ThaiPublica > คอลัมน์ > ถึงเวลาต้องขึ้นภาษี…

ถึงเวลาต้องขึ้นภาษี…

5 พฤษภาคม 2021


ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย Department of Global Health and Population, Harvard T.H. Chan School of Public Health

อนาคตที่ไม่ง่าย

วิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19 ได้เปลื้องเปลือยความอ่อนแอและความเปราะบางในระดับโครงสร้างของสังคมไทย และทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนรวยสุดๆ และประชากรส่วนใหญ่ ยิ่งแผ่ขยายมากขึ้น

ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาการแพร่ระบาดของรัฐบาลไบเดน กล่าวในการสัมมนาออนไลน์ที่จัดโดย Harvard T.H. Chan School of Public Health สัปดาห์ที่แล้วว่า ประเทศสหรัฐฯ จะสามารถเข้าสู่สภาพปกติได้ ก็จะล่วงเลยไปถึงปลายปีนี้แล้ว แต่ระดับโลกยังไม่หยุดการแพร่ระบาดภายในสิ้นปีอย่างแน่นอน ปัจจุบันเรายังคงอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส ซึ่ง ดร.เฟาซีประเมินว่า ถ้าสหรัฐสามารถเพิ่มการฉีดวัคซีนได้ 3 ล้านโดสต่อวัน ภายในไม่กี่สัปดาห์ จะมีจุดเปลี่ยนของแนวโน้มการติดเชื้อ (แต่) ไม่ใช่ปราศจากการติดเชื้อ

สำหรับประเทศสหรัฐฯ เฉลี่ยฉีดวัคซีนย้อนหลัง 7 วัน ได้วันละ 2.4 ล้านโดส และสามารถฉีดไปแล้ว 44% ของประชากร (3 พ.ค. 2564) หากเป็นดังที่ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าว ก็น่าจะประเมินอนาคตประเทศไทยว่า แม้จะฉีดวัคซีนได้ครบ 50 ล้านคนในสิ้นปี ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายครั้ง

ในอนาคตอันใกล้ ถึงแม้ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้าหมายภายในธันวาคมปีนี้ ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้อีก จึงน่าจะต้องจัดหาวัคซีนมากกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เหมือนอย่างหลายประเทศชั้นนำในโลกที่จองวัคซีนมากกว่าจำนวนพลเมือง เพื่อรองรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส หรือกรณีที่มีการแพร่ระบาดและยังคงมีการเสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ ซี่งแน่นอนว่าฐานรากทางเศรษฐกิจในระดับกลาง ระดับล่าง ต่างลำบากย่ำแย่ และมีไม่น้อยที่หนักหนาสาหัสมาก

ทั้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายแห่งยุคสมัย ได้แก่ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาชีพจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายกว้างมากขึ้น เพราะคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี ทำงานที่เน้นใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ได้รับเงินเดือนค่าจ้างมากกว่า จะสามารถร่วมมือ (complement) กับเทคโนโลยี ในขณะที่แรงงานไร้ทักษะ ที่ทำงานใช้ทักษะไม่ค่อยซับซ้อน กำลังจะโดนแทนที่ (substitute) ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

อีกทั้งภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลต่อมนุษยชาติ ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยธรรมชาติทั้งคลื่นความร้อนและอากาศแปรปรวน ผลผลิตการเกษตรถูกทำลาย ความต้องการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ และ ผลกระทบต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล ซึ่งคนจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่า เพราะความสามารถที่จำกัดในการปรับตัว และ การขาดความคุ้มครองทางสังคม (social protection)

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ผู้สูงอายุมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยภายในอีก 20 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2583 หรือ ค.ศ. 2040 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรเมื่อนิยามผู้สูงอายุด้วยอายุ 65+ หรือ คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรเมื่อนิยามด้วยอายุ 60+

ประชากรที่เกิดยุค Baby Boom คือ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2506-2526 กำลังเข้าสู่อายุ 60 ปี ซึ่งหมายความว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี

หมายความว่า คนในวัยทำงานสร้างชาติในยุคสมัยถัดไป จำนวนมากจะต้องรับภาระเลี้ยงดูแลสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในวัยพึ่งพิง โดยไม่มีเงินไปลงทุนด้านการศึกษา หรือลงทุนทำธุรกิจ จะต้องลำบากโดยถ้วนหน้า ทั้งคนระดับกลาง และคนยากจน

คนรุ่นใหม่ส่วนมากประเมินอนาคตของตนเองในประเทศนี้ จึงเกิดเป็นกระแสโซเชียลที่ต้องการออกจากประเทศ เพราะเปรียบเทียบเห็นคุณภาพชีวิตหากไปใช้ชีวิตทำงานจ่ายภาษีในประเทศพัฒนาแล้ว

ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอัปลักษณ์มาก

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินติดอันดับแรกๆ ของโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 50 ตระกูลรวยที่สุด มีทรัพย์สินเพิ่มเฉลี่ยต่อปี 20-30% หรือรวยขึ้นเฉลี่ย 6 เท่า

โดย 50 ตระกูลรวยที่สุด มีทรัพย์สินรวมกัน 5 ล้านล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านล้านบาท เกือบ 70%

หากจำแนกการครอบครองที่ดินตามขนาดเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละเท่ากัน สัดส่วนการของกลุ่มมีที่ดินมากสุด ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มมีที่ดินน้อยสุด 300 กว่าเท่า

ผู้ที่ถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุดมักเป็นบุคคลไม่กี่ตระกูลที่เป็นอภิมหาเศรษฐี และมีมูลค่าการถือครองหุ้นทั้งหมดสูงเสียดฟ้า โดยในปี พ.ศ. 2553 และ 2554 ผู้ถือครองหุ้นมีมูลค่ามากที่สุด 10 อันดับแรก ถือครองหุ้นมีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 ล้านบาท

ต้นปี พ.ศ. 2564 ผู้ถือครองหุ้นมีมูลค่ามากที่สุด 10 อันดับแรก ถือครองหุ้นมีมูลค่ารวมกันเกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งรวยขึ้นกว่า 30,000 ล้านบาท จากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

งานวิจัยนานาชาติด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาสรุปว่า ปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำจะกดทับศักยภาพของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ช้ากว่า และทำให้ประเทศมีความเสี่ยงกับความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง

ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถสร้างความเสมอภาคได้มากขึ้น โดยการจัดสรรการถือครองทรัพย์สินใหม่ โดยใช้ภาษีทรัพย์สินในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ค่อนข้างยากและมีฐานภาษีแคบ จึงมีผลน้อยมากต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ หรือการเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

แต่การปฏิรูปโครงสร้างภาษี จะช่วยยกระดับรายได้ภาษีให้ใกล้เคียงกับ ‘ศักยภาพในการเสียภาษี’ และช่วยให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมและเสมอภาคมากขึ้น

ประเทศไทยขาดแคลนรายได้จากภาษี

การที่บริการสาธารณะและระบบรัฐสวัสดิการ มีไม่เพียงพอและคุณภาพย่ำแย่ ดังที่สะท้อนให้เห็นตั้งแต่ก่อนยุคโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะว่ารัฐมีงบประมาณจํากัด ซึ่งเกิดจากการเก็บภาษีได้น้อย

ประเทศไทยมีรายได้จากภาษีต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากอัตราภาษีที่ต่ำเกินไป การลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุน แต่ถ้าประเทศไทยสามารถเก็บภาษีได้เต็มศักยภาพ จะสามารถเพิ่มรายได้อย่างมาก

การลดหย่อนภาษีและการมีข้อยกเว้นต่างๆ ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง และคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มคนรวยสุด เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บรรดาเจ้าสัวที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรม หรือการโอนมรดกให้ลูกแฝด 2 คน คนละ เกือบ 100 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก เพราะมูลค่าที่รับโอนน้อยกว่า 100 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลย้อนหลังแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจโดยการกดค่าแรง ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยและค่าจ้างขั้นต่ำ เติบโตช้ากว่าผลิตภาพแรงงานและ GDP ซึ่งย่อมหมายความว่า ส่วนต่างมูลค่าจากผลิตภาพของแรงงานมีนายทุนเป็นผู้รับประโยชน์ แทนที่จะเป็นแรงงานซึ่งมีสิทธิโดยชอบธรรม

ความพยายามที่ผ่านมาในการปฏิรูปภาษียังไม่ประสบความสำเร็จสำหรับประเทศไทย เช่น ภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีอัตราภาษีที่ต่ำเกินไปและมีช่องโหว่หลายประการในการเลี่ยงภาษี

ในขณะที่คนรวยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าโดยเฉลี่ย มีช่องทางหลากหลายให้ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ภาระภาษีต่อรายได้น้อยกว่า และได้ประโยชน์มากที่สุดจากการให้สิทธิการหักลดหย่อนภาษีต่างๆ ซึ่งส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลง

ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐศาสตร์และทางศีลธรรม ภายในระยะอันสั้น นโยบายที่สามารถทำได้ คือ “Earmarked VAT” หรือ “การขึ้น VAT แบบกำหนดให้เอาเงินไปใช้ทำรัฐสวัสดิการ” เพื่อคุณภาพชีวิตของคนระดับกลางและระดับล่าง และป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ

ในระยะยาว ควรจะเร่งผลักดันให้มีการหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มภาษี เพื่อเรียกเก็บจากคนรวยสุดๆ ที่เรียกว่า “การปฏิรูปภาษี”

ทั้ง 2 วิธี จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีรายได้สำหรับงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละเป็นแสนล้านบาท

ความหวังเพื่อคุณภาพชีวิต

ผลจากโควิด-19 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อจำกัดในอนาคตที่จะต้องจ่ายหนี้สาธารณะ และศักยภาพในการเติบโตของประเทศได้หายไปมหาศาลจากเศรษฐกิจติดลบ ในขณะที่งบประมาณสำหรับสวัสดิการคุ้มครองประชาชนมีไม่เพียงพอ

ดังนั้น จึงได้เวลาแล้วที่ประเทศไทยต้อง “ปฏิรูปภาษีทั้งระบบ” และ “เพิ่ม VAT โดยกำหนดให้ใช้สำหรับสวัสดิการเท่านั้น” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้สนับสนุนมานานแล้ว และเป็นนโยบายปกติที่ทำกันในประเทศพัฒนาแล้ว

เมื่อประเทศไทยมาเจอวิกฤติในขณะนี้ แต่คนมีฐานะระดับสูงสุด 1% ที่อยู่บนยอดปิรามิด กลับสามารถสะสมความมั่งคั่งได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงสมควรที่จะเพิ่มภาษีได้แล้ว เพื่อดึงทรัพยากรจากคนรวยสุด กลับคืนมากระจายให้คนระดับกลางและระดับล่าง เพื่อความเป็นธรรม

การจะผลักดันได้สำเร็จนั้น จะต้องมาจากความต้องการของประชาชนผู้เสียภาษี โดยผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองแข่งขันกันนำเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก

พรรคที่เลือกตั้งครั้งก่อน ได้ยกมือไหว้ แทบจะก้มลงไปกราบขอคะแนนจากประชาชน พอเข้าไปอยู่ในสภาแล้ว ไม่สามารถทำได้อย่างที่หาเสียงไว้ คนไทยส่วนมากซึ่งมีวิจารณญาณใช้เหตุผล ก็ไม่ควรจะเลือกพรรคเหล่านี้อีก

เมื่อได้เงินมาแล้ว การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่ด้านสวัสดิการซึ่งมีประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน เช่น ลงทุนแบบถ้วนหน้าให้กับเด็กปฐมวัย มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพิ่มเงินชดเชยรายได้การตกงาน และเพิ่มการจัดบำนาญถ้วนหน้าเพื่อผู้สูงอายุที่อยู่นอกระบบ

การลงทุนด้านเด็กปฐมวัยและการศึกษา จะต้องเป็นแบบถ้วนหน้า แต่การชดเชยรายได้การตกงานและบำนาญผู้สูงอายุ ควรออกแบบระยะยาวให้เป็นระบบการคลังแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยสัดส่วนของงบประมาณเพื่อเป้าหมายด้านสวัสดิการแต่ละด้านต้องมีความยืนหยุ่น สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม แต่แน่นอนว่า งบประมาณที่เพิ่มขึ้น จะต้องใช้สำหรับสวัสดิการประชาชนโดยตรงเท่านั้น

บทสรุป

เมื่อ 20 ปีก่อน สมัยที่กำลังจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีผู้ที่คัดค้านและไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีงบประมาณเพียงพอ แต่ความก้าวหน้าของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยได้เป็นตัวอย่างความภาคภูมิใจในระดับโลก และยังเป็นข้อพิสูจน์ด้วยว่า “การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นบวกใดๆ สำหรับประเทศไทย สามารถที่จะเกิดขี้นเป็นจริงได้” ซึ่งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้กลายเป็นเป้าหมายและเจตนารมณ์ร่วมกันของมนุษยชาติในปัจจุบัน

ดังนั้น ประชาชน นักวิชาการ และนักการเมือง ที่มีความฝันอยากจะเห็นการจัดสรรทรัพยากรจากเงินภาษี เพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำสุดขีด และมีจัดลำดับความสำคัญงบประมาณใหม่ โดยมุ่งให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงควรที่จะมีความหวัง และ ช่วยกันขับเคลื่อนเรียกร้อง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งสมเหตุผลทั้งทางเศรษฐศาสตร์และศีลธรรม

อ้างอิง

‘Very strong degree of normality’ likely by year’s end

Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand

งานวิจัย เผยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่สูงกว่าประวัติศาสตร์ที่เคยมีมากว่า 8 แสนปี

ปี 64 ลานีญาแผลงฤทธิ์ แล้งกระจุกท่วมกระจาย

Climate change hits the poor hardest. Here’s how to protect them

คนรวยสุดขีดมันเป็นยังไง

เปิด10 อันดับเศรษฐีหุ้นไทยQ1 มั่งคั่งเพิ่มกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ภาษีที่ดินฯ กระเทือนใคร?

ภาษีที่ดินและมรดก: ใครมี ใครจ่าย ใครได้ประโยชน์

นักวิชาการชี้ความมั่งคั่งของไทยอยู่ที่ใคร! คน 20% ครองทรัพย์สินสุทธิเกินครึ่งประเทศ

5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความเหลื่อมล้ำและภาวะโลกร้อน โอกาสและความท้าทายใหม่ของไทย ปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เส้นทางสู่ความ(ไม่)เสมอหน้า ‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’

โครงการวิจัยการประมาณการงบประมาณสําหรับผู้สูงอายุและแหล่งที่มาของเงิน

เปิดงานวิจัย ความยากจนและขัดสน อุปสรรคต่อความพร้อมเด็กปฐมวัย

การพัฒนาประสิทธิภาพทางการคลังที่ยั่งยืนสำหรับระบบประกันสุขภาพ

ชี้แจกเงินคนจนไม่เลวร้าย แต่ต้องยั่งยืน ที่ทำอยู่คือหาเสียง ให้ครั้งเดียวก่อนเลือกตั้ง

เปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทยด้วยการปฏิรูปภาษี