ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนการเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่2)

บทเรียนการเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่2)

25 กุมภาพันธ์ 2021


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

  • บทเรียนการเกิด Blackout ที่รัฐเท็กซัส และรัฐออสเตรเลียใต้ (ตอนที่ 1)
  • เหตุการณ์ blackout (ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง) ที่เกิดในรัฐเท็กซัสน่าจะเป็นกรณีศึกษา และจะเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทย ที่มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ปัจจุบันประมาณร้อยละ 10 ให้เป็นร้อยละ 20 (ตามแผน PDP2018) แต่เหตุการณ์ blackout ที่รัฐเท็กซัสมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงเกือบร้อยละ 30 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหิมะตกหนัก ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนแสนสาหัส ทั้งจากไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้

    แม้ว่าการสอบสวนสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมิได้มีผลสรุปอย่างแน่ชัดในขณะนี้ แต่เราควรจะตระหนักถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ และศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันมิให้ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เช่นที่เกิดในรัฐเท็กซัส

    ผู้เขียนได้เคยศึกษาเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดคล้ายคลึงกันกับเหตุการณ์นี้ ก็คือการเกิด blackout ที่รัฐออสเตรเลียใต้ เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้มีการสอบสวนและทำเป็นรายงานที่ระบุถึงสาเหตุค่อนข้างละเอียด ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเอาเหตุการณ์ทั้ง 2 นี้มาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงด้านพลังงานของประเทศไทยได้ตระหนักถึงการวางแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงมิติมั่นคงทางพลังงาน (energy security) ของประเทศ มิให้ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหตุการณ์ทั้ง 2 แห่งนี้

    สำหรับการเกิด blackout ในรัฐออสเตรเลียใต้ในครั้งนั้นเกิดจากการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงเกินไป คือใช้พลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 กระทั่งเกิดพายุรุนแรงซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉิน จนไม่สามารถจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของการใช้และการผลิตไฟฟ้าได้ จึงทำให้เกิด blackout ขึ้นมา ผู้เขียนจึงขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด ดังนี้

    ประมาณช่วงเวลาบ่ายของวันพุธที่ 28 กันยายน 2559 ประชากรกว่า 1.7 ล้านคนในรัฐออสเตรเลียใต้ต้องเผชิญวิกฤติ blackout ไฟฟ้าเริ่มดับตอน 15:50 น. หลังจากเกิดพายุรุนแรงและฟ้าผ่าหลายๆ ครั้ง ที่ทำให้เสาส่ง 22 ต้นและสายส่ง 22 สายทั่วทั้งรัฐเกิดเหตุขัดข้อง จนทำให้ระบบไฟฟ้าของรัฐออสเตรเลียใต้ต้องปลดตัวเองอย่างอัตโนมัติเพื่อไม่ให้รัฐวิกตอเรียที่มีสายส่งเชื่อมมายังรัฐออสเตรเลียใต้ได้รับผลกระทบไฟฟ้าดับในวงกว้างตามไปด้วย ส่งผลให้เมืองแอดิเลดซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐวิกตอเรียใต้ และมีประชากรอาศัยอย่างหนาแน่น ได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด

    กระทั่ง South Australia Power Networks ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐ ได้ออกมาประกาศในช่วงใกล้ค่ำของวันเดียวกันว่าให้ประชาชนสำรองแบตเตอรี่ไว้ เนื่องจากไฟฟ้าดับอาจกินเวลานาน และได้แจ้งว่ากำลังดำเนินการกู้ระบบไฟฟ้ากลับคืนมาได้บางส่วน และคาดว่าไฟฟ้าทั้งรัฐจะสามารถกลับคืนมาเป็นปกติในเช้าวันรุ่งขึ้น

    ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Huffington Post ได้รายงานว่าโรงไฟฟ้าสำรองที่เป็นโรงไฟฟ้าฐานยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ไฟฟ้าได้ดับอยู่นานหลายชั่วโมง ส่งผลให้ไฟจราจรไม่ทำงานจนรถติดบนถนนจำนวนมาก รถไฟและรถรางไม่สามารถวิ่งให้บริการได้ น้ำประปาไม่สามารถส่งไปให้ประชาชนในบางพื้นที่ได้ เนื่องจากปั๊มน้ำไม่ทำงาน เพราะไม่มีไฟฟ้ามาให้พลังงานแก่ปั๊มน้ำของระบบประปา น้ำเสียของเมืองก็ไม่สามารถระบายออกไปได้เนื่องจากปั๊มน้ำไม่ทำงานเช่นกัน มีคนติดค้างอยู่ในลิฟต์ 19 คนที่ได้ถูกช่วยเหลือออกมา และที่เลวร้ายที่สุดคือได้มีการอพยพผู้ป่วยหนักที่อยู่ในห้อง ICU จากโรงพยาบาล Flinders Medical Center ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเป็นที่โกลาหล ไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดกับอุตสาหกรรม พาณิชกรรม และครัวเรือนของประชาชน แต่คาดว่าคงมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

    ไม่แต่เพียงเท่านั้น ได้เกิดไฟฟ้าดับขนาดย่อมๆ ในรัฐออสเตรเลียใต้อีก 2 ครั้ง (รวมเกิด 3 ครั้งในรอบ 1 ปี) โดยครั้งที่ 2 ได้เกิดพายุรุนแรงอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในบางพื้นที่นานถึง 12 ชั่วโมง เกิดผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนและอาคารสำนักงานมากกว่า 155,000 แห่ง และไฟฟ้าดับครั้งนี้ก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 367 ล้านออสเตรเลียนดอลลาร์

    ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศออสเตรเลีย ในวันดังกล่าวเมืองแอดิเลดมีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส และบางเมืองในรัฐออสเตรเลียใต้มีอุณหภูมิสูงถึง 46-47 องศาเลยทีเดียว ทำให้ทุกครัวเรือนในรัฐออสเตรเลียใต้ต่างก็เปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อบรรเทาความร้อนจนใช้ไฟฟ้าเกินกำลังการผลิต ทำให้ต้องดับไฟฟ้าในบางพื้นที่ ส่งผลให้ครัวเรือนประมาณ 40,000 แห่งได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

    ในขณะนั้นรัฐบาลท้องถิ่นของออสเตรเลียใต้อยู่ภายใต้การบริหารงานของพรรคแรงงาน ที่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าอย่างแข็งขัน (โดยเฉพาะพลังงานลม เนื่องจากมีลมพัดดีมากในรัฐออสเตรเลียใต้) จนทำให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่มาจากลมเป็นหลักมีมากถึงร้อยละ 40 นาย Josh Frydenberg รัฐมนตรีพลังงานในขณะนั้น มาจากพรรคลิเบอรัลที่มักแสดงความเห็นว่าพลังงานดั้งเดิม (ฟอสซิล) มีความมั่นคงกว่าได้กล่าวหลังเหตุการณ์ blackout ว่า

    “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการตั้งคำถามว่าระบบไฟฟ้ายังมีความมั่นคงอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลมไม่พัดและไม่มีแสงแดดโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ซึ่งตรงข้ามกับโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มั่นคงกว่า”

    จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าไฟฟ้าคงจะไม่ดับในวงกว้างเป็นเวลานาน หากระบบไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้าให้มากพอ เพราะมีข้อสังเกตว่าระบบไฟฟ้าส่วนใหญ่ในรัฐไม่ได้ถูกทำลายจากพายุดังกล่าวเลย มันยังทำงานได้เป็นปกติ หลังจากนั้นแม้ว่าระบบไฟฟ้าจะถูกตัดขาดจากระบบส่งไฟฟ้าที่มาจากรัฐวิกตอเรียไปแล้วก็ตาม ทั้งหมดนี้น่าจะเกิดจากนโยบายการพึ่งพาพลังงานลมผลิตไฟฟ้าของรัฐออสเตรเลียใต้ที่มีมากจนเกินไป แต่เนื่องจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไม่มีความแน่นอน ลมพัดไม่เป็นเวลา แสงแดดถูกกำหนดโดยธรรมชาติ จึงควรต้องมีพลังงานที่แน่นอนและมั่นคง เช่น พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลคอยสำรองไว้ ที่สามารถทำงานได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดลมไม่พัดและแสงแดดไม่จ้าพอที่จะผลิตไฟฟ้า

    นอกจากนี้แล้วพายุที่เกิดขึ้นนั้นมีความเร็วเกินกว่าที่ได้ออกแบบไว้ กังหันลมจึงหยุดทำงานในทันทีเพื่อป้องกันความเสียหายแก่อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า นโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากจนเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน จนทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆ ที่รัฐออสเตรเลียใต้เคยเป็นรัฐที่มีค่าไฟฟ้าถูกที่สุดในออสเตรเลีย

    ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่ม NGO ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้ได้ออกมาให้ความเห็นแย้งว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในวงกว้างนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าว่าจะมีสัดส่วนมากหรือน้อยเลย แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การจัดการของระบบจัดส่งไฟฟ้าของรัฐออสเตรเลียใต้ไม่ดีพอ เพราะแม้ว่าสายส่งที่เชื่อมต่อมาจากรัฐวิคตอเรียถูกตัดขาดออกไปจากระบบไฟฟ้าของรัฐออสเตรเลียใต้ แต่ถ้าหากผู้ดูแลระบบมีการบริหารและจัดการที่ดีพอ ระบบไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้ามาจากแหล่งพลังงานที่หลากหลายของรัฐก็น่าที่จะสามารถทำงานได้เป็นปกติ และมีบางส่วนได้ให้ความเห็นทำนองที่ว่าแม้ว่ารัฐออสเตรเลียใต้จะผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด (โดยไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเลยก็ตาม) เหตุการณ์ blackout นี้ก็จะยังเกิดขึ้นอยู่ดี เพราะพายุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี

    [สังเกตได้ว่า ทั้ง 2 กรณีคือ blackout ที่เกิดที่รัฐเท็กซัสและรัฐออสเตรเลียใต้ จะมีข้อโต้แย้งถกเถียงในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่าพลังงานหมุนเวียนคือสาเหตุที่ทำให้เกิด blackout ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็โต้กลับว่าสาเหตุเกิดจากเหตุการณ์ฉุกเฉิน (เกิดหิมะตกรุนแรง หรือเกิดพายุหนัก) ที่แม้ว่าจะไม่มีการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเลย (มีแต่เฉพาะโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้า) เหตุการณ์ blackout ก็จะต้องเกิดอยู่ดี การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าที่ผิดพลาดต่างหากที่เป็นสาเหตุของปัญหา]

    ท่ามกลางข้อกังขาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเพราะจากพายุ หรือเกิดจากการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากจนเกินไป รัฐบาลออสเตรเลียใต้อนุมัติให้มีการสืบสวนเหตุการณ์โดย Australian Energy Market Operator (AEMO) ได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับ และในที่สุดผลการสอบสวนก็ออกมาเมื่อต้นปี 2560

    วันพุธที่ 28 กันยายน 2559 ประชากรกว่า 1.7 ล้านคนในรัฐออสเตรเลียใต้ต้องเผชิญวิกฤติ blackout ไฟฟ้าเริ่มดับตอน 15:50 น.

    โดยรายงานผลการสอบสวนความยาว 271 หน้าได้สรุปถึงสาเหตุการเกิด blackout เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 ว่าสาเหตุหลักคือ การเกิดพายุรุนแรงทำให้กังหันลมมีปัญหาทางเทคนิคจนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ จึงปลดตัวเองอย่างอัตโนมัติในทันที และดีดตัวออกจากเครือข่ายระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ จนทำให้ทำให้เกิด blackout ในวงกว้าง ส่งผลให้ประชาชนกว่า 800,000 คน ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง และในบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นานนับสัปดาห์เลยทีเดียว

    รายงานได้ระบุว่า แม้ว่าจะเกิดพายุรุนแรงจนพัดเสาส่งล้มลงหลายต้นก็ตาม แต่ด้วยระบบไฟฟ้าที่มีลักษณะการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายโยงใย มีความสามารถที่จะรับและส่งไฟฟ้าได้หลายทิศทาง และหากไม่เป็นเพราะกังหันลมเกิดขัดข้องจนไม่สามารถทำงาน กังหันลมต้องหยุดผลิตไฟฟ้าลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงจนถึงขีดอันตรายเสียแล้ว ระบบไฟฟ้าของรัฐออสเตรเลียใต้ก็น่าจะยังประคับประคองจ่ายไฟฟ้าป้อนให้ประชาชนได้ตลอดเวลาที่พายุดังกล่าวพัดถล่ม และไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ blackout ขึ้นมาได้

    จากเหตุการณ์ Blackout ทั้งในรัฐเท็กซัสและออสเตรเลียใต้ที่มีปัญหาความมั่นคงทางด้านพลังงานขั้นรุนแรง ในตอนหน้าผู้เขียนจะเล่าถึงวิธีการอุดหนุนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งของรัฐเท็กซัสและรัฐออสเตรเลียใต้ จนเป็นผลให้เกิดปัญหาทางเทคนิคขึ้นในระบบการผลิตไฟฟ้าของทั้ง 2 รัฐ