ThaiPublica > คอลัมน์ > หมู่เกาะแฟโรกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม “เที่ยวทิพย์”

หมู่เกาะแฟโรกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม “เที่ยวทิพย์”

23 พฤษภาคม 2021


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ชิมก่อนปรุง Taste before seasoning

  • วิกฤติการแพร่ระบาด Covid 19 เร่งให้เกิดการขยายตัวของดิจิทัลแพลตฟอร์มทุกวงการไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีไอเดียเรื่อง Virtual tourism เข้ามาเป็นอีกทางเลือกในช่วงโรคระบาด
  • หมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เมื่อนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศแบบนอร์ดิกได้ รัฐบาลหมู่เกาะแฟโรจึงพยายามพัฒนาแนวคิด Virtual tourism การท่องเที่ยวเสมือนจริง โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
  • Virtual tourism เป็นการนำ AR VR และ MR มาทำให้การท่องเที่ยวยุค Next normal ยังมีอรรถรสไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แม้จะเป็นการเที่ยวทิพย์ก็ตาม

นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา ทำให้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค Post-pandemic หรืออาจเรียกอีกชื่อว่ายุค Next Normal

Mckinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกได้เอ่ยถึงคำว่า Next Normal ไว้ในรายงานหลายฉบับ1 … โดยหลักใหญ่ของ Next Normal คือ การกล่าวถึงยุคสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างเต็มรูปแบบ

วิกฤติ Covid-19 จึงทำให้ทุกวงการเกิดการเปลี่ยนแปลง…วิกฤตินำมาซึ่งความท้าทายที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ค้นคว้า และปรับตัว นวัตกรรมใหม่ ๆ มักเกิดมาพร้อมกับช่วงวิกฤติเสมอ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เช่นกันที่ Covid-19 ทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกซบเซาลงอย่างน่าใจหาย…ข้อมูลจาก UNWTO พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-ต.ค. ปี 2020 ลดลงถึง 72% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2019

ความเสียหายมหาศาลนี้ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นต่างพังพินาศ

อย่างไรก็ดีมีอีกหลายประเทศที่พยายามทำให้การท่องเที่ยวนั้นกลับมาโดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำ VR หรือ Virtual Reality มาใช้

ตัวอย่างการใช้ VR มาสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการกระโดดร่มพาราชูตเสมือนจริง (Virtual parachute) ที่ตึก Burj Khalifa ตึกสูงที่สุดในโลกที่ดูไบ

สนนราคาค่ากระโดดร่มพาราชูต (ทิพย์) อยู่ที่ 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 330 บาท…ทั้งนี้ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเชื่อว่าการกระโดดร่มพาราชุตแบบเสมือนจริงนี้ได้อารมณ์ไม่แตกต่างนักกับการกระโดดร่มจริง

Virtual Parachute ที่ตึก Burj Khalifa ที่มาภาพ : https://www.viveport.com/cf56c00e-1444-49a7-ace7-10ea70433e44

น่าคิดเหมือนกันว่า…โลกเสมือนจริงที่สร้างขึ้นนี้สามารถกลายเป็น “สินค้าทดแทน” ประสบการณ์เที่ยวแบบผจญภัยได้จริงหรือ

นอกจากที่ดูไบแล้ว…ในยุโรป หมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) เป็นอีกหนึ่งแห่งที่พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวเสมือนจริง

หมู่เกาะแฟโรตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก จัดเป็นเขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก…ข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่าหมู่เกาะแฟโรมีประชากรเพียงห้าหมื่นกว่าคน มีเมืองหลวงชื่อ ทอร์สเฮาน์ (Torshavn) และมี GDP per capita สูงถึง 61,325 ดอลลาร์ต่อปี

อุตสาหกรรมประมงเป็นรายได้สำคัญของหมู่เกาะแฟโร โดยเฉพาะการทำฟาร์มปลาแซลมอนที่ขึ้นชื่อติดอันดับโลก

นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังเป็นอีกรายได้หลักของเกาะนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแถบสแกนดิเนเวีย เมื่อมาเดนมาร์กแล้ว ก็มักแวะไปเที่ยวหมู่เกาะแฟโรด้วย

ผลกระทบจาก Covid ทำให้สำนักงานคณะกรรมการท่องเที่ยวของหมู่เกาะแฟโรแนะนำนักท่องเที่ยวทุกมุมโลกให้มาเยือนหมู่เกาะแฟโรโดยใช้ Virtual tourism

แม้ Virtual tourism จะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาสักพักใหญ่ แต่ในแง่ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวแล้ว Virtual tourism ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการนั่งดูสารคดีท่องเที่ยวจาก Netflix หรือ Youtube

อย่างไรก็ดี การพัฒนา Virtual tourism ในห้องทดลองนั้นเริ่มหยิบเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาผสมผสานกันทั้งจิตวิทยา ประสาทวิทยาศาสตร์หรือ Neuroscience และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) เพื่อช่วยออกแบบให้การท่องเที่ยวเสมือนจริงนั้นสร้างความรู้สึกไม่แตกต่างจากการเดินทางไปเที่ยวจริง

การไปเที่ยวทิพย์ที่หมู่เกาะแฟโร สามารถไปดูฟยอร์ด ขี่ม้า ล่องเรือ เดิน วิ่ง ขอเพียงใช้ Joystick แบบเล่นเกมพาตัวเราไปชมทัศนียภาพอันสวยงามของหมู่เกาะ

Virtual tourism ใช้เทคโนโลยีทั้ง Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) และ Mix Reality (MR)

เที่ยวหมู่เกาะฟาโรด้วย Joystick ที่มาภาพ :https://www.visitfaroeislands.com/remote-tourism/

AR คือ การนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกของจริงและโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น Webcam

วัตถุเสมือนมีทั้งภาพ วีดิโอและ เสียง โดยข้อมูลต่าง ๆ ที่ประมวลผลได้มาจากคอมพิวเตอร์ มือถือ

ขณะที่ VR เราคุ้นเคยอยู่แล้ว โดยเฉพาะแว่นตา VR ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกได้เที่ยวแบบ 360 องศา ทั้งเรื่องมองเห็นวิวทิวทัศน์ ได้ยินเสียง สัมผัส หรือแม้กระทั่งได้กลิ่นอาหาร

ส่วน Mixed Reality ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้ทั้งเห็นและสัมผัสกับโลกรอบตัว โต้ตอบกับสภาพแวดล้อมเสมือนด้วยมือของเราเองโดยที่ไม่ต้องถอดแว่น VR

MR ยังช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถวางมือหรือเท้าข้างใดหนึ่งไว้ในโลกของจริง ขณะที่อีกข้างก้าวไปในโลกเสมือนแบบ Interactive

การท่องเที่ยวในยุค Next normal จะมีทั้งการท่องเที่ยวแบบเดิมที่ต้องมี Vaccine passport การันตีความปลอดภัยของนักเดินทาง…และการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เป็น Virtual tourism ซึ่งหากใครไม่ชอบชื่อการท่องเที่ยวเสมือนจริง…ลองใช้คำว่า “เที่ยวทิพย์” ก็ดูเท่ไปอีกแบบ

หมายเหตุ
1.ตัวอย่างรายงานที่น่าสนใจ เช่น Beyond Coronavirus: The path to the next normal