ThaiPublica > สู่อาเซียน > สิงคโปร์มองทะลุโควิด ดึงบริษัทยาระดับโลกตั้งโรงงานผลิตวัคซีน รับมือโรคระบาดอนาคต

สิงคโปร์มองทะลุโควิด ดึงบริษัทยาระดับโลกตั้งโรงงานผลิตวัคซีน รับมือโรคระบาดอนาคต

13 พฤษภาคม 2021


วัคซีนของ BioNTech ที่ผลิตร่วมกับ Pfizer ที่มาภาพ: https://investors.biontech.de/static-files/fa9dd361-33e7-4277-aa24-565afe0a32e4

BioNTech (ไบออนเทค) บริษัทยาจากเยอรมนี ประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมว่า จะจัดตั้ง สำนักงานใหญ่ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสิงคโปร์ รวมทั้งจะสร้างโรงงานขึ้นเพื่อผลิตวัคซีน mRNA และยาอื่นๆ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อและมะเร็ง

โรงงานนี้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2566 ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนีระบุว่า จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายการผลิตสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดในอนาคต

BioNTech ได้ร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับไฟเซอร์ (Pfizer) ผู้ผลิตยาของสหรัฐอเมริกา โดยใช้เทคโนโลยี mRNA ที่ใช้สารพันธุกรรมกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัส

การขยายธุรกิจของ BioNTech ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงการค้า บริษัทคาดว่าจะสร้างงานเพิ่มได้มากถึง 80 ตำแหน่งในประเทศ

โรงงานแห่งใหม่นี้จะเป็นฐาน “ในการส่งมอบวัคซีนชนิด mRNA ในระดับภูมิภาคและระดับโลก” และเป็นฐาน “ในการผลิตสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดของโรค” แถลงการณ์บริษัทระบุ

อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง BioNTech กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การมีหลายโหนดในเครือข่ายการผลิตของเราถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างพื้นที่ธุรกิจและขีดความสามารถระดับโลกของเรา”

“ด้วยโรงงานผลิต mRNA ที่วางแผนไว้นี้ เราจะเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายโดยรวมและขยายความสามารถในการผลิตและส่งมอบวัคซีน mRNA และการรักษาของเราให้กับผู้คนทั่วโลก”

สำหรับมูลค่าการลงทุนในสิงคโปร์ “อยู่ในช่วงหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ”

“เรามองว่านี่เป็นการลงทุนระยะยาวด้านไบโอเทคในสิงคโปร์ … ซึ่งไปไกลกว่าโควิด-19”

การมีโรงงานในสิงคโปร์หมายความว่าวัคซีน “ส่วนหนึ่ง” ที่ผลิตได้จะจัดสรรให้สิงคโปร์

โรงงานใหม่นี้จะเป็นโรงงานผลิตแห่งแรกนอกประเทศเยอรมนี และเป็นสำนักงานแห่งแรกนอกยุโรปและอเมริกา

แถลงการณ์ระบุว่า โรงงานแห่งใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ของสิงคโปร์นี้ “จะใช้ประโยชน์จากการผลิตที่ล้ำสมัยและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” โดยจะมีความสามารถในการ “ผลิตวัคซีน mRNA ใหม่ๆ และการบำบัดรักษาโรคติดเชื้อ และมะเร็ง”

โรงงานนี้จะทำงานโดยระบบอัตโนมัติด้วย “ความสามารถในการผลิต mRNA แบบ end-to-end ทั้งวัตถุดิบตัวยาสำคัญ ผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป และการบรรจุและปิดผนึก โดยมีกำลังการผลิตวัคซีน mRNA ประมาณหลายร้อยล้านโดสต่อปีของทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ละชนิด

ไรอัน ริชาร์ดสัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ BioNTech กล่าวว่า การที่เลือกสิงคโปร์เพราะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก และเพราะมี “คนที่มีความสามารถที่เราอยากร่วมงานด้วย” สิงคโปร์มี “บรรยากาศทางธุรกิจที่สมบูรณ์แบบ” สำหรับ BioNTech ในการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายชาน ชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวในการแถลงข่าวว่า การลงทุนใหม่นี้เป็นการ “ส่งเสริม” ระบบนิเวศของยาชีวเภสัชภัณฑ์ในประเทศ

นายชานกล่าวว่า เทคโนโลยี mRNA ใหม่ช่วยลดเวลาที่ใช้ในการผลิตวัคซีนได้อย่างมาก โรงงานแห่งใหม่นี้ยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่มีอยู่หลากหลายในสิงคโปร์

“ในอนาคตจะมีไวรัสใหม่ๆ อุบัติขึ้น และสิ่งที่เราต้องการ คือ ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่ง เพื่อให้แน่ใจว่าเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราอย่างต่อเนื่องครบวงจรในเวลาที่เหมาะสม เพื่อรองรับตลาดในประเทศและภูมิภาคของเรา”

เมื่อเร็วๆนี้ BioNTech และ Pfizer ได้อนุญาตและจัดทำความร่วมมือด้านการผลิตกับบริษัทยาอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงบริษัท เมอร์ค (Merck) ของอเมริกา โนวาร์ทิสจากสวิตเซอร์แลนด์ และซาโนฟีจากฝรั่งเศส

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐฯ ระบุว่า วัคซีนของ BioNTech ต้องใช้ 2 โดส โดยฉีดระยะห่างกัน 21 วันและวัคซีนมีประสิทธิภาพ 95% ในการป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันในห้องปฏิบัติการในผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อมาก่อน

นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประเทศต่างๆ ได้พยายามจัดหาวัคซีนเพื่อให้เพียงพอกับการฉีดวัคซีนประชากรของตน เมื่อเดือนที่แล้วองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศที่ร่ำรวยได้รับเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ขณะที่ประเทศยากจนได้รับไม่ถึง 1%

ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/vaccines-therapeutics-manufacturing-future-pandemic-covid-19-14561302?cid=h3_referral_inarticlelinks_24082018_

ซาโนฟีลงทุนตอกย้ำฐานะสิงคโปร์ผู้นำการผลิตขั้นสูง

ในวันที่ 12 เมษายน ซาโนฟีบริษัทยาจากฝรั่งเศส ประกาศลงทุน 400 ล้านยูโร หรือ 637.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วง 5 ปี สร้างโรงงานผลิตวัคซีนแห่งใหม่ในสิงคโปร์

ซาโนฟีระบุว่า โรงงานแห่งใหม่ตั้งอยู่ที่นิคมชีวการแพทย์ทูอาส (Tuas Biomedical Park) จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถผลิตวัคซีนที่คิดค้นและพัฒนาในระดับใหญ่สำหรับเอเชียและตอบสนองต่อความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดในอนาคต

ซาโนฟีคาดว่าโครงการนี้จะสร้างงานในท้องถิ่นได้มากถึง 200 ตำแหน่ง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในไตรมาสที่สามของปี 2564 และเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบในไตรมาสแรกของปี 2569

“โรงงานในสิงคโปร์จะเสริมศักยภาพการผลิตที่มีอยู่ของซาโนฟีในยุโรปและอเมริกาเหนือและจะกลายเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศระดับภูมิภาคสำหรับการผลิตวัคซีนในเอเชีย” บริษัทระบุ

ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ (EDB) เบห์ สวาน จิน กล่าวว่า “การตัดสินใจของซาโนฟีในการตั้งศูนย์การผลิตวัคซีนที่ใช้ระบบดิจิทัลแห่งแรกในเอเชียที่สิงคโปร์ เพื่อส่งป้อนให้ตลาดในภูมิภาคและที่อื่นๆ ถือเป็นการรับรองตำแหน่งของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางชั้นนำสำหรับการผลิตขั้นสูง”

โรงงานในสิงคโปร์จะมีโมดูลดิจิทัลเต็มรูปแบบหลายโมดูลที่ทำให้ผลิตวัคซีนได้ 3-4 ตัวพร้อมกัน เทียบกับที่ผลิตได้เพียงตัวเดียวในโรงงานเดิม

นอกจากนี้ โรงงานจะมีความยืดหยุ่นในการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่หลากหลายตามชนิดของเซลล์

“การวางระบบเป็นโมดูลและความยืดหยุ่นนี้จะช่วยให้การผลิตวัคซีนเฉพาะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในกรอบระยะเวลาที่เร็วขึ้น ตามความจำเป็นด้านสาธารณสุข” บริษัทระบุ

โรงงานนี้ยังได้รับการออกแบบให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการใช้ทรัพยากรและการผลิตของเสีย

ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/sanofi/49697603176/in/album-72157654981545952/

ในวันที่ 12 เมษายน นายชาน ชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม สิงคโปร์ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า เมื่อโรงงานพร้อมใช้งานในปี 2569 เช่นเดียวกับโรงงานของ GSK Biologicals และ Thermo Fisher Scientific สิงคโปร์จะมี “ความสามารถเต็มที่สำหรับการผลิตแบบครบวงจร (end-to-end) ของ วัคซีนเกือบทุกชนิด” สำหรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“มันจะทำให้เรามีความสามารถในการรับมือมากขึ้นทั้งในแง่สุขภาพร่างกายและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างจุดยืนของเราในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าวัคซีนระดับโลก”

นายชานได้เน้นย้ำถึงความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกรอบทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์และความพร้อมของคน

“บริษัทอย่างซาโนฟีและ GSK ลงทุนที่นี่เพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่าสิงคโปร์เป็นที่ที่มั่นใจได้ว่า ความคิดของพวกเขาจะได้รับการปกป้องและดำเนินการได้ และเรามีคนงานที่เชื่อถือได้และมีทักษะพร้อมรองรับ” เขากล่าว

ซาโนฟีกำลังพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ชนิดที่ใส่โปรตีนของไวรัสเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน ร่วมกับ GSK ซึ่งเป็นบริษัทยาของอังกฤษ

ผู้ผลิตยาทั้งสองรายมีเป้าหมายที่จะทดสอบวัคซีนระยะสุดท้ายในไตรมาสที่สองของปี 2564 และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในไตรมาสที่สี่

ซาโนฟียังทำงานร่วมกับ Translate Bio บริษัทด้านการบำบัดโรคของสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี mRNA

สิงคโปร์เจรจาดึงบริษัทหลายแห่งรับมืออนาคต

สิงคโปร์เองกำลังเจรจากับบริษัทยาหลายแห่งเพื่อให้ผลิตวัคซีน ยารักษาในประเทศ โดยนายชาน ชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเปิดเผยเมื่อวันที่ 5 เมษายน ว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทยาหลายแห่งเพื่อผลิตวัคซีนและยารักษาโรคในสิงคโปร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโครงการโรงงานผลิตวัคซีนมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายชานกล่าวในการตอบคำถามของรัฐสภาว่า “สิงคโปร์มีภาคการผลิตยาที่สามารถแข่งขันได้ทั่วโลก”

“บริษัทยาทั้ง Amgen, Pfizer, GSK และ Sanofi ได้ลงทุนที่นี่เพื่อต่อยอดจากคนของเราที่มีทักษะความสามารถ มีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนา และมีขีดความสามารถในการผลิตที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความเชื่อมโยงกับโลกที่โดดเด่น

สำหรับคำถามของรัฐสภาที่ว่า สิงคโปร์อำนวยความสะดวกในการผลิตวัคซีน โควิด-19 ให้บริษัทยาหลายแห่งที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันอย่างไร และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิงคโปร์มีขีดความสามารถที่จำเป็นภายในประเทศในการผลิตวัคซีนสำหรับการใช้งานของประชาชนในการเกิดโรคระบาดในอนาคตนั้น นายชานกล่าวถึงแผนที่จะสร้างโรงงาน “บรรจุและปิดผนึก” มูลค่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีนและการบำบัดรักษา

นายชาน ชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม สิงคโปร์ ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/zero-foreign-labour-growth-hard-to-achieve-without-serious-12390582

โครงการนี้ได้มีการประกาศในเดือนตุลาคมปี 2020 โดย บริษัท Thermo Fisher Scientific ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชีววิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“โรงงานแห่งใหม่นี้มีสายการบรรจุใหม่ 2 สาย ได้แก่ สายการผลิตปลอดเชื้อความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองสำหรับการเติมไวรัสเชื้อเป็น ซึ่งจัดว่ามีสมรรถนะสูงมากแห่งแรกในสิงคโปร์”

เมื่อเปิดดำเนินการในปี 2565 โรงงานแห่งนี้จะผลิตยาฆ่าเชื้อได้ถึง 30 ล้านโดสต่อเดือน” นายชานกล่าว “รวมทั้งมีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนและยารักษาที่หลากหลายและเพิ่มความสามารถของสิงคโปร์ฝนการรับมือต่อการระบาดในอนาคตหลังโควิด-19”

การดึงดูดผู้ผลิตกลุ่มนี้มายังสิงคโปร์จะช่วยเสริมการดำเนินการที่ต่อเนื่องของรัฐบาลในการพัฒนาผู้บริหารด้วยชุดทักษะเฉพาะที่จำเป็นสำหรับการผลิตวัคซีนและการบำบัดโรค นายชานกล่าว

นอกจากนี้จะ “เสริมสร้างกลยุทธ์ของเราในการดูแลบริษัทในประเทศในภาคอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม สามารถเสริมสร้างการตอบสนองของเราต่อการระบาดในอนาคต”

Thermo Fisher ประกาศเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า โรงงานจะสามารถ “ตอบสนองความต้องการในภูมิภาคและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกจากสองสายการบรรจุ แล้วโรงงานแห่งนี้ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจยังมีห้องปลอดเชื้อ ห้องปฏิบัติการ คลังสินค้า และสำนักงานเพื่อรองรับการผลิตอีกด้วย และมีพนักงานมากกว่า 300 คน