ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “หุ้นไทย” โดดเด่นในดัชนีด้านความยั่งยืนโลก

“หุ้นไทย” โดดเด่นในดัชนีด้านความยั่งยืนโลก

19 มีนาคม 2021


ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกรายงาน “หุ้นไทยโดดเด่นในดัชนีด้านความยั่งยืน” ใน SET Note เดือนมีนาคม 2564

  • บริษัทจดทะเบียนไทยมีความโดดเด่นมากในด้านความยั่งยืนและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงในการจัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) โดยในปี 2563 มี 11 บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลก DJSI World และมี 21 บริษัทจดทะเบียนไทยอยู่ใน DJSI EM (Emerging Market) ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี และล่าสุดใน Sustainability Yearbook 2021 ที่จัดทำโดย S&P Global มี 11 บริษัทไทยได้รับรางวัลระดับ Gold Class ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศ
  • แนวคิดด้านความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการตัดสินใจลงทุน ในปี 2563 มีนักลงทุนสถาบันมากกว่า 3,000 แห่ง ลงนามสนับสนุนหลักการ Principles for Responsible Investment (PRI) โดยองค์การสหประชาชาติ และมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการรวมมากกว่า 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนยังอาจนำมาซึ่งผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยผลการทดลองจัด portfolio ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทยตามดัชนี DJSI EM ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาแบบกระจายน้ำหนักลงทุนเท่าๆ กันทุกหลักทรัพย์ พบว่า portfolio ดังกล่าวให้ผลตอบแทนรวมสะสม 51% ซึ่งมากกว่าดัชนี SET100 TRI ที่ใช้เปรียบเทียบอยู่ 13%
  • หลักทรัพย์ของบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนยังอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นอีกด้วย โดยภายหลังจากเข้าร่วมดัชนี DJSI EM สภาพคล่องหรือมูลค่าซื้อขายโดยเฉลี่ยของหลักทรัพย์ไทยในดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีด้านความยั่งยืน DJSI และบริษัทจดทะเบียนไทย

Dow Jones Sustainability Index (DJSI) เป็นดัชนีที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2542 โดย RobecoSAM ร่วมกับ S&P Dow Jones ได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำระดับโลกกว่า 2,500 หลักทรัพย์ในดัชนี S&P Global BMI โดยพิจารณาจากมูลค่าของหลักทรัพย์หลังปรับน้ำหนักตามสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free-float) และคะแนนจากแบบประเมินด้านความยั่งยืน Corporate Sustainability Assessment (CSA) ที่ครอบคลุมตัวชี้วัดในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แล้วคัดเลือกบริษัทที่ได้คะแนนเป็นอันดับต้น ๆ ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมตามเกณฑ์การคัดเลือกของแต่ละดัชนีย่อย เพื่อให้ได้หลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นในการประกอบกิจการโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นสำคัญ

จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินในแต่ละปีเพิ่มขึ้นจาก 280 บริษัท ในปี 2542 เป็น 1,386 บริษัท ในปี 2563 โดยมีบริษัทที่ได้รับเลือกเข้าดัชนี Dow Jones Sustainability World Index (DJSI World) จำนวนทั้งสิ้น 321 บริษัทและมีบริษัทที่ได้รับเลือกเข้าดัชนี Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index (DJSI EM) จำนวนทั้งสิ้น 100 บริษัท ในปี 2563 ประกอบกับแนวคิดด้านความยั่งยืนกลายเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญในด้านการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทจัดการการลงทุนชั้นนำหลายแห่งได้จัดตั้งกองทุนด้านความยั่งยืนที่เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน โดยอาจอ้างอิงกับแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมทั้ง ดัชนี DJSI เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

จากข้อมูลของดัชนี Dow Jones Sustainability World Index (DJSI World) ในปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าดัชนีจำนวน 11 บริษัท และจากข้อมูลของดัชนี Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index (DJSI EM) มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าดัชนีจำนวน 21 บริษัท นับได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนในดัชนี DJSI EM สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7

ผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนใน DJSI

จากการทดลองสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน (portfolio) โดยเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI EM และปรับ portfolio ตามการเปลี่ยนแปลงสมาชิกของดัชนีเป็นรายปี (annual rebalancing) เพื่อศึกษาผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลังประมาณ 5 ปี (4 ม.ค. 2559 จนถึง 17 ก.พ. 2564) พบว่าได้ผลตอบแทนรวมสะสมที่ 51% สำหรับ portfolio ที่ใช้การถ่วงน้ำหนักแบบเท่ากัน (equal weighting) และผลตอบแทนที่ 49% สำหรับ portfolio ที่ใช้การถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (market cap weighting) ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนของ SET100 TRI ที่ 38%

บริษัทไทยกับรางวัล Sustainability Award

รางวัล Sustainability Award เป็นรางวัลประจำปีที่ RobecoSAM ร่วมกับ S&P Global คัดเลือกและมอบให้กับบริษัทที่มีความโดดเด่นในการประกอบกิจการโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยเผยแพร่ผ่านเอกสาร Sustainability Yearbook (S&P Global) และมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทจากผลคะแนนที่บริษัทได้รับจากแบบประเมิน Corporate Sustainability Assessment (CSA) เช่นเดียวกับการคัดเลือกของดัชนี DJSI และมีเงื่อนไขในรายละเอียดแตกต่างกันตามระดับรางวัล ดังนี้

  • ระดับ Gold Class – มอบให้กับบริษัทที่ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60 คะแนน และได้คะแนนเป็นอันดับสูงสุด 1% แรกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
  • ระดับ Silver Class – มอบให้กับบริษัทที่ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 57 คะแนน และได้คะแนนเป็นอันดับตั้งแต่ 1% ถึง 5% แรกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
  • ระดับ Bronze Class – มอบให้กับบริษัทที่ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 54 คะแนน และได้คะแนนเป็นอันดับตั้งแต่ 5% ถึง 10% แรกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
  • ระดับ Industry Mover – มอบให้กับบริษัทที่ได้คะแนนเป็นอันดับตั้งแต่ 10% ถึง 15% แรกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

จากข้อมูลใน Sustainability Yearbook 2021 (S&P Global) มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับการกล่าวถึงจำนวน 29 บริษัท และได้รับรางวัลระดับ Gold Class จำนวน 11 บริษัท, ระดับ Silver Class จำนวน 8 บริษัท และระดับ Bronze Class จำนวน 4 บริษัท นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทที่ได้รับรางวัลระดับ Gold Class สูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศ


การลงทุนอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก รวมถึงความท้าทายจากการขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นแนวคิดด้านความยั่งยืน (sustainability) ที่ส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถรับมือกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงได้ จึงกลายเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญที่ถูกนำมาใช้วางรากฐานของการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน

หนึ่งในตัวอย่างอันเป็นที่ประจักษ์ของการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจ คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ที่ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดที่เชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อเป็นแนวทางให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการในภาคธุรกิจในนานาประเทศ นําไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการประกอบธุรกิจเพื่อยกระดับความยั่งยืนในภาพรวม

นอกจากการสร้างแรงผลักดันในฝั่งผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาครัฐ องค์การสหประชาชาติยังได้พัฒนาหลักปฏิบัติสำหรับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment : PRI) โดยนำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจในการลงทุน เพื่อเป็นแนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบสำหรับนักลงทุน โดยในปี 2563 มีนักลงทุนสถาบันที่ลงนามสนับสนุนหลักการของ PRI กว่า 3,000 แห่ง คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการประมาณ 103.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในด้านความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นในฝั่งของนักลงทุนและแนวโน้มของมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

มูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของนักลงทุนสถาบันที่สนับสนุนหลักการ PRI

ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์หลังเข้าดัชนี DJSI

จากการทดลองสร้าง portfolio ตามดัชนี DJSI EM ข้างต้น นอกจากในแง่ผลตอบแทนแล้ว พบว่าหลักทรัพย์ใน portfolio มีสภาพคล่องที่สูงอีกด้วย โดยหากพิจารณามูลค่าการซื้อขายใน Non-Voting Depository Receipt (NVDR) ซึ่งเป็นตราสารหรือช่องทางการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีก่อน จนถึง 3 ปีหลังเข้าร่วมดัชนี จะพบว่ามูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยของ 21 หลักทรัพย์ไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI EM ผ่าน NVDR เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 11% (มูลค่าซื้อขายโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 4%) โดยเกือบทุกหลักทรัพย์ใน portfolio มีมูลค่าการซื้อขายใน NVDR อยู่ในอันดับต้น ๆ ของกลุ่มอุตสาหกรรม

มูลค่าการซื้อขาย NVDR สุทธิในแต่ละปีของหลักทรัพย์ไทยในดัชนี DJSI EM โดยเฉลี่ยมีสถานะเป็นซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องทั้งในปีก่อนและหลังเข้าดัชนี ทำให้มูลค่าซื้อสุทธิสะสม (cumulative net buy) โดยเฉลี่ยของ 21 หลักทรัพย์ไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI EM เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตรการเติบโตในช่วง 3 ปีก่อนจนถึง 3 ปีหลังเข้าร่วมดัชนีประมาณปีละ 32%

ตั้งแต่ปี 2537 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG) ของบริษัทจดทะเบียน จากนั้นจึงขยายผลให้ครอบคลุมด้านต่างๆ กระทั่งในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาตลาดทุนให้ยั่งยืน ด้วยการเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับบริษัทจดทะเบียน ผ่านกระบวนการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในรูปแบบการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน การให้แนวทางการพัฒนา รวมถึงการสร้างหลักสูตรอบรมในด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถยกระดับการประกอบกิจการอย่างยั่งยืนได้อย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้สนับสนุนแนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืน เช่น DJSI และที่จัดทำโดยผู้วิเคราะห์ข้อมูล ESG รายอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน อยู่บนเว็บไซต์ www.settrade.com

รายงานโดย ฉัตรชัย ทิศาดลดิลก, วชิร มนัสเมธีกุล, พริษฐ์ เงาเบญจกุล ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ้างอิง

Dow Jones Sustainability Indices Methodology,S&P Global
DJSI/CSA Annual Review 2020, S&P Global
17 Sustainable Development Goals (SDGs), United Nations
Principle for Responsible Investment, United Nations