แรงงานคืนถิ่นหลังโควิค 19 จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทยและเร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค:ข้อมูลจาก Mobile Big Data
โควิด-19 ระลอกที่ 3 ในต้นเดือน เม.ย. 2564 คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะสะดุดเป็นช่วงๆ ทั้งเกิดจากปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ การเข้าถึงและประสิทธิภาพวัคซีน รวมถึงโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่จะอยู่กับเราไปตลอดไปหรือไม่ บทความนี้จะนำผู้อ่านย้อนดูผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานในมิติการย้ายคืนถิ่นของช่วงการระบาดระลอกแรกและสองโดยใช้ข้อมูลเร็ว Mobile Big Data รวมถึงนัยทางนโยบายที่ทุกฝ่ายควรคว้าโอกาสนี้ทรานส์ฟอร์มภาคเกษตรและกระจายความเจริญสู่เศรษฐกิจฐานรากสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยยั่งยืนอย่างแท้จริง
ภาพอดีต: การย้ายถิ่นของไทยโน้มลดลง และภาคชนบทเกษตรยังรองรับแรงงานคืนถิ่นที่ถูกเลิกจ้าง
แรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชากรย้ายถิ่น1 คือ โอกาสการมีงานทำ รายได้ และฐานะความเป็นอยู่ ในภาพรวม กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นเข้าและย้ายถิ่นออกสูงสุด เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศและเป็นแหล่งงานสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีความต้องการย้ายถิ่นเข้ามาพำนักพักอาศัย ทำงาน หรือเพื่อเรียนหนังสือ และคนจากภาคอีสานครองแชมป์ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพฯ มากที่สุด2
ธปท. เคยศึกษา “พลวัตผลิตภาพแรงงาน” ที่มาจากเคลื่อนย้ายแรงงานไว้3โดยใช้สถิติการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานสุทธิที่ย้ายเข้าและย้ายออกในแต่ละภาคการผลิต ในช่วง 4 ทศวรรษ (ปี 2515–2557) พบว่า การย้ายถิ่นของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในช่วงแรกปี 2515 ถึงก่อนวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจมีแรงงานเคลื่อนย้ายสุทธิเฉลี่ยปีละ 1.3-1.5 ล้านคน แต่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ลดลงเหลือเฉลี่ยปีละ 6-8 แสนคน ถ้าเจาะดูในมิติเซ็กเตอร์พบว่า ผลิตภาพแรงงานที่มาจากเคลื่อนย้ายแรงงานจากเซ็กเตอร์ที่มีผลิตภาพต่ำเช่นภาคเกษตร ไปยังเซ็กเตอร์ที่มีผลิตภาพสูงกว่าในภาคอุตสาหกรรมและบริการลดลงไปมาก แต่เราก็ยังเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคบริการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีจำนวนน้อยกว่าในอดีต
ในมิติเชิงพื้นที่ ร้อยละ 60 ของการย้ายถิ่นในประเทศเป็นการย้ายถิ่นระหว่างจังหวัด โดยการย้ายถิ่นแบบถาวรเป็นแบบ “Rural-urban” ขณะที่การย้ายถิ่นแบบชั่วคราวเป็นแบบ “Urban-rural” ในส่วนการย้ายถิ่นตามฤดูกาลส่วนใหญ่เป็นการโยกย้ายแรงงานจากภาคอีสานและเหนือมายังกรุงเทพฯและปริมณฑลและภาคกลางในช่วงฤดูแล้ง และเป็นไปในทิศทางตรงข้ามในช่วงฤดูฝน เป็นที่น่าสังเกตว่าภาคชนบทเกษตรทำหน้าที่รองรับแรงงานคืนถิ่นที่ถูกเลิกจ้างจากเมืองในหลายวิกฤตในอดีต ยืนยันเชิงตัวเลขจากผลสำรวจของ สสช. ที่จัดทำในฤดูแล้งปี 2552 ที่ครอบคลุมช่วงการย้ายถิ่นชั่วคราว พบว่าร้อยละ 74 ของแรงงานย้ายถิ่นย้ายกลับภูมินำเนาเดิมเทียบกับร้อยละ 66 ในปี 2551 (จากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2552)4
ภาพปัจจุบัน: โควิด-19 ทำให้เกิดแรงงานย้ายถิ่นกลับฐานที่มั่น: ข้อเท็จจริงจาก Mobile Big Data
โควิด-19 เร่งให้สร้างนวัตกรรมใหม่จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยมนุษยชาติบริหารวิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้ ที่สำคัญคือการใช้ App บนโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตาม/ควบคุมการแพร่เชื้อของโรคที่ไปกับการเคลื่อนย้ายของคน ทำให้มีดีมานด์จากหลายฝ่ายต่อข้อมูลเร็ว Mobile Big Data เพื่อใช้ประเมินผลกระทบและออกมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม รวมถึงการแชร์ข้อมูลเพื่อวางนโยบายสาธารณะร่วมกัน5
ผู้เขียนได้ใช้ฐานข้อมูล Telco ของ True Digital Group6 ของผู้ใช้มือถือประมาณ 20 ล้านคน ช่วง 1 ม.ค. 62 – 28 ก.พ. 64 เป็นข้อมูล Aggregate ไม่แยกแยะข้อมูลรายบุคคล เพื่อศึกษาพฤติกรรมการย้ายคืนถิ่นของแรงงานที่ครอบคลุมช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรก เริ่ม 26 มี.ค. 63 และช่วงซอฟล็อกดาวน์ครั้งสอง มีข้อค้นพบดังนี้
1. ในภาพรวม แรงงานย้ายคืนถิ่นกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ทั่วประเทศ สะท้อนจากจำนวนประชากรทั้งย้ายเข้าสุทธิและย้ายออกสุทธิ ในช่วง ก.พ. – เม.ย. 63 รวมกัน 2.0 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงหลังของปี 63 จำนวนกว่า 2 แสนคนต่อเดือน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี(ร้อยละ 80) และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยเทียบเคียงจากข้อมูลจ่ายบิลค่าโทรศัพท์เดือนละ 0-99 บาท สอดคล้องกับผลสำรวจแรงงานนอกระบบโดยจุฬาฯ7 ที่พบว่าแรงงานย้ายคืนถิ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร การตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเพื่อความอยู่รอด (รูป 1)
2. ในมิติเชิงพื้นที่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวหลัก ชลบุรี ภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่จังหวัดในภาคอีสานและนครศรีธรรมราชมีแรงงานย้ายเข้าจำนวนมาก เฉพาะเดือน ก.พ. มีประชากรย้ายออกจากกรุงเทพฯ สูงถึงร้อยละ 58 ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด สะท้อนว่าแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ถูกลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้และไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ และตัดสินใจกลับบ้านฐานที่มั่นบ้านเกิดของตนเอง (รูป 2)
3. การระบาดระลอกสองตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 63 พบว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าและออกสุทธิก็มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าช่วงการระบาดรอบแรก อาจเป็นผลจากแรงงานย้ายคืนถิ่นไปมากแล้วในระลอกแรก และการเคลื่อนย้ายแรงงานในจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ ภูเก็ตและกระบี่ก็ยังเบาบางเนื่องจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว
ภาพอนาคต: จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทยและเร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริง
คงจะไม่มีบ่อยครั้งนักที่จะมีคลื่นอพยพแรงงานเมืองที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเทคโนโลยีย้ายคืนถิ่นมากเช่นครั้งนี้ ไทยต้องคว้าโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริง เพื่อดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาคเกษตรต่อไป เพื่อเป็นกำลังสำคัญสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ และทางการควรจัดหาทรัพยากร (ที่ดินและน้ำ) ความรู้เชี่ยวชาญ และช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์แก่เกษตรกรทุกกลุ่ม รวมทั้งพัฒนาและแชร์ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ระหว่างกันเพื่อช่วยวางแผนพัฒนาภาคเกษตรในทุกมิติ
ความท้าทายข้างหน้า คือ ทำแผนงานที่มีอยู่ดีแล้ว ให้เกิดขึ้นจริง ส่งผลวงกว้าง และต่อเนื่อง สมดังพระราชดำรัสของในหลวง ร. 9 “…เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ…”
รายงานโดย ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย, วริศ ทัศนสุนทรวงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ้างอิง
[1] การย้ายถิ่น คือ การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยจากพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมย้ายไปอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นระยะสั้นๆ หรือถาวร ซึ่งอาจจะย้ายภายในประเทศหรือต่างประเทศ (วรรณา ก้องพลานนท์ (2558), สภาพปัญหาและการปรับตัวของแรงงานไทย ย้ายถิ่น รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
[2] บทความนานาสาระข้อมูลประชากร “คนอีสานครองแชมป์ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพ”, สำมะโนประชากรและเคหะ, สสช.
[3] เสาวณี จันทะพงษ์ และคณะ (2556), กระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและทิศทางข้างหน้า: วิเคราะห์จากมุมมองตลาดแรงงาน, โครงการศึกษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป สายนโยบายการเงิน ธปท.
[4] Overview of Internal Migration in Thailand, This brief is part of a series of Policy Briefs on Internal Migration in Southeast Asia jointly produced by UNESCO, UNDP, IOM, and UN-Habitat, 24 Jan 2018
[5] Understanding Human Mobility With Mobile Phone Data: Expert Opinions and Stories Blog, UNESCAP 2 April 2021 และ COVID-19 Widens Gulf of Global Data Inequality, While National Statistical Offices Step Up to Meet New Data Demands by Haishan Fu & Stefan Schweinfest, World Bank Blogs, June 05, 2020
[6] ฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากโทรศัพท์มือถือ (Mobile Big Data) Telco ของ True Digital Group ซึ่งมีผู้ใช้มือถือประมาณ 20 ล้านคน ระยะเวลา 26 เดือน ตั้งแต่ 1 ม.ค. 62 ถึง 28 ก.พ. 64 เป็นข้อมูลรวม (Aggregate) ไม่แยกแยะข้อมูลรายบุคคล ลักษณะตัวอย่างประชากรที่ไม่ระบุชื่อ ข้อมูลแบ่งหลายมิติ เช่น รายวัน รายเดือน และลักษณะการใช้งานโทรศัพท์ของแต่ละบุคคล บทความนี้ผู้เขียนเลือกใช้ข้อมูลรายเดือนเนื่องจากข้อมูลรายวันนั้นถูกจัดเก็บมาในรูปแบบชื่อวันของสัปดาห์ เช่น วันจันทร์ วันอังคาร เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถรู้ได้ว่าวันของสัปดาห์นั้น เป็นวันอะไรในปฎิทิน
[7] COVID-19: Social Distancing และคลื่นอพยพของประชากรจากมิติสังคมวิทยา: พลังไทย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” โดยเสาวณี จันทะพงษ์ ทศพล ต้องหุ้ย รัตติยา ภูละออ และมนทกานต์ ฉิมมามี, บทความสายนโยบายการเงิน ธปท. 4 เม.ย. 2563