ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > How to Avoid a Climate Disaster ของบิลล์ เกตส์ จากก๊าซเรือนกระจก 51 พันล้านตันต่อปีสู่ตัวเลข 0

How to Avoid a Climate Disaster ของบิลล์ เกตส์ จากก๊าซเรือนกระจก 51 พันล้านตันต่อปีสู่ตัวเลข 0

8 มีนาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกวางจำหน่าย How to Avoid a Climate Disaster (2021) ของบิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft ที่มาภาพ : https://twitter.com/BillGates/status/1361662371245166597/photo/1

ในหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกวางจำหน่าย How to Avoid a Climate Disaster (2021) บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft อาศัยแนวทางด้านเทคโนโลยี มาเข้าใจปัญหาวิกฤติโลกร้อน บิลล์ เกตส์ เริ่มต้นจากก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 51 พันล้านตัน ที่กิจกรรมด้านต่างๆ ของคนในโลกปล่อยออกมาในแต่ละปี และก็จำแนกกลุ่มกิจกรรมภาคส่วนต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซซึ่งทำให้โลกร้อนออกมา ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การขนส่ง และการก่อสร้าง

เนื่องจากเป็นนักซอฟต์แวร์ บิลล์ เกตส์ กล่าวว่า…

“ตัวผมเองตระหนักดีว่า ไม่ใช่บุคคลที่มีความเหมาะสมจะเป็นคนสื่อสารในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ”

แต่ก็เชื่อว่า ในปี 2050 โลกเราสามารถไปถึงจุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” หนังสือของบิลล์ เกตส์ เต็มไปด้วยข้อมูลที่ทำเป็นชาร์ต “เมื่อเรามีทัศนะต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบนพื้นฐานข้อเท็จจริง เราจะมองเห็นว่ามีบางอย่างที่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่เราจะหลีกเลี่ยงหายนะภัย จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ”

จากตัวเลข 51 พันล้านสู่เลข 0

บิลล์ เกตส์ บอกว่า ในเรื่องการเปลี่ยนแปลสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน มีตัวเลขสำคัญ 2 ตัว คือ 51 พันล้านตัน ที่โลกเราสร้างและปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่อากาศเพิ่มขึ้นทุกปี สิ่งนี้คือสภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนอีกตัวเลขหนึ่งคือเลขศูนย์ (0) คือสิ่งที่มนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องตั้งเป็นเป้าหมาย เพื่อไม่ให้ภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

สิ่งนี้ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องยาก โลกเราไม่เคยทำสิ่งที่ใหญ่โตแบบนี้มาก่อน ทุกประเทศจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพราะกิจกรรมทุกอย่างในการดำเนินชีวิตสมัยใหม่จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การผลิตสิ่งของ หรือการเดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป คนจะมีชีวิตแบบสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะเท่ากับการมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อนจะรุนแรงขึ้น และจะเกิดผลเสียที่ใหญ่หลวง

บิลล์ เกตส์ กล่าวว่า ตัวเขาเองมาจับเรื่องโลกร้อน ผ่านปัญหาความยากจนด้านพลังงาน มูลนิธิเกตส์ (The Gates Foundation) ของเขาเน้นเรื่องสาธารณสุขโลก การพัฒนา และการศึกษาในสหรัฐฯ ต้นทศวรรษ 2000 เขาเดินทางไปประเทศรายได้ต่ำในแอฟริกา เมื่อบินไปยังเมืองใหญ่ มองจากหน้าต่างเครื่องบิน แปลกใจว่าทำไมข้างนอกจึงมืด ต่างจากเมืองอย่างนิวยอร์ก ปารีส หรือปักกิ่ง

เมื่อไปไนจีเรีย เห็นผู้หญิงและเด็กเก็บไม้เพื่อนำมาเป็นฟืนหุงต้ม เขาได้พบเด็กที่ทำการบ้านจากแสงเทียนเพราะที่บ้านไม่มีไฟฟ้า บิลล์ เกตส์ บอกว่า มีคนนับพันล้านคนในโลกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ครึ่งหนึ่งอยู่ในแอฟริกา ทำให้นึกถึงคำขวัญของมูลนิธิเกตส์ ที่บอกว่า
“ทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรงและมีผลิตภาพ”

แต่เป็นเรื่องยากที่เราจะมีสุขภาพดี หากคลินิกท้องถิ่นไม่มีตู้เย็นที่จะเก็บวัคซีน เป็นเรื่องยากที่คนเราจะมีผลิตภาพ หากไม่มีไฟฟ้าใช้อ่านหนังสือ และคงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ให้ทุกคนมีโอกาสในการทำงาน หากไม่มีไฟฟ้าพอเพียงสำหรับใช้ในสำนักงาน โรงงาน หรือศูนย์คอลเซ็นเตอร์

บิลล์ เกตส์ ที่มาภาพ : https://www.gatesnotes.com/Energy/My-new-climate-book-is-finally-here?WT.mc_id=20200214180000_HTAACD_BG-TW_&WT.tsrc=BGTW

บิลล์ เกตส์ กล่าวว่า ต่อมา มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ต่อคนกับการใช้พลังงาน ยิ่งรายได้ต่อคนสูงการใช้พลังงานต่อคนก็มากขึ้น ปลายปี 2006 เพื่อนร่วมงานที่ Microsoft แสดงให้เขาเห็นถึงความเกี่ยวพันระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เดิมตัวเขาเองเข้าใจว่า แม้ก๊าซเรือนกระจกจะทำให้โลกร้อน แต่ปัจจัยหลายอย่างจะช่วยไม่ให้เกิดหายนะภัยเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น ประเทศตะวันตก ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ก็หันมาสนใจในเรื่องนี้แล้ว และก็ยากที่เราจะยอมรับว่า หากมนุษย์เรายังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เมื่อมาถึงจุดนี้ บิลล์ เกตส์ บอกว่า ตัวเขาเองได้ข้อสรุปว่า โลกเราต้องหาทางจัดหาพลังงานให้แก่คนที่ยากจน แต่เราต้องสนองพลังงานนั้นโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ แหล่งพลังงานธรรมชาติ เช่น ลมและแสงอาทิตย์ ก็ไม่ช่วยให้โลกเราไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อย่างเช่น เรายังไม่มีแบตเตอร์รีที่จะเก็บพลังงานธรรมชาติ นอกจากนี้ การใช้ไฟฟ้าก็มีสัดส่วน 27% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

หนังสือ How to Avoid a Climate Disaster บอกว่า ประเทศมั่งคั่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ของทั้งหมดในโลก แม้จะมีประชากรแค่ 16% ของโลก หากคนในโลกมีชีวิตแบบคนในประเทศร่ำรวยมากขึ้น ในปี 2050 ความต้องการพลังงานจะเพิ่มอีก 50% ด้วยเหตุนี้ เราต้องทำให้ประเทศรายได้ต่ำ สามารถไต่บันไดการพัฒนาเศรษฐกิจให้สูงขึ้น โดยไม่ทำให้ภาวะโลกร้อยเลวร้ายลง

51 พันล้านตันมากแค่ไหน

บิลล์ เกตส์ บอกว่า โลกเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีหนึ่ง 51 พันล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาก จนเรามองไม่ออกว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการพูดถึงตัวเลขก๊าซเรือนกระจก เขาจะนำไปเปรียบเทียบ โดยแปลงออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวน 51 พันล้านตัน

ดังเช่นตัวอย่างจากเรื่องการบินพาณิชย์ มีบทความชิ้นหนึ่งระบุว่า โครงการซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาก แต่เมื่อนำไปเทียบกับจำนวนทั้งหมด 51 พันล้านตัน ก็มีสัดส่วนแค่ 0.03%

ดังนั้น ความหมายของตัวเลขนี้จากโครงการของ EU จะอยู่ที่ว่า อนาคตจะมีแนวโน้มลดลงหรือว่าคงที่ มูลนิธิเกตส์เองจะให้เงินสนับสนุนแก่โครงการพลังงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 500 ล้านตันต่อปี หรือ 1% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

เมื่อพูดถึงแผนงานที่ครอบคลุมได้ทั่วในเรื่องโลกร้อน บิลล์ เกตส์ กล่าวว่า เราต้องพิจารณากลุ่มกิจกรรมของมนุษย์เราทั้งหมด ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา การผลิตสิ่งของต่างๆ (ซีเมนต์ เหล็กกล้า พลาสติก) มีสัดส่วน 31% การผลิตไฟฟ้า 27% การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ 19% การขนส่งต่างๆ 16% และระบบปรับอากาศให้อุ่นและเย็น 7% รวมทั้งหมด 100%


ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ภาพจาก How to Avoid a Climate Disaster

หลายคนอาจประหลาดใจว่า การผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ 27% ของปัญหาโลกร้อน แต่การแก้ปัญหาในเรื่องนี้อาจทำให้เราได้ทางออกที่มากกว่า 27% เช่น เทคโนโลยีพลังไฟฟ้าที่สะอาด จะทำให้เราสามารถหันเหออกจากการใช้พลังงานไฮโดรคาร์บอน เช่น รถยนต์หรือโดยสารใช้ไฟฟ้า หรือระบบปรับอากาศในบ้านและสำนักงาน ไฟฟ้าสะอาดอาจจะไม่ทำให้เราไปถึงเลขศูนย์ แต่ก็เป็นก้าวที่สำคัญ

การผลิตซีเมนต์และเหล็กกล้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10% เทียบกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลต่ำกว่า 8% ประเด็นอยู่ที่ว่า หากเราจะมีแผนงานเรื่องโลกร้อน จะต้องพิจารณาสาเหตุต่างๆ ที่มากกว่าต้นเหตุที่มาจากรถยนต์หรือการผลิตไฟฟ้า โลกเราจะต้องหาทางออกจาก 5 กลุ่มกิจกรรม ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก คือ การผลิตสิ่งของ การผลิตไฟฟ้า การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ การขนส่ง และระบบปรับอากาศ

บิลล์ เกตส์ กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่โลกเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก เพราะเทคโนโลยีพลังงานในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีราคาถูกที่มีอยู่ การย้ายจากเทคโนโลยีสกปรกและปล่อยก๊าซเรือนกระจาก ไปหาเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเครื่องบินมีราคาแกลลอนละ 2.22 ดอลลาร์ แต่น้ำมันเครื่องบินแบบเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) มีราคา 5.35 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ราคาสูงกว่า 140%

บิลล์ เกตส์ ตระหนักดีว่า การแก้ปัญหาโลกร้อน เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการเมือง Gordon Brown อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขียนถึงหนังสือ How to Avoid a Climate Disaster โดยเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในอดีตของนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่าง John Maynard Keynes

ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก และคนตกงานจำนวนมาก Keynes ได้พัฒนาความคิดใหม่ครั้งสำคัญขึ้นมา ที่จะนำโลกออกจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว แต่ Keynes ไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้นำการเมืองเห็นชอบกับความคิดของเขา Keynes ได้ข้อสรุปว่า

“การพัฒนาความคิดใหม่ๆที่จะมาแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว แต่สิ่งยากกว่าคือการให้คนละทิ้งความคิดเก่าๆมายอมรับความคิดใหม่ๆ”

เอกสารประกอบ
How to Avoid a Climate Disaster, Bill Gates, Alfred A Knopf, 20921.
How to Avoid a Climate Disaster by Bill Gates review – why science isn’t enough, Gordon Brown, 17 FEB 2021, theguardian.com