ThaiPublica > คอลัมน์ > “เห็ด” และ “ผักชี” กับผู้บริหาร

“เห็ด” และ “ผักชี” กับผู้บริหาร

21 เมษายน 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

ใน 30 ปีของการเขียนคอลัมน์ประจำอย่างต่อเนื่องของผู้เขียน มีข้อเขียนที่ชอบมากเป็นพิเศษอยู่ชิ้นหนึ่งเพราะยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งเห็นว่าเป็นจริงยิ่งขึ้น จึงขอนำมาแก้ไขต่อเติมให้อ่านกันอีกครั้งครับ

ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหารในทุกระดับ อย่างไรก็ดีธรรมชาติของมนุษย์เป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้บริหารไม่ได้รับข้อมูลที่จริงแท้จนผู้บริหารสมควรดิ้นรนเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน

สองอุปสรรคสำคัญของผู้บริหารที่ผู้เขียนได้ประสบจากการเคยทำงานทั้งในภาครัฐ ภาคการเมืองและภาคเอกชน นั่นก็คือสิ่งที่ขอเรียกว่า “ด่านเห็ด” และ “ด่านผักชี”

อุปสรรคแรก เกิดจากการที่มนุษย์พยายามไม่ให้การทำงานของตนเองต้องยุ่งยากโดยไม่จำเป็น และ/หรือ ไม่ต้องการให้ผู้บังคับบัญชาเห็นข้อบกพร่องของตนเอง หรือเห็นตนเองในลักษณะที่ไม่น่าพึงประสงค์ จึงทำให้เกิด “ ทฤษฎีเห็ด” หรือ “ด่านเห็ด” ขึ้น ทฤษฎีนี้มีอยู่ว่า “ลูกน้องมักพยายามทำให้เจ้านายเป็นเสมือนเห็ด กล่าวคือให้อยู่ในความมืดเท่าที่เป็นไปได้ และรู้เห็นเรื่องต่าง ๆ เท่าที่อยากให้รู้ โดยอุปมาเหมือนเอาขี้วัว (bullshit) หรือ BS ป้อนเจ้านายอยู่เสมอ

ขี้วัวหรือ bullshit เป็นคำแสลงอเมริกันที่ไม่สุภาพ หมายถึงสิ่งไร้สาระ สิ่งที่ไม่สำคัญ สิ่งที่ไม่เป็นจริง ฯลฯ มักเรียกให้สุภาพหน่อยว่า BS หลายสายพันธุ์เห็ดนั้นชอบความมืดและชอบสารอาหารจากมูลวัวที่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ดังนั้นเห็ดจึงเติบโตได้ดีภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว

เจ้านายที่อยู่ในความมืดเหมือนเห็ดที่ถูกป้อนด้วยสิ่งไร้สาระอยู่เสมอก็จะ “เชื่อง” ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อง ทำให้ลูกน้องไม่ต้องทำงานหนัก งานไม่ยุ่งยาก และเจ้านายเห็นแต่สิ่งที่ลูกน้องอยากให้เห็น

ลูกน้องมักชอบให้แต่ข่าวดี ๆ แก่นาย (ในสมัยโบราณคนขี่ม้ามาส่งข่าวร้ายถูกตัดหัวบ่อย ๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายประเภทที่ชอบฟังแต่ข่าวดีหรือชอบรับฟังข้อมูลที่อยากได้ยิน เจ้านายมักจะไม่ได้ยินสิ่งซึ่งทำให้ตัวลูกน้องเองดูไม่ดี ดังนั้นการทำให้เจ้านายอยู่ในความมืดและป้อน BS ให้จึงเป็นกลยุทธ์ที่ลูกน้องจำนวนมากชอบกระทำ เฉพาะลูกน้องที่มีความมั่นใจในตนเอง มีหลักการ และเห็นประโยชน์ขององค์กรเท่านั้นที่จะเป็นกลุ่มที่มีทางโน้มไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้

ยิ่งนายขาดปัญญา ชอบคนสอพลอ ชอบคำหวานเท่าใดก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นเห็ดมากเท่านั้น “ด่านเห็ด” จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการได้รับข้อมูลที่รอบด้าน เจ้านายที่รู้ทัน และมีปัญญาจะไม่ยอมเป็นเห็ดง่ายๆ โดยพยายามดิ้นรนให้ได้รับข้อมูลระดับล่าง (street data) ที่ลูกน้องไม่ได้เสนอหรือพยายามปกปิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม

“ด่านเห็ด” นี้เป็นปราการที่ผู้บริหารในทุกระดับต้องพยายามฝ่าฟันผ่านไปให้ได้ด้วยการไม่ยอมเป็นเห็ด สิ่งที่ต้องระวังคือ BS เพราะมันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติในทุกองค์กร ถ้าหากไม่ระมัดระวังการเป็นเห็ดแล้ว BS จะท่วมตัวเจ้านายโดยไม่รู้ตัว

นอกจาก “ด่านเห็ด” แล้วยังมี “ด่านผักชี” เป็นอีกอุปสรรคในการบริหารงาน “ผักชีโรยหน้า” เป็นสำนวนไทยที่ลึกซึ้งและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตเนื่องจากคนไทยมักโรยหน้าอาหารด้วยผักชีเพื่อกลิ่นและความสวยงาม เช่น ข้าวต้ม อาหารประเภทผัด ขนมบางอย่าง หรือแม้แต่อาหารทอด

ผักชีจึงเป็นตัวแทนของความฉาบฉวย ความไม่ลึกซึ้ง ความไม่จริง เพราะเป็นเพียงการโรยหน้าให้เข้าใจผิด ผู้บริหารที่ไม่ระวังผักชี จะได้ข้อมูลที่ไม่ตรงความจริงเพราะหลงปลาบปลื้มกับสิ่งที่ลวง มองไม่ทะลุความฉาบฉวยจนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

หากผู้บริหารต้องการข้อมูลที่รอบด้านและจริงแท้ต้องระวังผักชีเป็นพิเศษ ต้องหัก “ด่านผักชี” ไปให้ได้จึงจะไม่หลงทาง และข้อสังเกตก็คือผักชีไทยนั้นมีความพิเศษที่มีกลิ่นรุนแรงและมีความคงทนอยู่ได้นานกว่าผักชีฝรั่งและผักชีลาวด้วย

เมื่อพิจารณาถึงการดำรงอยู่ของ “ด่านเห็ด” และ “ด่านผักชี” แล้ว ก็จะเห็นว่าผู้บริหารในทุกระดับจะนั่งอยู่เฉย ๆ รอรับข้อมูลไม่ได้ ต้องดิ้นรนหาข้อมูลที่ลูกน้องไม่ได้รายงานและต้องกระทำไปด้วยความ “หูหนัก” (ไม่เคยมีใครให้ข้อมูลที่ทำให้ตัวเองดูไม่ดี ดังนั้นความจริงมักจะอยู่กลาง ๆ ของข้อมูลเหล่านั้น)

ลองจินตนาการดูว่าหากผู้บริหารในทุกระดับเป็นเห็ดและชื่นชมผักชีที่งอกงามอยู่บนดินที่มาจาก BS เป็นพิเศษแล้ว องค์กรนั้นจะมีชะตากรรมอย่างไร

หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 20 เม.ย. 2564