สหกรณ์ฯคลองจั่น แจงสมาชิก-เจ้าหนี้ กรณีศาลอาญายกฟ้องคดี “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” กับพวกรวม 13 คน ร่วมกันฉ้อโกง ปชช.-ลักทรัพย์นายจ้างกว่า 1 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หลังจากศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และพวกรวม 12 คน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และลักทรัพย์นายจ้าง รวม 2 คดี ทางสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้ออกแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดของคดีในให้สมาชิก เจ้าหนี้ สหกรณ์เจ้าหนี้ และผู้เกี่ยวข้องทราบโดยทั่วกันว่า
ในวันนี้ เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำพิพากษา 2 คดี ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และพวกรวม 12 คน รวม 2 คดี คือ คดีอาญาเลขที่ อ.3339/2559 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และคดีอาญาเลขที่ อ.3056/2560 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งวันนี้ศาลอาญา ได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องทั้ง 2 คดี มีรายละเอียดดังนี้
1) คดี อ.3339/2559 ความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยที่ 1 เคยถูกฟ้องคดีอาญาในคดี อ.1260/2561 โดยนางสาวนวลฉวี เกตุวัฒนเวสน์ โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 412 คน ฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น เป็นจำเลยที่ 1 , นายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นจำเลยที่ 2 และในคดี อ.235/2562 โดยนายคนอง จุลมนต์ โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 292 คน ฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเลยที่ 1 , นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งได้บรรยายฟ้องเหมือนกันกับรายละเอียดคำฟ้องคดีนี้ (คดี อ.3339/2559) ซึ่งต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยทั้งสอง
ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดี อ.3339/2559 เคยถูกฟ้องในคดี อ.1260/2561 และคดี อ.235/2562 ความผิดในการกระทำคราวเดียวกัน เมื่อศาลมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยเนื้อหาในการกระทำในความผิดที่ฟ้องแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิ์นำคดีนี้มาฟ้อง ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 39 (4)
สำหรับจำเลยที่ 2 ถึง 12 ศาลเห็นว่าพยานต่างๆเบิกความถึงพฤติการณ์การกระทำ การลงบัญชีเพื่อให้เห็นว่ามีการหมุนเวียนทางบัญชีเป็นเท็จ การลงข้อมูลไม่ได้ลงในวันทำการปกติ การลงบัญชีไม่สามารถเป็นไปได้ พยานผู้ตรวจบัญชีเบิกความในทำนองเดียวกันว่า การกระทำต่างๆเป็นการกระทำผิดระเบียบ ได้ให้สหกรณ์ฯ แก้ไขข้อบกพร่องแล้ว พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ถึง 12 ร่วมกระทำกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ในการทำสัญญากู้มาตกแต่งบัญชี ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ถึง 12 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์ความสงสัย พิพากษาให้ยกฟ้อง
2) คดี อ.3056/2560 ความผิดฐาน ลักทรัพย์นายจ้าง ปลอม และใช้เอกสารปลอม ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นคดี อ.3339/2559 โดยคำฟ้องบรรยายการกระทำผิดว่า เมื่อเดือนมกราคม 2551 ถึงธันวาคม 2555 วันเวลาใดไม่ปรากฏ ซึ่งเป็นช่วงเวลาทับซ้อนกับคดีนี้ ทั้งบรรยายว่ามีการทำสัญญาปลอม เพื่อตกแต่งบัญชีงบดุล เพื่อให้ดูว่ามีผลกำไร ทั้ง ๆที่ประสบภาวะขาดทุน ทำสัญญากู้ทั้งที่ไม่ได้กู้กันจริง เป็นการปลอมใช้เอกสารปลอม เพื่อปกปิดการเอาเงินออกไป พยานโจทก์เบิกความว่าเงินที่ถอนเป็นเงินจำนวนเดียวกันกับคดี อ.3339/2559 จึงเป็นเรื่องของการกระทำในคราวเดียวกันกับคดีแรก ควรถูกฟ้องในคราวเดียวกันกับคดีแรก เมื่อศาลวินิจฉัยในคดี อ.3339/2559 แล้ว คดี อ.3056/2560 นี้ จึงไม่วินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
อนึ่ง สำหรับคำฟ้องคดี อ.3339/2559 ในบริการค้นหาข้อมูลคดีของศาลอาญา ระบุว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม ปี 2551 วันใดไม่ปรากฏชัด ถึงเดือนธันวาคม 2555 วันใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกันทั้งเวลากลางวันและกลางคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสิบเอ็ดขอร่วมกันหลอกลวงผู้อื่น หรือ ประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้ แจ้งแก่ประชาชน ด้วยวิธีการต่างๆ เป็นขั้นตอน ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ และร่วมรู้เห็นการกระทำผิดต่างๆ ร่วมกัน โดยเจตนาทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองและผู้อื่น โดยจำเลยทั้งสิบเอ็ดกับพวกได้บังอาจร่วมกันจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน ระหว่าง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (ผู้ให้กู้) กับ สมาชิกสมทบ (ผู้กู้) ซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ได้ถือหุ้นในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำนวน 28 ราย รวมเป็นจำนวนเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 11,858,440,000 บาท โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง และร่วมกันทำการบันทึกรายการทางการเงิน อันเป็นเท็จ
ในการบันทึกรายการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ สมาชิกสมทบ โดยไม่มีการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษสมาชิก สมทบจริง และบันทึกจ่ายเงินให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ โดยไม่มีการจ่ายเงินที่กู้ยืมออกจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จริง ร่วมกันจัดทำใบสำคัญรับชำระเงินลูกหนี้ทดรองจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นเท็จ และร่วมกันจัดทำใบสำคัญจ่ายเงินทดรองจ่ายจำเลยที่ 1 อันเป็นเท็จ ร่วมกันทำการบันทึกรายการเกี่ยวกับการจ่ายเงินสดให้ลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมเงินและการจ่ายเงินจริง โดยการทำสัญญากู้ยืมเงินเท็จดังกล่าวข้างต้น เพื่อปกปิดการทุจริต หรือการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด หรือนำมาปรับโครงสร้างหนี้ และเพื่อตกแต่งบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ให้ปรากฏเป็นเท็จว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด มีผลการประกอบกิจการ ที่มีผลกำไรสุทธิ โดยทำให้ปรากฏ ในงบการเงิน และงบดุล ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยนำงบกำไรสุทธิไปแสดงในรายงานประจำปี 2552 ถึง 2555 ซึ่งแท้จริงแล้ว การดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิเป็นจำนวนมากตลอดมา
เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร , แขวง/เขตใดไม่ปรากฏชัดกรุงเทพมหานคร และตำบล/อำเภอ/จังหวัดใดไม่ปรากฎชัด ในประเทศไทย เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 ให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันหรือแทนกัน คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ละราย รวมจำนวน 2,254 ราย และรายละเอียดมูลค่าเจ็ดพันหนึ่งร้อยห้าสิบเจ็ดบาทหกสิบสองสตางค์
ส่วนคำฟ้องคดี อ.3056/2560 ในบริการค้นหาข้อมูลคดีของศาลอาญา ระบุว่า เมื่อระหว่างประมาณเดือน มกราคม 2552 เวลากลางวัน ถึงเดือน พฤษภาคม 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ได้บังอาจร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต โดยใช้วิธีร่วมกันแบ่งหน้าที่ กันทำ โดยการออกเช็คธนาคารต่างๆ สั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคาร และธนาคารได้จ่ายเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหายตามจำนวนที่ได้ลงไว้ในเช็ค อันเป็นเป็นการร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ตามจำนวนที่ได้ออกเช็คไปในแต่ละฉบับ รวมจำนวน ๖๓๕ ฉบับ เป็นการกระทำความผิด จำนวน 635 กรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 10,812,663,995.29 บาท (หนึ่งหมื่นแปดร้อยสิบสองล้านหกแสนหกหมื่นสามพันเก้าร้อยเก้าสิบห้าบาทยี่สิบเก้าสตางค์) เมื่อระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 21 เมษายน 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน
จำเลยทั้งสี่ได้บังอาจร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตามจำนวนที่ได้เบิกถอนเงินสดออกระบบบัญชี(หน้าเคาเตอร์)หรือตู้เก็บรักษาเงิน(ตู้เซฟ) จำนวน 86 กรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,966,940,162 บาท (หนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบหกล้านเก้าแสนสี่หมื่นหนึ่งร้อยหกสิบสองบาท) เมื่อระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2554 เวลากลางวันและกลางคืน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด
จำเลยทั้งสี่ได้บังอาจร่วมกันทำหนังสือสัญญาเงินกู้ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับโดยจำเลยทั้งสี่ได้นำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาเงินกู้ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มาพิมพ์ข้อความให้ปรากฏในสัญญากู้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าหนังสือสัญญาเงินกู้ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาเงินกู้ที่แท้จริง ระหว่างบริษัท ทวีเฮ้าส์ แอนด์ บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนางสาวสุทิศา เข็มประดับ และนายธนัท พรหเมศ ณ อยุธยา กรรมการผู้กู้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยนาย *** ตำแหน่งประธานกรรมการ และนาย *** ตำแหน่ง เลขานุการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ให้กู้ ซึ่งที่แท้จริงมิได้มีการกู้ยืมเงินกันแต่อย่างใดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัท ทวีเฮ้าส์ แอนด์ บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด นางสาวสุทิศา เข็มประดับ และนายธนัท พรหเมศ ณ อยุธยา สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้อื่นหรือประชาชน เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265, 268,334,335
อ่านเพิ่มเติม: ซีรีย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น