ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียน การเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัสและรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่ 4)

บทเรียน การเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัสและรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่ 4)

29 มีนาคม 2021


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

พลังงานจากแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์

ต่อจากตอนที่3

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายที่จะลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า พร้อมกับสนับสนุนให้เพิ่มพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า แต่ยิ่งเพิ่มพลังงานชนิดนี้มากขึ้นเท่าใดปัญหาและความยุ่งยากก็เกิดตามมา การสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดนั้นมักทำด้วยการสนับสนุนด้านราคา (subsidy) ในตอนแรก โดยหวังว่าเมื่อเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วมีการติดตั้งกันมากขึ้นก็น่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลงพอที่จะมาแข่งขันกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่การสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเร่งรีบ ทำให้เกิดการลงทุนพลังงานสะอาดประเภทลมและแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น แต่ผลที่ได้ก็คือต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมกลับมีราคาแพงขึ้น สวนทางกับการโฆษณาที่ว่าค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกลง โดยให้คำอธิบายว่าเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ มีราคาลดต่ำลงจากการผลิตที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้เขียนอธิบายแล้วว่าไม่เป็นความจริง เพราะการคิดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่ได้คิดจากต้นทุนโดยรวมของระบบการผลิตไฟฟ้า(ดูเพิ่มเติม[1]-[2])

วิกฤติพลังงานที่เกิดที่รัฐออสเตรเลียใต้ และที่รัฐเท็กซัสล่าสุดนั้น น่าจะเป็นบทเรียนและอุทาหรณ์สำหรับอีกหลายๆ ประเทศที่กำลังดำเนินนโยบายสนับสนุนพลังงานสีเขียว อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากนโยบายทางการเมืองที่ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดภาวะโลกร้อนจนเกิด blackout ขึ้นในรัฐออสเตรเลียใต้ และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด blackout ในรัฐเท็กซัสซึ่งเป็นวิกฤติที่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนหลายล้านคนเป็นเวลาหลายวัน รวมทั้งเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐเท็กซัส จนอาจมีผลทำให้ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ของ โจ ไบเดน อาจต้องทบทวนนโยบายการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกากันเลยทีเดียว

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบรวดเร็วและมีความมั่นคงในทุกด้านนั้น จะต้องมีการวางแผนร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ราชการ เอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันออกแบบและกำหนดแผนโครงสร้างในการพัฒนาประเทศโดยใช้ความสามารถในการวางแผนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แผน PDP หรือ power development plan ของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ได้มีการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ประเทศไทยได้จัดทำแผน PDP อยู่เป็นระยะๆ โดยทำเป็นแผนแม่บทว่าด้วยการจัดหาพลังงานในระยะยาว 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยใช้แผน PDP2018 ในการกำหนดสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าในอีก 20 ปีข้างหน้า

หลักการทำแผนพัฒนาพลังงานของประเทศหนึ่งประเทศใดจะเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดใด โรงไฟฟ้าแบบไหน ต่างก็มีเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความจำเป็น และการจัดหาเชื้อเพลิงหรือพลังงานได้ง่ายหรือยากของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน นโยบายพลังงานของแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกันตามบริบทของประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การกำหนดแผน PDP นั้นนักการเมืองเกือบทุกประเทศมีส่วนกำหนดให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมืองเสมอ เช่น ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่นักการเมืองมักจะสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเมืองจะมีอิทธิพลมากน้อยเช่นไร การกำหนดแผนในประเทศใดๆ ก็ควรมีกรอบแนวคิดทางวิชาการเพื่อกำหนดนโยบายพลังงานไฟ้าของประเทศ ซึ่งไม่ควรจะหลุดออกจากรอบด้านวิชาการมากจนเกินไป ไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากดดันให้แผน PDP ไปในแนวทางหรือผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเสียจนอาจส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของสังคมจนอาจก่อผลกระทบที่ไม่คาดคิดได้

ผู้เขียนได้เคยเสนอแนวคิดทางวิชาการที่ควรมีการปรับสมดุลย์ระหว่างปัจจัย 4E ดูเพิ่มเติม[3] ดังนี้

เริ่มจากปัจจัย E ที่ 1 คือ economic หรือเศรษฐศาสตร์ หรือคือเรื่องค่าไฟฟ้าถูกหรือแพง โดยหลักการก็คือค่าไฟฟ้าควรเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศได้ กล่าวคือ คนที่มีรายได้น้อยสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งค่าไฟฟ้าก็ไม่ควรสูงจนทำให้ต้นทุนการผลิตและบริการสูงจนไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้าได้

ปัจจัย E ที่ 2 คือ environment หรือสิ่งแวดล้อม ในการปลดปล่อยของเสียที่มาจากเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าชนิดนั้นๆ ซึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใดก็ก็จะมีปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น จึงควรต้องคำนึงว่าการผลิตไฟฟ้าควรปลดปล่อยมลภาวะในระดับที่เป็นที่ยอมรับได้ของสังคมส่วนใหญ่ได้ ไม่ควรจะสร้างผลกระทบสิ่แวดล้อมจนเป็นที่เดือดร้อนต่อประชาชน

ปัจจัย E ที่ 3 คือ engineering (หรือเทคนิคทางวิศวกรรมไฟฟ้า) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อธิบายให้ประชาชนทั่วไปได้ไม่ง่ายนัก เพราะเกี่ยวข้องกับเทนิคเฉพาะทางในการผลิตไฟฟ้า แต่สรุปให้เข้าใจแบบง่ายๆ ว่า โรงไฟฟ้าแต่ละชนิดจะมีเทคโนโลยีการผลิตต่างกัน มีลักษณะการทำงานที่มีเทคนิคพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แต่ละเทคโนโลยีสามารถส่งผลกระทบต่อทั้ง 3E ที่กล่าวมาข้างต้น คือ แต่ละเทคโนโลยีจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (economic) ที่ต่างกัน ให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (environment) ที่ต่างกัน และให้ก่อความมั่นคงทางพลังงาน (energy security) ที่ต่างกัน

ปัจจัย E ที่ 4 คือ energy security หรือความมั่นคงทางด้านพลังงาน ได้แก่ ความสามารถในการส่งไฟฟ้าให้อย่างสม่ำเสมอเพียงพอกับความต้องการของคนทั้งประเทศ โดยจะต้องผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดเวลา (24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน) ไม่หยุดๆ ดับๆ หรือต้องไม่เกิด blackout จนประชาชนเดือดร้อน สำหรับ blackout นี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ประสบกันบ่อยๆ คือนานๆ อาจจะเกิดสักหนหนึ่ง แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วผลกระทบนั้นอาจจะรุนแรงมากมายมหาศาลเลยทีเดียว ดังเช่นกรณีที่เกิด blackout ที่รัฐเท็กซัสและรัฐออสเตรเลียใต้

ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้า ความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ความเสี่ยงที่ปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงของประเทศไม่เพียงพอ ความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานชนิดหนึ่งชนิดใดมากเกินไป ความเสี่ยงจากการเมืองระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ฟ้าผ่า น้ำท่วม อุทกภัย วาตภัย เช่น พายุหิมะที่พาความหนาวเย็นที่เกิดในรัฐเท็กซัสเมื่อเดือนที่แล้ว รวมถึงพายุรุนแรงที่ทำให้เกิด blackout ที่รัฐออสเตรเลียใต้ เมื่อปี 2016

ความจริง ปัจจัยทั้ง 4E ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้มันมีปฏิสัมพันธ์ (interrelated) เกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมากในการผลิตไฟฟ้า กล่าวคือ หากเราต้องการให้ความสำคัญให้ราคาไฟฟ้าถูก หรือเน้นที่ economic เราก็คงไปเลือกเอาโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเข้าไปใน energy mix ของประเทศมากขึ้น (เช่น เลือกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ) ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เทคนิคการควบคุมการผลิตไฟฟ้าในทาง engineering ทำได้ดี สามารถการควบคุมการผลิตไฟฟ้าได้แน่นอนจนกระทั่งส่งผลให้มี energy security หรือมีความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศได้ดีมาก แต่มันอาจจะส่งผลกระทบต่อ environment หรือสิ่งแวดล้อมมากจนไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

เช่นเดียวกัน ถ้าเราต้องการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้า หรือเน้นที่ environment เพื่อต้องการให้การผลิตไฟฟ้ามีความสะอาดและปลอดภัย เราก็คงเลือกโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เข้าไปใน energy mix ของประเทศให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น เช่น การออกนโยบายสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นด้วยแรงจูงใจทาง economic คือรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาสูงจนมีสัดส่วนที่สูงมากขึ้นใน energy mix จนอาจส่งผลกระทบทำให้ต้องลงทุนนำเอา engineering หรือเทคโนโลยีมาจัดการความไม่มีเสถียรภาพ ความไม่แน่นอน ตลอดจนความวางใจไม่ได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งเป็นธรรมชาติของพลังงานประเภทนี้) ซึ่งไม่แต่เพียงแค่นั้น หากจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานประเภทนี้มีสัดส่วนที่สูงขึ้นไปถึงระดับหนึ่ง ผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าสำรองขึ้นมาใหม่เพื่อมาสำรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาความไม่เสถียรทำให้ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น จนหลายๆ ประเทศที่ได้มีการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้เงินอุดหนุนแบบล้นเกิน เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา จนทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมพุ่งสูงขึ้น (กระทบกับ economic) ส่งผลให้เกิด energy poverty ที่คนรายได้น้อยไม่สามารถจ่ายค่าไฟฟ้าได้ ต้องถูกตัดไฟฟ้าเป็นที่เดือดร้อนกับครัวเรือนของคนยากจนในประเทศเหล่านั้น (ดูเพิ่มเติม[4]-[5]-[6])

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราจะให้ความสำคัญไปที่ energy security เป็นหลัก หรืออาจจะให้ความสำคัญไปที่ engineering เป็นหลัก มันก็จะสร้างผลกระทบไปยัง economic และ environment ก็ได้เช่นกัน

พลังงานจากลม

ดังนั้น การที่จะตัดสินใจวางแผนให้การผลิตไฟฟ้าในประเทศหนึ่งประเทศใด ควรคำนึงถึงการสร้างความสมดุลระหว่าง 4E คือ economic, environment, engineering และ energy security เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

ตัวอย่างทั้งในกรณีของรัฐออสเตรเลียใต้ และรัฐเท็กซัสที่ได้เกิด blackout ขึ้นจนส่งผลกระทบให้ประชาชนเดือดร้อน นั่นคือทั้ง 2 รัฐมีปัญหาทางด้านความมั่นคงทางพลังงาน หรือ energy security นั่นย่อมแสดงว่าทั้ง 2 รัฐน่าจะเกิดความไม่สมดุลย์ของ 3E ที่เหลือ คือ economic, environment และ engineering ขึ้นมาในระบบการผลิตไฟฟ้าจนกระทั่งส่งผลต่อ energy security ของทั้ง 2 รัฐ

ถ้าใช้หลัก 4E สามารถอธิบายในกรณีของออสเตรเลียใต้คือ นักการเมืองมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่เน้นไปที่ environment เพื่อลดภาวะโลกร้อน เพราะรัฐดังกล่าวมีลมดีแดดดี พลังงานลมและแสงอาทิตย์จึงเป็นพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า มีการสร้างแรงจูงใจทาง economic ด้วยการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและแสงอาทิตย์ในราคาที่สูง (จนประชาชนเดือดร้อนจากการจ่ายค่าไฟฟ้าสูงมากขึ้น) จนมีผลทำให้สัดส่วน energy mix มีสัดส่วนของพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์รวมกันสูงมากกว่าร้อยละ 40 ทำให้เกิดปัญหาทางด้าน engineering ที่ควรต้องมีการควบคุมเสถียรภาพของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นพิเศษ แต่ได้เกิดปัญหาซ้ำเติมขึ้นมาอีกเมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทำหน้าที่ค้ำจุนระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียรกลับต้องปิดตัวลงเนื่องจากทนขาดทุนไม่ไหว (เป็นโรงไฟฟ้าเก่าที่มีรายได้ลดจากการที่ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาเบียดแย่งรายได้ ประกอบกับการเดินโรงไฟฟ้าที่มีลักษณะ ramp up และ down ตามความวูบวาบของพลังงานหมุนเวียนที่ควบคุมไม่ได้ และไม่เสถียรจนทำให้มีภาระต้องซ่อมแซมโรงไฟฟ้าที่สูงขึ้น จนต้องปิดตัวลงในที่สุด)

หลังจากนั้นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนได้กลับพุ่งสูงเพิ่มขึ้นไปอีกจนเกือบถึงร้อยละ 50 ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อระบบการผลิตไฟฟ้าได้เกิดปัญหา energy security จนในที่สุดได้เกิดพายุขึ้นมาอย่างรุนแรงจนเกิด blackout ในรัฐออสเตรเลียใต้ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559

ส่วนกรณีที่เกิด blackout ในรัฐเท็กซัสนั้นมีส่วนคล้ายคลึงกับกรณีของรัฐออสเตรเลียใต้ กล่าวคือนักการเมืองสหรัฐมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าเพราะต้องการเน้นไปที่ environment ด้วยการจูงใจทาง economic ผ่านการสนับสนุนด้วยมาตรการทางภาษีเพื่อให้มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่รัฐเท็กซัสมีอย่างเหลือเฟือ (ชาวเท็กซัสจ่ายค่าไฟฟ้าแพงด้วยเงินภาษีที่รัฐเก็บเฉลี่ยจากทุกๆ คนในรัฐ)

จนกระทั่งสามารถสังเกตได้ว่าสัดส่วนไฟฟ้าจากลม (ที่ไม่เสถียร) จากร้อยละ 3 ในปี 2007 มาเป็นร้อยละ 20 ในปี 2019 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) โดยมาเบียดแย่งพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน (ที่เสถียร) ที่ลดลงจากร้อยละ 37 มาเหล่อร้อยละ 20 (ลดลงร้อยละ 17) ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าการลดพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีเสถียรภาพสูงแล้วไปเพิ่มพลังงานลมที่มีเสถียรภาพต่ำน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด blackout ในรัฐเท็กซัสเมื่อเดือนที่แล้ว

ดังนั้น การที่ 3E คือ economic, environment, engineering สร้างความไม่สมดุลต่อกัน น่าจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อ E ตัวที่ 4 คือ energy security จนกะทั่งเกิด blackout ทั้งในรัฐออสเตรเลียใต้ และรัฐเท็กซัสได้

อ้างอิง:
[1] https://thaipublica.org/2019/08/pinyo-meechumna01/
[2] https://thaipublica.org/2019/08/pinyo-meechumna02/
[3] https://www.thelocal.de/20190514/call-to-prevent-power-cuts-in-german-households-amid-rising-energy-poverty/
[4] https://thefifthestate.com.au/columns/spinifex/energy-poverty-urgently-end-2/
[5]https://www.dailynews.com/opinion/20151002/californias-huge-solar-projects-causing-energy-poverty-thomas-elias)
[6] https://www.dailynews.com/opinion/20151002/californias-huge-solar-projects-causing-energy-poverty-thomas-elias