ThaiPublica > เกาะกระแส > ตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหน?

ตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหน?

17 มีนาคม 2021


ผู้ส่งออกไทยกำลังเผชิญปัญหา ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือสูง

การส่งออกไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหา Logistic disruption ซึ่งปัญหาดังกล่าวคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และกระทบต่อผู้ส่งออกไทยมากน้อยแค่ไหน

เริ่มต้นที่ ปัญหา Logistic disruption ที่ผู้ส่งออกไทย และทั่วโลก กำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน คือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่สูง

คำถามคือ ตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหน และเกิดการขาดแคลนได้อย่างไร

โควิด-19 เป็นสาเหตุหลัก…จากข้อมูลสหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลกมีตู้คอนเทนเนอร์รวมกันประมาณ 180 ล้านตู้ โดยในปี 2019 ท่าเรือเอเชียมีส่วนในการบริหารจัดการถึง 60 % รองลงมาคือ ท่าเรือยุโรป 15 % อเมริกาเหนือ 7% ลาตินอเมริกา 6% และแอฟริกา 4% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าทั้งหมดจะอยู่ที่เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นหลัก

Port Calls by Container Ships, 2019 Source: UNCTAD

ในช่วงที่เกิดการระบาดโควิด-19 รอบแรกๆ หลายประเทศต้อง lockdown หรือปิดประเทศ ทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศลดลงมาก และทำให้ตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากระจายไปอยู่ตามท่าเรือ บริษัท โรงงาน หรือ Inland Container Depot (ICD) ในประเทศต่างๆ เพราะสายเดินเรือคอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ คือ THE Alliance, Ocean Alliance and 2M Alliance สัดส่วนประมาณ 80% ของ supply ทั่วโลก ต้องหยุดเดินเรือ หรือจำกัดการเดินเรือมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มาภาพ:รายงาน “What are Shipping Alliances and What are Their Importance?” by Ashley Boroski Mendoza January 21, 2020

ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่สูง เริ่มรุนแรงมากขึ้น ในช่วงที่จีนเร่งส่งออกสินค้า ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ปีที่ผ่านมา หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนคลี่คลาย เช่นเดียวกับเวียดนาม และอีกหลายประเทศในอาเซียน ทำให้ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งออกสินค้ามีจำนวนมาก

Source: CEIC

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศปลายทางที่ส่งออก ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดอยู่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากไปตกค้างที่ท่าเรือ สหรัฐฯ และยุโรป และต้องใช้เวลานานในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับคืนสายเดินเรือหรือประเทศต้นทาง ประกอบกับสายเดินเรือยังใช้ปริมาณเรือขนส่งเท่าเดิม แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ไม่มีที่วางตู้คอนเทนเนอร์ จำนวนเรือขนส่งมีไม่เพียงพอ และค่าระวางปรับสูงขึ้นมาก

ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบอย่างไร?

ประเทศไทยมีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในปี 2562 จำนวน 9.45 ล้านตู้ (ข้อมูลท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ) แบ่งเป็น ขาเข้า 4.85 ล้านตู้ และขาออก 4.60 ล้านตู้ ทั้งนี้การส่งออกและนำเข้าของไทยปี 2563 มีปริมาณลดลงร้อยละ 5.90 และ 11.75 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศเกิดความไม่สมดุล เพราะปริมาณการส่งออกมีมากกว่าการนำเข้า ประกอบกับจีนและเวียดนาม ดึงตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับประเทศค่อนข้างมาก ทำให้ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยเผชิญกับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับตัวสูงขึ้นของค่าระวางเรือ รวมถึงต้องจองคิวนานในการส่งออกสินค้า ตามปริมาณเรือบรรทุกที่มีอยู่จำกัด

โดยค่าระวางเรือไทยไปยุโรป เดิมเก็บประมาณ 700 – 900 เหรียญต่อตู้ มาเป็น 1,000 2,200 และ 3,650 เหรียญต่อตู้ ในเดือน พ.ย. ธ.ค. 2563 และ ม.ค. 2564 ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าระวางเรือไทยไปสหรัฐฯ เดิมเก็บประมาณ 1,000 – 1,500 เหรียญต่อตู้ มาเป็น 3,200 เหรียญต่อตู้ ในช่วงเดือน พ.ย. 2563 – ม.ค. 2564

แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2564 จะเป็นอย่างไร?

วิจัยธุรกิจรายสาขามองว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2564 จะยังเผชิญกับปัญหาค่าระวางเรือที่สูง และการขาดแคลนตู้คอน
เทนเนอร์ในการบรรจุสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากหลายประเทศเร่งการส่งออก ทำให้มีความต้องการตู้คอนเทนเนอร์มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจีนที่เร่งส่งออกก่อนปิดยาวในช่วงตรุษจีน (12 ก.พ.) และอีก 1 – 2 เดือนหลังตรุษจีน เพื่อเคลียร์ order ที่ค้าง

อย่างไรก็ตามปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกจะหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และใกล้เคียงกับความต้องการในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ส่วนหนึ่งมาจากสหรัฐฯ และยุโรปส่งออกมากขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในประเทศ และจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่ สัดส่วน 96% ของโลก ได้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น โดยทางสมาคมอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์ของจีน (China Container Industry Association : CCIA) เปิดเผยว่าในเดือนกันยายนปี 2563 ที่ผ่านมาว่า จีนได้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์ถึง 300,000 ตู้ มากที่สุดในรอบ 5 ปี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ประกอบกับค่าระวางเรือที่สูง กระตุ้นให้สายเดินเรือต่างๆ เพิ่มจำนวนเรือบรรทุกสินค้ามากขึ้น

รายงานโดย โอภาส ใจเครือคำ งานวิจัยธุรกิจรายสาขาและฐานข้อมูลทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย