ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียน การเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่ 3)

บทเรียน การเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่ 3)

7 มีนาคม 2021


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

Blackout ในรัฐเท็กซัส ความยากลำบากของประชาชนเมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ท่ามกลางอากาศหนาวที่มาภาพ : https://washingtonmonthly.com/2021/02/20/texas-blackout-of-2021-was-primarily-a-human-failure/

  • บทเรียนการเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่ 1)
  • บทเรียนการเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่2)
  • ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก มีนโยบายที่จะลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า ประเทศเหล่านี้มักมีกำลังการผลิตไฟฟ้าฐาน (Base Load Power Plant) ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว (เพราะลักษณะของประเทศพัฒนาแล้วที่ประชากรแทบจะไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่ก็จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สูงนัก และส่วนใหญ่ได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคมามากพอจนมีอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้ไฟฟ้าที่ต่ำ จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าฐานแทบจะไม่เพิ่มขึ้น)

    ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นจึงหันไปลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม เพราะพลังงานหมุนเวียนมักได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐจำนวนมาก เพราะถือว่าเป็น “พลังงานสะอาด” จึงมีอนาคตทางธุรกิจดี มีโอกาสที่จะทำกำไรได้มาก

    ส่วนโรงไฟฟ้าฐานที่ทำหน้าที่ค้ำระบบไฟฟ้า (Backup Power Plant) นั้นก็ได้ถูกใช้งานน้อยลงกว่าเดิม เพราะจะทำงานได้เต็มที่ก็ตอนที่ไม่มีแสงแดดและลมพัดน้อยเท่านั้น โดยโรงไฟฟ้าฐานจะถูกหรี่กำลังการผลิตลงเมื่อมีแดดจ้าและลมพัดแรง และจะถูกเร่งกำลังการผลิตเพิ่มก็ตอนที่ไม่มีแสงแดด หรือตอนกลางคืน และตอนที่ไม่มีลมพัด

    ดังนั้น กิจกรรมของการสร้างโรงไฟฟ้าฐานในประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้นกลับซบเซาลง เพราะไม่มีใครอยากจะลงทุน เนื่องจากจำเป็นหรือถูกบังคับต้องผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าเดิมเพราะพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเบียดแทรก ทำให้มีกำไรน้อยลง จนบางประเทศแทบไม่มีใครสนใจที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าฐานใหม่ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถือว่าเป็น “พลังงานสกปรก” เพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าฐานเดิมที่หมดอายุ (เพราะไม่ได้รับการสนใจและไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ) จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุน และจะสังเกตได้ว่าในบางประเทศ โรงไฟฟ้าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาแทนที่โรงไฟฟ้าฐานที่หมดอายุลงไปจนกระทั่งหลายแห่งเกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางพลังงานขึ้นมา ดังที่ผู้เขียนจะเล่าถึงกรณีศึกษาที่มีการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนที่ล้นเกิน จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน และได้เกิดขึ้นในรัฐออสเตรเลียใต้ และเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด Blackout ครั้งที่รุนแรงที่สุดในรัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

    รัฐออสเตรเลียใต้นั้นถือว่าเป็น energy-rich state คือมีทั้ง น้ำมัน ก๊าซและถ่านหินมาก ซึ่งไม่น่าที่จะเกิดวิกฤติด้านพลังงานเลย แต่ด้วยนโยบายที่ต้องการลดภาวะโลกร้อนทำให้นักการเมืองสนับสนุนอย่างแข็งขันให้เอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ถือว่าเป็น “พลังงานสะอาด” ในอัตราเร่งที่สูงมาก จนทำให้ในปี 2559 ได้เกิด Blackout ครั้งใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นการผลิตไฟฟ้ารัฐออสเตรเลียใต้นั้นมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (ชึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม) สูงมาก โดยข้อมูลระหว่างปี 2558-2559 พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 43.9 (ดูรายละเอียด Energy Mix ข้างล่าง)

    จะเห็นว่าก่อนเกิด Blackout นั้น พรรคแรงงานได้บริหารรัฐออสเตรเลียใต้อย่างต่อเนื่องมาหลายปีก่อนหน้านี้และมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า (ลมและแสงอาทิตย์) จนทำให้มีสัดส่วน “พลังงานสะอาด” สูงขึ้นถึงร้อยละ 43.9 จนส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ North Power Station ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเก่าใช้งานมานานมีกำลังการผลิต 520 MW ทำหน้าที่ป้อนไฟฟ้าให้แก่รัฐต้องปิดตัวลงในเดือนพฤษภาคม 2559 เพราะทนขาดทุนไม่ไหว เนื่องจากมันเป็นโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่สามารถทนแบกภาระขาดทุนจากการที่มีรายได้ลด เป็นผลมาจากไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาเบียดแย่งรายได้ ประกอบกับการเดินโรงไฟฟ้าที่มีลักษณะ ramp up และ down ตามความวูบวาบของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สม่ำเสมอ และกำหนดเวลาแน่นอนไม่ได้ (ไม่เสถียร) จึงทำให้มีภาระต้นทุนการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าที่สูงขึ้น จนต้องปิดตัวลงในที่สุด และจากการที่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ปิดตัวลงทำให้ Energy Mix ของการผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นดังนี้

    จะสังเกตเห็นว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนใกล้เคียงกับไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล คืออย่างละประมาณเท่าๆกัน คือร้อยละ 50 ซึ่งถือว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่แน่นอนสูงเพิ่มขึ้นมาก (หากเกิดปัญหาลมพัดไม่พอหรือมีพายุก็อาจทำให้เกิด Blackout ได้)

    อย่างไรก็ตามหลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหินปิดตัวไปเพียงแค่ 1 เดือน ก็เกิดผลกระทบที่ทำให้ค่าไฟฟ้าได้พุ่งสูงขึ้น จนทำให้ประชาชนในรัฐออสเตรเลียใต้บางส่วนออกมาวิจารณ์และต่อต้านการอุดหนุนพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมา จนสื่อหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ในเดือนสิงหาคม 2559 ได้ออก รายงาน ระบุว่า ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ในตลาดขายส่ง (Average Spot Price) ของรัฐออสเตรเลียใต้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 22.9 เซนต์ต่อหน่วย (5.95 บาทต่อหน่วย) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าระดับเดียวกันของช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 4 เท่า

    ขณะที่ ราคาค่าไฟฟ้าของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 6-12 และถึงแม้ว่ารัฐบาลรัฐออสเตรเลียใต้จะพยายามออกมาชี้แจงว่า ราคาไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากปัจจัยเฉพาะ ได้แก่ ลมที่พัดน้อยลงตามฤดูกาลที่ทำให้ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้น้อยลง และอากาศที่หนาวเย็นทำให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการชำรุดของระบบส่งไฟฟ้าที่เชื่อมกับรัฐวิคตอเรีย

    แต่นักวิเคราะห์ได้กล่าวว่าไม่เพียงแค่มีวิกฤติพลังงานในเรื่องราคาค่าไฟฟ้าแพงเท่านั้น แต่การการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด อาจจะก่อให้เกิดวิกฤติทางด้านการผลิตไฟฟ้าของรัฐออสเตรเลียใต้ได้ (คือได้เตือนแบบเป็นนัยว่าอาจเกิด Blackout ได้)

    ค่าไฟฟ้าขายส่งของรัฐออสเตรเลียใต้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวในช่วงเกิดวิกฤติพลังงานเดือนพฤษภาคม- กรกฎาคม 2559

    หลังการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้กลุ่ม NGO ในประเทศไทยยกมากล่าวอ้างอย่างลิงโลด (ด้วยความไม่เข้าใจในเทคนิควิศวกรรมของระบบการผลิตไฟฟ้าของออสเตรเลียใต้) โดยได้ออกมาให้ความเห็นในวันที่ 21 สิงหาคม 2559 [4] ว่า “กรณีของรัฐออสเตรเลียใต้นั้นสามารถพิสูจน์ ว่าระบบไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินก็สามารถจะอยู่ได้ ไม่เห็นว่าจะต้องพึ่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลัก (โรงไฟ้าฐาน) เลย” แต่คล้อยหลังเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้นก็ได้เกิด Blackout ที่รัฐออสเตรเลียใต้ (อย่างที่ NGO ไทยคาดไม่ถึง) ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ Blackout ที่รัฐออสเตรเลียใต้มาแล้วในตอนที่ 2

    เหตุการณ์ Blackout ที่เกิดขึ้นในรัฐออสเตรเลียใต้นั้นสามารสรุปสาเหตุให้เป็นบทเรียนได้ว่า การกำหนดนโยบายทางการเมืองที่จะมุ่งที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบการผลิตไฟฟ้ามากอย่างเร่งรีบจนทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงาน กระทั่งเกิด Blackout ในวันที่ 28 กันยายน 2559

    ส่วนในกรณีรัฐเท็กซัสนั้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกัน เพราะรัฐเท็กซัสก็เป็น energy-rich state ของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แต่เพราะเกิดการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนของรัฐเท็กซัสเกิดขึ้นมาจากนโยบายทั้งจากรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเท็กซัส ร่วมกับรัฐบาลกลาง (Federal Government) กล่าวคือ ตลอดเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา นักการเมืองทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับรีกันต่างพากันผลักดันและอุดหนุนให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์

    ผู้คนเข้าแถวรอรับน้ำดื่มฟรีที่โรงเบียร์ในออสตินเท็กซัสเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากเกิด blackout ส่งผลให้หลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าและน้ำสะอาดใช้ ท่ามกลางสภาพอากาศหนาว ที่มาภาพ : https://www.eenews.net/stories/1063725863

    เริ่มตั้งแต่การออกกฎหมาย Energy Policy Act โดยประธานาธิบดีบุช (ผู้พ่อ) เมื่อปี 2535 สนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังลม ด้วยการให้ Production Tax Credit (PTC) ด้วยวิธีการอันแยบยล คือการแทนที่จะจ่ายเงินอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนให้มีราคาสูงขึ้นโดยตรง แต่กลับไปให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแทน (เพราะการให้เงินอุดหนุนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงชาวอเมริกันมักวิจารณ์ว่าไม่เป็นตามกลไกของตลาดเสรี จึงเลี่ยงไปอุดหนุนด้วยมาตรการทางภาษี ซึ่งการอุดหนุนทางภาษีแบบนี้ดูซับซ้อน จนประชาชนทั่วไปอาจไม่ทันสังเกต หรือมองดูไม่ออกว่านี่เป็นวิธีการอุดหนุนโดยรัฐวิธีหนึ่ง)

    การอุดหนุนด้วยวิธีการเช่นนี้จึงทำให้ราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดูเหมือนว่ามีราคาถูกลงจนสามารถแข่งขันกับไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ได้ คือสามารถขายได้ในราคาที่ไม่น่าจะทำกำไรได้ในการทำธุรกิจปกติ (ขาดทุนเสียด้วยซ้ำ) แต่พอมีรายรับคืนจากเครดิตทางภาษีกลับมาผลปรากฏว่าทำกำไรได้ดี

    มิหนำซ้ำยังมีการอุดหนุนในรูปแบบอื่นอีก กล่าวคือนักการเมืองได้มีการอนุมัติให้รัฐเท็กซัสลงทุนก่อสร้างโครงข่ายระบบส่งมูลค่า 5 พันล้านเหรียญ เพื่อเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากังหันลมและโซล่าร์เซลล์ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลทางตะวันตกกับเมืองใหญ่ทางตะวันออกของรัฐเท็กซัส (ซึ่งนี่ก็คือการอุดหนุนทางอ้อม เพราะนักลงทุนเอกชนไม่ต้องลงลงทุนสร้างโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเอง) อีกทั้งพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย มีลมดีแดดจ้า แถมค่าเช่าที่ดินมีราคาถูก จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนลดต่ำลง ยิ่งทำให้ธุรกิจลงทุนสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้ามีกำไรดีขึ้นไปอีก จึงทำให้มีผู้สนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์จำนวนมากยิ่งขึ้นจนสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะพลังงานลมที่มีสัดส่วนแค่ 11% ใน ปี 2558 แต่เพียงแค่ 5 ปีผ่านไป กลับก้าวกระโดดเป็น 25% ในปัจจุบัน ด้วยกำลังการผลิตรวมในขณะนี้ที่ 25,100 MW

    ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับไม่ได้รับการอุดหนุนในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซ้ำร้ายยังมีรายได้ลดลงเพราะพลังงานหมุนเวียนมาเบียดแย่งรายได้ไปเป็นจำนวนมาก จนทำให้ใน 3 ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 6 โรงของเอกชนที่มีกำลังการผลิตรวม 39,000 MW จำต้องปลดระวางออกจากระบบผลิตไฟฟ้า (Grid) และยังมีอีก 2 โรงที่มีแผนที่จะปลดระวางในปีหน้า ทั้งนี้เพราะไม่สามารถทำกำไร ไม่มีแต้มต่อพอที่จะแข่งขันได้

    ข้อสังเกตที่สำคัญคือ 5 ปีที่ผ่านมานั้น ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ากังหันลม (ที่ไม่มีเสถียรภาพ) มีกำลังการผลิตเข้ามาในระบบการผลิตไฟฟ้าเพิ่มกว่า 12,000 MW แต่โรงไฟฟ้าถ่านหิน (ที่มีเสถียรภาพดีทำหน้าที่ค้ำยันระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง) กลับต้องถูกปลดออกไปจากระบบถึง 39,000 MW อาจจะส่งผลให้ระบบผลิตไฟฟ้า (Grid) ของรัฐเท็กซัสมีความมั่นคงลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยืนยันด้วยข้อมูลของ Forbes

    ด้วยตารางข้างล่างซึ่งแสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 2550-2562 สัดส่วนพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 มาเป็นร้อยละ 20 นั่นคือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในขณะเดียวกัน ไฟฟ้าจากถ่านหินกลับลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 20 นั่นคือลดลงไปร้อยละ 17 เช่นกัน นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของไฟฟ้าจากพลังงานลมเข้ามาเบียดแทนที่ไฟฟ้าพลังงานถ่านหินโดยตรง (ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ก็เข้ามาแทนไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ลดลงร้อยละ 2 เช่นกัน) นั่นย่อมแสดงว่าพลังงานลมที่ไม่เสถียรเข้ามาเบียดแย่งพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่เสถียร (และสามารถค้ำจุนระบบการผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงได้ดี) อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด Blackout ได้

    แม้ว่าในขณะนี้จะมีข้อถกเถียงในทางเทคนิคที่ยังไม่มีผลสรุปออกมาอย่างเป็นทางการว่าสาเหตุของการเกิด Blackout เกิดจากอะไร ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการสอบสวนในรายละเอียด

    อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอสรุปเบื้องต้นว่านโยบายทางการเมืองที่อุดหนุนพลังงานหมุนเวียน (ที่ไม่เสถียร) ในการผลิตไฟฟ้าอย่างมากมายจนทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล (ที่เสถียร) ถูกเบียดให้ออกไปจากระบบการผลิตไฟฟ้าของรัฐเท็กซัส และผู้เขียนขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่า สาเหตุนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิด Blackout ในรัฐเท็กซัสเมื่อ 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะลักษณะที่เกิด Blackout นั้น คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐออสเตรเลียใต้เมื่อปี 2559 แต่ทั้งนี้ผู้เขียนยังไม่ขอยืนยันจนกว่ารายงานการสอบสวนเหตุการณ์นี้จะสรุปออกมาในอนาคต