น 14 ด้าน ได้แก่ สถานที่ เวชภัณฑ์ การปฏิบัติงาน ระบบการดูแลผู้ป่วย ระบบบริหารจัดการหน่วยผู้ป่วยนอก-หอผู้ป่วย ระบบขนส่ง ระบบสื่อสาร ระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ระบบสนับสนุน ระบบสุขาภิบาล ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบป้องกันอัคคีภัย งานสังคมสงเคราะห์-จิตวิทยา และระบบสื่อสารความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจะเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบให้โรงพยาบาลสนามซึ่งดำเนินการโดยท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามแบ่งออกเป็นแพทย์พักค้างได้รับค่าตอบแทนวันละ 1,500 บาทและเจ้าหน้าที่อื่นๆได้รับค่าตอบแทนวันละ 1,000 บาท

ด้านบุคลากรมีตั้งแต่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขบุคลากรด้านการบริหารจัดการตลอดจนบุคลากรทั่วไป เช่น งานสื่อสาร ช่าง งานขยะ งานจัดการศพฯ ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดอัตราส่วนที่ 100 เตียงต่อบุคลากรรวม 13-16 คนในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1-2 คนพยาบาล 3-4 คนเจ้าหน้าที่กู้ชีพ 3-4 คนเภสัชกร 1 คนเจ้าหน้าที่สื่อสาร 2 คนเจ้าหน้าที่เวชทะเบียน 1 คนและบุคลากรประเภทอื่นๆอีก 1-2 คน ขณะที่โรงพยาบาลบุษราคัม (อิมแพค ชาเลนเจอร์ 3) เฟสแรก 1,092 เตียง ใช้บุคลากรมากถึง 780 คน

ทั้งนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้เบิกจากหน่วยงานต้นสังกัดส่วนหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสธ.ให้เบิกจ่ายจากกองบริหารการคลังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ด้านทรัพยากรวัสดุการแพทย์ที่ใช้ภายในโรงพยาบาลสนามในอัตราส่วน 100 เตียง ได้แก่ Medical Grade Coverall (ชุด PPE) 2 ชุดต่อวัน, Isolation gown (ชุดคลุม) 10 ชุดต่อวัน, Surgical gown (ชุดคลุมด้านการแพทย์) 20 ชุดต่อวัน, Goggle (แว่นตานิรภัย) 2 ชิ้นต่อวัน, ถุงคลุมรองเท้า 20 คู่ต่อวัน, ถุงมือการแพทย์ 100 คู่ต่อวัน, ถุงมือไนไตรต์ 2 คู่ต่อวัน, Face shield 5 ชิ้นต่อวัน, หน้ากากอนามัย 150 ชิ้นต่อวัน, หน้ากาก N95 10 ชิ้นต่อวัน และหมวกคลุมผม 20 ชิ้นต่อวัน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง ‘การจัดการน้ำ’ เนื่องจากทางสถานที่จะต้องวางระบบที่รองรับน้ำเสียมากถึง 160  ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเริ่มต้นที่ 200 คนต่อลิตรต่อวันตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลสนามจะต้องแบ่งน้ำให้ผู้ติดเชื้อใช้ส่วนตัวเฉลี่ย 5 ลิตรแบ่งเป็นน้ำดื่ม 2 ลิตรและน้ำสำหรับล้างหน้าบ้วนปากแปรงฟัน 3 ลิตรส่วนห้องอาบน้ำและส้วมกำหนดให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 0.90 ตารางเมตรต่อ 1 ห้องและกำหนดความหนาแน่นของห้องอาบน้ำที่ไม่น้อยกว่า 10 คนต่อ 1 ห้องและห้องส้วมไม่น้อยกว่า 10 คนต่อ 1 ห้อง นอกจากนี้สถานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียด้วยการใช้คลอรีนหรือ UV หรือ OZONE โดยจะต้องได้รับการตรวจทุก 1 เดือน

การจัดการขยะประเภท ‘มูลฝอยติดเชื้อ’ ไม่ได้มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจนโดยข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพียงให้สถานที่จำเป็นต้องมีพื้นที่หรืออาคารเฉพาะแยกจากพื้นที่ผู้ติดเชื้อและพื้นที่นั้นต้องรองรับขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในแต่ละวันและมีพื้นที่เพียงพอจะรองรับขยะมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างน้อย 2 วัน

ก่อนหน้านี้คือประเทศไทยไม่ได้มีทรัพยากรที่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนหลักหมื่นได้ แม้จะรวมตัวเลขทรัพยากรด้านต่างๆ รวมทั้งของโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น เตียง ห้องพัก อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยา ดังนั้นโรงพยาบาลสนามจึงสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเสียหายจากวิกฤติโควิด-19

วันนี้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้ากว่า 3 แสนรายทั่วประเทศที่จะต้องผลัดเปลี่ยนเวรกันดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐต้องวางระบบเพื่อให้โรงพยาบาลสนามมีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้บุคลากรสาธารณสุขต้องอยู่ในภาวะการทำงานหามรุ่งหามค่ำ