ThaiPublica > คนในข่าว > Fortune ยกย่อง “จาซินดา อาร์เดิร์น” ผู้นำโลกที่ยิ่งใหญ่อันดับ 1 แบบอย่างผู้นำในยามวิกฤติ

Fortune ยกย่อง “จาซินดา อาร์เดิร์น” ผู้นำโลกที่ยิ่งใหญ่อันดับ 1 แบบอย่างผู้นำในยามวิกฤติ

21 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรี นิวซีแลนด์ ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Jacinda_Ardern

ในการจัดอันดับ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่สุดของโลก 50 คนในปี 2021 นิตยสาร Fortune เลือกจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรี นิวซีแลนด์ ขึ้นเป็นอันดับ 1 จาซินดา อาร์เดิร์นได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มาตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำของนิวซีแลนด์ โดยนำพาประเทศฝ่าวิกฤติการก่อการร้าย ที่โจมตีสุเหร่าเมืองไครสต์เชิร์ช และภูเขาไฟระเบิด

Fortune กล่าวว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อาร์เดิร์นดำเนินการที่จะหาทางกำจัดไวรัสโควิด-19 ให้หมดไปด้วย นิวซีแลนด์มีประชากรเกือบ 5 ล้านคน มีคนติดเชื้อ 2,700 ราย และมีคนเสียชีวิต 26 คน ในปี 2020 อาร์เดิร์นและคณะรัฐมนตรีลดเงินเดือนตัวเอง 20% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียว กับคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผู้นำสไตล์ “เห็นอกเห็นใจคนอื่น”

Fortune กล่าวว่า ผู้นำที่ติดอันดับในปีนี้ หลายคนปรากฏตัวขึ้นมาแทบจะทันทีทันใด เพราะมีความเป็นผู้นำในการเผชิญหน้ากับวิกฤติ ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เช่น ผู้บริหารของ Pfizer, BioNTech และ Moderna ที่ผลิตวัคซีนแบบ mRNA ผู้นำที่สามารถเผชิญหน้ากับวิกฤติแบบนี้ จะมีลักษณะที่นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ เคยกล่าวไว้ว่า

“คนที่เชื่อมั่นที่จะยืนอย่างโดดเดี่ยว มีความกล้าหาญที่จะตัดสินใจในเรื่องยากลำบาก และมีความเห็นอกเห็นใจ ที่จะรับฟังถึงสิ่งที่เป็นความต้องการของคนอื่น”

จาซินดา อาร์เดิร์น ยังร่วมกับเอมมานูเอล มาคอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในการเรียกร้องให้บริษัทไฮเทค พัฒนาอัลกอริทึมขึ้นมา เพื่อกำจัดคอนเทนต์เรื่องการก่อการร้ายและความรุนแรง ที่อยู่ในโลกออนไลน์ การรณรงค์ดังกล่าวเรียกว่า “เสียงเรียกร้องไครสต์เชิร์ช” (Christchurch Call) การริเริ่มนี้เกิดขึ้น หลังจากการโจมตีสุเหร่ามุสลิมเมืองไครสต์เชิร์ช เมื่อเดือนมีนาคม 2019 มีคนเสียชีวิต 51 คน โดยคนที่เข้าไปโจมตีได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในอินเตอร์เน็ต

ที่มาภาพ : amazon.in

หนังสือ Jacinda Ardern: Leading With Empathy (2021) เขียนไว้ว่า วันที่ 22 มีนาคม 2019 จอภาพของตึก Burj Khalifa นครดูไบ ที่สูง 829 เมตร ปรากฏภาพของจาซินดา อาร์เดิร์น ที่เป็นรูปในงานพิธีวางพวงหรีด หลังจากการโจมตีสุเหร่าเมืองไครสต์เชิร์ช ท่าทีต่อชุมชนมุสลิม ทำให้คนมุสลิมหลายล้านคนทั่วโลก ประทับใจในตัวเธอ รวมทั้งเจ้าผู้ครองนครดูไบ Sheik Mohammed bin Rashid al-Maktoum

ท่าทีและการแสดงออกถึงความรู้สึกเห็นใจคนที่ประสบปัญหายากลำบาก หรือ Compassion ของจาซินดา อาร์เดิร์น ได้สร้างกระแสความนิยมของคนนิวซีแลนด์ในตัวเธอ

ชัยชนะของเธอในการเลือกตั้งปี 2017 สะท้อนสิ่งที่เป็นความต้องการของคนนิวซีแลนด์ คือสังคมที่ดีขึ้นและยุติธรรมมากขึ้นในการการเผชิญหน้ากับการก่อการร้าย

การแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจของเธอ ที่มีต่อครอบครัวของเหยื่อที่เคราะห์ร้าย ทำให้โลกเกิดความหวังถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนต่างศาสนา

หนังสือ Jacinda Ardern กล่าวอีกว่า การแสดงออกที่เห็นอกเห้นใจของจาซินดา อาร์เดิร์น ต่อคนที่ประสบเคราะห์กรรม เป็นความรู้สึกที่แสดงออกมาอย่างจริงใจ ไม่ใช่เรื่องประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ ความรู้สึกเห็นใจคนอื่นจึงเป็นคุณสมบัติส่วนตัวและคุณสมบัติทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่สุดของเธอ

เมื่อผู้นำการเมืองกล้าแสดงออกในสิ่งที่เป็นความรู้สึกที่เห็นอกเห็นใจคนอื่น สิ่งนี้จะทำให้สังคมสามารถก้าวข้ามความแตกแยกทางการเมืองและทางวัฒนธรรม เพื่อไปสร้างความสามัคคีในหมู่คนกลุ่มต่างๆ

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรี นิวซีแลนด์ ที่มาภาพ httpswww.facebook.comjacindaardern

ทำไมผู้นำสไตล์อาร์เดิร์นจึงสำคัญ

บทความของ New York Time ชื่อ Why Jacinda Ardern Matters กล่าวว่า จาซินดา อาร์เดิร์นเป็นผู้นำแบบก้าวหน้า มีความคิดสมัยใหม่ (progressive) ที่ตรงกันข้ามกับผู้นำแบบอำนาจนิยม เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ นเรนทา โมทีของอินเดีย หลังจากเหตุการณ์สังหารคนมุสลิมในสุเหร่าเมืองไครสต์เชิร์ช โดยคนผิวขาวจากออสเตรเลีย คำพูดของเธอกลายเป็นกรอบความคิดและท่าทีของคนนิวซีแลนด์ ในยามที่ประเทศเผชิญความวิปโยค จาซินดา อาร์เดิร์นกล่าวว่า

“หลายคนที่ได้รับผลกระทบ เป็นสมาชิกชุมชนผู้อพยพของเรา นิวซีแลนด์คือบ้านของพวกเขา พวกเขาก็คือพวกเรา”

ความเห็นใจหรือความเข้าใจคนอื่น (compassion) ได้รับการยอมรับจากความคิดทางศาสนาและปรัชญาว่า เป็นความคิดที่สูงส่ง เพราะความเห็นใจคนอื่นเป็นความคิดที่จะรวมสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่อดีตแล้วว่า ความรู้สึกเห็นใจคนอื่น เป็นลักษณะความคิดความรู้สึกของสตรี

ดาไล ลามะ ผู้นำทางศาสนาของทิเบตเคยกล่าวว่า “สตรีแสดงออกว่าเป็นคนอ่อนไหวต่อความยากลำบากของคนอื่น ส่วนพวกนักรบแทบทั้งหมด ที่ชื่นชมการสังหารฝ่ายตรงกันข้าม ล้วนเป็นพวกผู้ชาย เราจำเป็นที่จะต้องได้เห็นสตรีมีบทบาทการเป็นผู้นำมากขึ้น เพื่อทำให้โลกเราน่าอยู่ดีขึ้น”

จาซินดา อาร์เดิร์น ปัจจุบันอายุ 41 ปี ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เมื่อตุลาคม 2017 และเธอนำพรรคแรงงานชนะการเลือกทั่วไปอย่างท่วมท้นในปี 2020 สำหรับคนนิวซีแลนด์แล้ว การมีผู้นำประเทศและนักการเมือง ที่พูดเรื่องการเอื้ออาทรกันและกัน ถือว่าคนทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของสังคม (inclusive) และความยุติธรรมทางสังคม เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น

อาร์เดิร์นยังแสดงความมุ่งมั่นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพ การแก้ปัญหาโลกร้อน ความยากจนของเด็กเล็ก และความรุนแรงในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ทำให้คนนิวซีแลนด์รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เป็นเรื่องเป็นไปได้ คำขวัญในการหาเสียงเลือกตั้งของเธอคือคำว่า “ไม่หยุดที่จะทำในสิ่งที่ดี” (Relentlessly Positive)

ก่อนหน้าที่จะเสนอแก้กฎหมายการครองอาวุธปืนต่อรัฐสภา ภาพที่เธอไปให้กำลังใจแก่ครอบครัวมุสลิมที่เสียชีวิตจากการก่อการร้าย เธอจะสวมผ้าคลุมศีรษะสีดำ ถือเป็นการแสดงท่าทีที่มีความหมายสำคัญ เพราะที่ในหลายประเทศตะวันตก กำลังพิจารณาออกกฎห้ามผู้หญิงมุสลิมสวนผ้าคลุมศีรษะ

หลังจากการก่อการร้าย อาร์เดิร์นพยายามสร้างความเข็มแข็งให้กับอุดมการณ์รัฐ ทำให้ความคิดของรัฐมีฐานะนำเหนือกว่าทัศนะอคติของบุคคลเป็นรายๆ เธอตระหนักดีว่า

การเมืองเป็นพื้นที่ทางอุดมการณ์และความคิด ที่จะชี้ชะตาค่านิยมของประแทศ และการทิศทางอนาคตของสังคม

เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์บอกกับเธอว่า สหรัฐฯจะให้การสนับสนุนต่อนิวซีแลนด์ เธอตอบกลับไปว่า วิธีดีที่สุดที่ทรัมป์จะช่วย คือ “แสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ชุมชนมุสลิม”

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรี นิวซีแลนด์ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/jacindaardern/

เสียงเรียกร้องจากไครสต์เชิร์ช

หลังจากการก่อการร้ายที่ไครสต์เชิร์ช การแก้กฎหมายเรื่องการครอบครองอาวุธปืน เป็นเรื่องทำได้ง่าย แต่สิ่งที่ยากคือ เรื่องการป้องกันไม่ให้ความคิดหัวรุนแรงและคำพูดสร้างความเกลียดชัง ไปปรากฏอยู่ในในโซเชียลมีเดีย เหตุการณ์สังหารคนมุสลิมที่สุเหร่าไครสต์เชิร์ช ถูกนำไปเผยแพร่ใน Facebook และ YouTube โดยมีการแชร์ภาพเหตุการณ์กว่า 300,000 ครั้ง

เดือนพฤษภาคม 2019 อาร์เดิร์นกับผู้นำฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาคอง ริเริ่มการประชุมระหว่างประเทศต่างๆกับบริษัทไฮเทค เรียกว่า Christchurch Call เพื่อหาทางยุติการที่คนบางกลุ่มใช้โชเซียลมีเดีย เพื่อดำเนินการและส่งเสริมการก่อการร้ายกับความรุนแรง มี 55 ประเทศลงนามแล้วในข้อตกลงที่ไม่มีข้อผูกพันนี้ ล่าสุด รัฐบาลโจ ไบเดนได้เข้าร่วมข้อตกลง ส่วนบริษัทไฮเทคที่ลงนามข้อตกลงแล้ว คือ Amazon, Facebook, Google, Twitter และ YouTube

ประเทศและบริษัทไฮเทคที่ลงนามข้อตกลง Christchurch Call ประกาศที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นความโปร่งใสมากขึ้น และปรับปรุงอัลกอริทึม เพื่อหาทางลดการแพร่ระบาดของเนื้อหาและแนวคิดความรุนแรงในอินเทอร์เน็ต ความก้าวหน้าเบื้องต้นคือมีการออกแนวทางปฏิบัติ ในกรณีที่มีการก่อการร้าย แล้วนำเหตุการณ์ขึ้นถ่ายทอดในอินเทอร์เน็ต ข้อตกลง Christchurch Call ถือเป็นความสำเร็จทางการทูตของอาร์เดิร์นโดยตรง

จาซินดา อาร์เดิร์นเป็นตัวอย่างความเป็นผู้นำ ที่นำโดยการถือแนวคิดความเห็นอกเห็นใจคนที่ประสบปัญหา ผู้นำที่เป็นปากเสียงให้กับคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม เป็นนักการเมืองที่ทำงานเพื่อสนองสิ่งที่เป็นความต้องการที่จำเป็นของคนอื่น และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ในยามวิกฤติ สังคมต้องการผู้นำแบบไหน

คำพูดที่สะท้อนความเป็นผู้นำของเธอ คือสิ่งที่เธอกล่าวกับครอบครัวของคนมุสลิมที่เป็นเหยื่อการก่อการร้ายว่า

“เราไม่สามารถรู้ถึงความเจ็บปวดของพวกคุณ แต่เราสามารถเดินร่วมไปกับคุณในทุกก้าว”

ลักษณะความเป็นผู้นำดังกล่าวของจาซินดา อาร์เดิร์น ทำให้คาดหมายกันว่า ในที่สุดแล้ว เมื่อพ้นจากเป็นผู้นำของนิวซีแลนด์ อนาคตความเป็นผู้นำของเธอ คงจะไปจบลงที่องค์การสหประชาชาติ

เอกสารประกอบ
Why Jacinda Ardern Matters, March 19, 2019, nytimes.com
Jacinda Ardern: Leading with Empathy, Supriya Vani and Carl A. Harte, oneworld.