ThaiPublica > ประเด็นร้อน > SCB EIC ชี้ไทยเจอฝนแล้งรุนแรงสุดรอบ 41 ปี ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เสียหาย 2 ปี 69,000 ลบ.

SCB EIC ชี้ไทยเจอฝนแล้งรุนแรงสุดรอบ 41 ปี ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เสียหาย 2 ปี 69,000 ลบ.

19 กันยายน 2023


ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้วิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติภัยแล้ง ในการบรรยายสรุป เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบภาวะภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ 2567 อย่างไร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ 1) สถานการณ์น้ำฝนและน้าในเขื่อนในปัจจุบัน 2) ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้ง 3) วิกฤติภัยแล้งจะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยมากเพียงใด

ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า…

ปริมาณน้ำฝนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปีในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั่วประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาปริมาณฝนสะสมปีที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดในรอบ 41 ปี (2524-2565) เทียบกับปริมาณฝนสะสมในช่วง 8 เดือนแรก หลายพื้นที่ของประเทศประสบกับภัยแล้งรุนแรง ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก

“ในภาคกลาง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 35% และน้อยกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 29% ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนก็น่ากังวลไม่น้อยกว่ากัน” ดร.เกียรติศักดิ์กล่าว

ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั่วประเทศ ในช่วงต้นปีปริมาณน้ำในเขื่อนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี (2556-2565) ที่ 33% แต่สถานการณ์ในเขื่อนแย่ลงต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนอญุ่ที่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี และต้นเดือนกันยายนก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 8%

สำหรับสถานการณ์ในระยะต่อไป ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปี โดยปกติแล้ว ไทยจะมีปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมในสัดส่วน 63.6% ต่อปริมาณฝนทั้งปี และได้ปริมาณน้ำฝน 36.4% ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม แต่จากข้อมูลประเมินได้ว่าปริมาณฝนยังมีแนวโน้มตกน้อยกว่าปกติในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากผลของปรากฎการณ์เอลนีโญและปรากฎการณ์ไอโอดีขั้วบวก

“เราจะรู้สึกได้ว่าปีนี้อากาศร้อนผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่จากอุณหภูมิบนพื้นผิวดินเท่านั้น แต่อุณหภูมิบนพื้นผิวน้ำทะเลก็สูงขึ้นผิดปกติเช่นเดียวกัน โดยในมหาสมุทรแปซิฟิก ระดับอุณหภูมิน้าทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกต่างไปจากค่าปกติ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งก็เข้าเกณฑ์การเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ในระยะต่อไปมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงปลายปีจะแตะที่ระดับ 2 องศาเซลเซียส หมายถึงจะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญระดับรุนแรงมาก ซึ่งจะเป็นตัวกดดันปริมาณน้ำฝนในไทย” ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า

นอกจากนี้ในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย อุณหภูมิก็สูงขึ้นผิดปกติเช่นเดียวกัน อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลมหาสมุทรสูงจากค่าปกติ 0.4 องศา ในเดือนสิงหาคมและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเข้าเกณฑ์การเกิดปรากฎการณ์ ไอโอดีขั้วบวก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดฝนแล้งในไทยเช่นเดียวกัน

    เอลนีโญ คือ ปรากฎการณ์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทร แปซิฟิกกลางและตะวันออกสูงขึ้นผิดปกติ
    ไอโอดี (Indian Ocean Dipole) ขั้วบวก คือ ปรากฏการณ์ที่ความแตกต่างของอุณหภูมิผิวน้ำระหว่างบริเวณมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกสูงขึ้นผิดปกติ

ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า จากทั้งสองปรากฎการณ์ ได้นำมาประเมินปริมาณน้ำฝนในไทย ใน 3 กรณี คือ โดย กรณีฐาน กรณีแย่ กรณีดี ซึ่งกรณีฐานมีโอกาสจะเกิดมากที่สุด

กรณีฐาน พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก อาจจะต้องเผชิญภาวะฝนแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี ซึ่งSCB EIC คาดการณ์ปริมาณฝนสะสมปี 2566 ในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก จะน้อยกว่าที่เคยน้อยมาที่ประสบในช่วง 41 ปี ภาคเหนือปริมาณน้ำจะน้อยกว่าช่วง 41 ปี 26.8% ภาคกลางปริมาณน้ำจะน้อยกว่าช่วง 41 ปี 30% และภาคตะวันออกปริมาณน้ำจะน้อยกว่าช่วง 41 ปี 21%

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า จะค่อยๆทะยอยเห็นผลกระทบ ซึ่งต่างจากภัยน้ำท่วมที่เห็นผลกระทบทันที โดยภัยแล้งจะกระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรงผ่านภาคเกษตร และส่งผลทางอ้อมผ่านความเชื่อมโยงของภาคเกษตรกับภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ

ผลกระทบทางตรงต่อภาคเกษตรนั้น จะทำให้ ผลผลิตเกษตรเสียหาย, ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น, รายได้เกษตรกร และค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมต่อภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานน้ำตาล โรงสีข้าว, ปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี บริการเครื่องจักรกลการเกษตร,อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่พึ่งพากำลังซื้อจากเกษตรกร เช่น จักรยานยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรและนำเข้าปัจจัยการผลิต

โดยผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะลดลงจากภัยแล้งปี 2566 ได้แก่

    1)ผลผลิตอ้อยที่จะลดลงอย่างมากประมาณ 15.4 ล้านตันเมื่อเทียบกับการไม่เกิดภัยแล้ง เพราะอ้อยเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก
    2)ข้าวนาปรังจะลดลงประมาณ 2.7 ล้านตัน ข้าวนาปรังเป็นพืชที่ปลูกในนาแล้งจึงพึ่งพาน้ำในเขื่อนที่มีการกักเก็บ
    3)มันสำปะหลังจะลดลงประมาณ 2.1 ล้านตัน เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก
    4)ข้าวนาปีคาดว่าจะลดลง 1.2 ล้านตัน ส่วนใหญ่เกษตรปลูกในที่ลุ่มอยู่แล้ว เมื่อเกิดฝนแล้งจึงได้รับผลกระทบไม่มาก และส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ฝนแล้งไม่รุนแรงเท่าภาคอื่นๆ

สำหรับความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในแง่มูลค่า ในกรณีฐาน…

วิกฤติภัยแล้งจะสร้างความเสียหายขั้นต่ำให้กับเศรษฐกิจไทยราว 68,668 ล้านบาท โดยข้าวนาปรังจะมีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด 32,285 ล้านบาท ตามมาด้วยอ้อย 17,880 ล้านบาท ข้าวนาปี 16,070 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 2,433 ล้านบาท

ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า ความเสียหายของผลิตผลิตภาคเกษตรในปี 2566 จะไม่สูงมากนัก ประมาณ 19,603 ล้านบาท แต่จะผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมากในปี 2567 ถึง 49,065 ล้านบาท

สำหรับรายได้เกษตรกรในปี 2024 มีแนวโน้มทรงตัว จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากผลผลิตที่ลดลงได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดีรายได้ชาวนาและชาวไร่อ้อยจะยังมีแนวโน้มขยายตัว โดยคาดว่าดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรจะลดลง 2.4% ในปี 2567 แต่ดัชนราคาสินค้เกษตรจะเพิ่มขึ้น 2.3% ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรกรค่อนข้างทรงตัวลดลงเพียง 0.7%

ครัวเรือนเกษตรมีทั้งหมด 8 ล้านครัวเรือน โดยจานวนครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวมีสัดส่วน 57% ต่อครัวเรือนเกษตรรวม จำนวนครัวเรือนเกษตรกรไร่อ้อยมีสัดส่วน 5% ต่อครัวเรือนเกษตรรวม จำนวนครัวเรือนเกษตรกรไร่มันสำปะหลัง มีสัดส่วน 9% ต่อครัวเรือนเกษตรรวม จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกยาง 21% ต่อครัวเรือนเกษตรรวม และจำนวนครัวเรือนเกษตรกรปาล์มน้ำมัน 5% ต่อครัวเรือนเกษตรรวม

เมื่อแยกเป็นรายผลผลิต ดัชนีผลผลิตของทั้งอ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์ม ลดลง แต่ระดับราคาของข้าว และอ้อยจะเพิ่มขึ้นมาก 8.1% และ 12% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมการส่งออกสินค้าเกษตรของอินเดียที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น

ดร.เกียรติศักดิ์กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งส่งผลให้ GDP ไทยในปีนี้และปีหน้าลดลงรวม 0.5% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นรวม 0.6% เทียบกับกรณีไม่เกิดภัยแล้ง โดย GDP ไทยลดลง 0.14% pp ในปี 2566 และลดลง 0.36% ในปี 2567 ส่วนเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.18% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้น 0.45% ในปี 2567 เนื่องจาก ภัยแล้งจะทาให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะ ข้าว อ้อย และน้ามันปาล์ม และผู้บริโภคไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารสูงราว 35% ของรายจ่ายทั้งหมดโดยเฉพาะข้าวที่คิดเป็น 10% ของค่าใช้จ่ายอาหาร

“ภัยแล้งปีนี้จึงน่ากังวล และเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา” ดร.เกียรติศักดิ์กล่าว