ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “พิชาญ ทิพวงษ์” ทิ้งชีวิต “นรก” คนเมือง กลับไปแก้ปัญหาภัยแล้ง ‘ชุมชนป่าภูถ้ำ’ พื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในภาคอีสาน

“พิชาญ ทิพวงษ์” ทิ้งชีวิต “นรก” คนเมือง กลับไปแก้ปัญหาภัยแล้ง ‘ชุมชนป่าภูถ้ำ’ พื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในภาคอีสาน

13 เมษายน 2021


นายพิชาญ ทิพวงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ จังหวัดขอนแก่น

พื้นที่ชนบทของไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหา ‘ภัยแล้ง’ อย่างรุนแรงถึงขนาดที่แม้แต่ชาวบ้านที่เกิดและเติบโตในพื้นที่นั้นๆ แทบไม่สามารถทำมาหากินในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้

เพราะน้ำคือชีวิต

ด้วยเหตุนี้คนต่างจังหวัดจำนวนมากจึงต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนแล้วไปใช้แรงงานในเมืองใหญ่ รวมทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร

หนึ่งในนั้นคือ “พิชาญ ทิพวงษ์” ที่ตัดสินใจไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ เพราะสภาพพื้นที่บ้านเกิดกว่า 2,800 ไร่ที่ชุมชนป่าภูถ้ำ อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น ‘พื้นที่แล้งที่สุดในภาคอีสาน’ ฝนตกน้อยที่สุดน้ำแล้ง 4 ปีฝนดี 2 ปีทำให้ชุมชนต้องเผชิญทั้งภัยแล้งซ้ำซากยาวนานกว่า 40 ปีไม่สามารถทำการเกษตรได้คนหนุ่มคนสาวต่างอพยพไปรับจ้างขายแรงงานต่างถิ่น

ในปี 2534 หลังจากเข้ากรุงเทพฯ เพียง 28 วันเขาตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯ และเปรียบชีวิตแรงงานในโรงงานปูนปลาสเตอร์ว่าเหมือนอยู่ในนรก

“ทั้งวันเราคลุกอยู่กับฝุ่นกับปูน ผมอยู่แถวบางบอน บ้านพักอยู่บนสลัม ข้างล่างเป็นน้ำคลองเน่า ไปอยู่แบบเหม็นๆ นอนเบียดเสียดกันกินข้าวห่อข้าวถุง กลางคืนแทบไม่ได้หลับ ตอนเช้ารีบไปขึ้นรถทำงาน เป็นกะกลางคืนก็มีงาน เจ้านายอยากด่าอยากว่าไรก็ทำเลย คำหยาบประเภทสัตว์มีหมด ทำไมพูดกันแบบนี้บ้านเราไม่เคยได้ยิน แต่ตอนนั้นก็ยอม เหนื่อยก็พูดไม่ได้คุณต้องสู้เท่านั้น ตอนแรกผมจะอยู่ให้ครบเดือนแต่ไม่ไหว ผมว่ามันนรก คิดว่าถ้าออกจากนี่ได้ จะไม่กลับมาอีกเลย เหมือนเราตกอยู่ในขุมนรกที่เราพยายามหาทางหนี”

“เขาบอกกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์ แต่ผมไปแล้วไม่ใช่สวรรค์อย่างที่เขาบอก เราถึงได้รู้ว่าบ้านเราเป็นสวรรค์ต่างหาก แต่เราจะอยู่กับ ‘พื้นที่แล้ง’ ยังไง ที่นี่เราอยู่กับนาแต่รายได้น้อยหากินตามที่ฝนให้มา”

แต่โจทย์ของชุมชนป่าภูถ้ำ อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น คือไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภค ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ตลอดจนไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ

นายพิชาญเล่าว่า ช่วงที่แล้งที่สุด คนในหมู่บ้านกว่า 300 คนต้องยืนต่อคิวอาบน้ำในบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ส่วนน้ำดื่มก็ต้องตื่นไปตักน้ำในบ่อตื้นใกล้ป่าตั้งแต่ตี 2 รวมถึงไม่มีน้ำสำหรับเพาะปลูกพืชจนไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

นายพิชาญเลือกกลับมาพัฒนาบ้านเกิด จนปัจจุบันเขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชุมชนจนทำให้ชุมชนป่าภูถ้ำมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นี่คือเรื่องราวของชายที่แก้ ‘ปัญหาภัยแล้ง’ ให้กับพื้นที่ที่เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดในประเทศไทย

ย้อนดูสาเหตุภัยแล้ง

นายพิชาญเล่าว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดจากการส่งโครงการจัดการน้ำชุมชนของป่าภูถ้ำเข้าประกวด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ให้เป็น “ชุมชนจัดการน้ำดีเด่น” ทำให้มีโอกาสเข้าอบรมเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สสน. และเอสซีจี

ชุมชนกลับมาประเมินพื้นที่อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และพบว่าสภาพเป็นที่ราบสลับกับที่ลอนคลื่น แหล่งน้ำตื้นเขินและไม่เชื่อมต่อกัน วัชพืชหนาแน่นกักเก็บน้ำได้น้อย วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมคือชุมชนนำเครื่องมาสูบน้ำออก ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน อีกทั้งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทุกครัวเรือน

ต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นนำมาสู่การช่วยเหลือผ่านโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” โดยสนับสนุนการเชื่อมน้ำขุดคลองเข้าพื้นที่ขุดแก้มลิงให้เป็นแหล่งน้ำประจำไร่นาจนสามารถเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ พร้อมทั้งสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ผืนป่ากว่า 2,800 ไร่

“ผมมีโอกาสได้เจอกับ ดร.รอยล จิตรดอน (ที่ปรึกษา สสน.) อาจารย์ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านเป็นนักร้อง เรียกร้องตรงนั้นตรงนี้ คัดค้านโครงการนั้นโครงการนี้ อาจารย์ทิ้งคำถามไว้ว่า หากคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีพอแล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จึงทำให้เรากลับมาคิดภายใต้โจทย์ใหญ่ของชุมชนว่าเราจะหาทางเก็บน้ำ 2 ปีให้ข้ามแล้ง 4 ปีได้อย่างไร”

รวมกลุ่มชุมชนมองหาทางออกร่วมกัน

จากนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันศึกษาสภาพพื้นที่ด้วยแผนที่ชุมชนโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ของตัวเอง สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

อีกทั้งยังจัดระบบการบริหารจัดการน้ำผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น คลองดักน้ำหลากแก้มลิงกักเก็บน้ำ คือคลองที่เกิดจากการขุดคลองดักน้ำที่ไหลหลากจากที่สูง คล้ายการทำรางน้ำดักน้ำบนหลังคาบ้าน แล้วลำเลียงน้ำจากสูงไปต่ำเป็นสระน้ำขั้นบันได เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันไว้ในสระแก้มลิง

นายพิชาญกล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สู่การลงมือปฏิบัติปรับเปลี่ยนวิธีคิดพลิกชีวิตด้วยปัญญาตามแนวพระราชดำริ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำแล้งน้ำหลากบนพื้นที่สูงลอนคลื่น โดยบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และมีการใช้น้ำซ้ำหลายรอบอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ชุมชนมีการตั้งกติกาการใช้น้ำร่วมกัน หากน้ำอยู่ในระดับวิกฤติจะลดการใช้น้ำครอบครัวละไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เพื่อรักษาปริมาณน้ำให้เพียงพอ

“เมื่อก่อนผมมองว่าชุมชนแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐ เพราะเวลามีปัญหาเราก็เขียนข้อเสนอไปให้รัฐมาช่วย อบต. ก็รับโครงการไป วันดีคืนดีก็มีคนมาขุดเจาะบ่อน้ำแต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ จนเรามารู้ว่าสิ่งที่เราขาดคือความรู้ พอเราเข้าใจระบบน้ำมากขึ้นเลยรู้ว่าน้ำไหลจากไหนไปไหน แก้ปัญหาได้ตรงจุด”

นายพิชาญกล่าวต่อว่า เมื่อชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำด้วยตัวเอง ปลูกป่าสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และพยายามจัดการน้ำชุมชน พร้อมปลุกพลังชาวบ้านในชุมชนให้มาร่วมกันสู้ รู้จักพึ่งพาตัวเองแทนการรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาของชุมชนนอกเหนือจากเรื่องการขาดความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำให้ต้องเผชิญกับแล้งซ้ำซาก ทำการเกษตรแทบไม่ได้ และเมื่อฝนตกก็ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้เช่นกัน

ถอดบทเรียนจัดการภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันชุมชนป่าภูถ้ำสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนโดยเพิ่มปริมาตรการกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 8,640,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บ 40% (3,456,000 ลูกบาศก์เมตร) และคลองดักน้ำหลากเชื่อมต่อโครงสร้างน้ำเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่รวมระยะทางกว่า 5,000 เมตรชาวบ้านมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างน้อย 5 ปี

นายพิชาญสรุปว่า แนวทางการบริหารจัดการน้ำหลังจากชุมชนศึกษาพื้นที่อย่างถี่ถ้วนแล้ว ชุมชนจะต้องเริ่มจากสร้างแหล่งกักเก็บน้ำตามระยะความลาดชัน แล้วปล่อยน้ำไหลเข้าแปลงนาและสระน้ำ ส่วนน้ำที่เหลือไหลเข้าคลองในพื้นที่ด้านล่าง ต่อมาขุดคลองดักน้ำหลากจากที่สูงลงที่ต่ำ แล้วนำน้ำส่วนเกินมาใช้ซ้ำ โดยการเลี้ยงปลา ปลูกพืชผัก และเหลือเข้าสระน้ำที่ใช้อุปโภค รวมถึงชักน้ำในคลอง-ขุดร่องเล็กสู่คลองขนาดเล็กในแปลงนา

ที่สำคัญคือชุมชนต้องรู้จักเก็บน้ำในฤดูฝน เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง กระจายน้ำให้กับทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียม และบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนบทเรียนแก้ปัญหาภัยแล้งโดยแบ่งเป็น 6 ขั้นตอนตามแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้แก่

  • ชุมชนต้องสามัคคี รู้จักพึ่งพาตนเอง รวมกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง
  • เรียนรู้จัดการน้ำด้วยเทคโนโลยี เข้าใจพื้นที่ รู้ความต้องการน้ำ บริหารสมดุลน้ำ ใช้เทคโนโลยีวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ
  • หาแหล่งน้ำ หาพื้นที่กักเก็บน้ำได้ ใช้น้ำเป็น สร้างแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร ใช้น้ำซ้ำให้คุ้มค่าด้วยระบบหมุนเวียนฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุน
  • เกษตรกรผสมผสานปลูกพืชกินใช้และขายสร้างรายได้ทั้งปี วางแผนเพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ
  • เข้าใจตลาดปลูกพืชตามความต้องการ
  • เศรษฐกิจเพิ่มคุณค่า ชุมชนพัฒนายั่งยืน จัดการผลผลิตเกษตร

ประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มรายได้ที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน เกษตรกรในชุมชนยังได้เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นำมาประยุกต์ใช้จัดรูปที่ดินเพื่อให้บริหารจัดการง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีการวางแผนการผลิตใหม่เพื่อให้ปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 4-5 เท่าจากเดิม 30,000-50,000 บาทต่อปีเป็น 120,000 บาทต่อปีและช่วยลดรายจ่ายโดยเฉพาะค่าอาหารลดลงกว่าเดือนละ 3,000 บาท

“มีน้ำก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้คนในท้องถิ่น ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นไปหางานในเมืองใหญ่ ดินบ้านเราอาจไม่ดีก็ลองเปลี่ยนใหม่แต่ดีแล้วที่มีดิน ดีแล้วที่มีน้ำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารจัดการสิ่งที่มีอยู่อย่างไรให้เกิดผลสำเร็จ เราต้องภาคภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่ ชุมชนที่ยังไม่รู้จักจัดการตัวเอง อย่ารอคนอื่นมาแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำคือชีวิตทุกคนต้องการน้ำ เราต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อที่จะรอดแล้งด้วยการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม สร้างป่าต้นน้ำให้มีความเขียวชอุ่ม”

นายพิชาญให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรในเครือข่ายเปลี่ยนวิถีการผลิตจำนวน 68 ราย มีรายได้จากผลผลิตประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจจากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่

ความสำเร็จในการแก้ปัญหาภัยแล้งของชุมชนป่าภูถ้ำยังขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีกกว่า 23 ตำบล 47 หมู่บ้านใกล้เคียง และมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 2,000 ครัวเรือนใน 15 หมู่บ้านใน 6 ตำบล พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 11,000 ไร่

“ชุมชนป่าภูถ้ำเป็นพื้นที่ป่าสงวน ‘เสื่อมโทรม’ ตามมติ ครม. ปี 2535 แต่ชุมชนเรามาอยู่ตั้งแต่ปี 2449 เราเลยขอให้กันเอาไว้เพราะมันไม่เสื่อมโทรมจริง เพราะถ้าเป็นป่าเสื่อมโทรมเขาจะเอาไม้ยูคาลิปตัสเข้าไปปลูก ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ชุมชนเลยขอโอกาสไม่ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ และเลือกเปลี่ยนแปลงด้วยตัวชุมชนเอง”

“เรามาสร้างสวรรค์ที่บ้านเราดีกว่า”