
เปิดตัว “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G” สกพอ.ทุ่ม 400 ล้าน เร่งตั้งเสาอัจฉริยะ 160 ต้น เชื่อม “big data” ชุมชน-หน่วยงานรัฐ ประมวลผลข้อมูลเรียลไทม์ ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิต-ความปลอดภัย–บริการสาธารณสุข เดินหน้าเข้าสู่ smart city แห่งแรกของเมืองไทย
เปิดตัวกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการบ้านฉางเมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย โดยผ่านความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “EEC”, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ “NT” และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ในเขตพื้นที่ EEC ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเร่งวางโครงข่าย 5G รองรับคลื่นสัญญาณ high band ความถี่ 26 GHZ ตามที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. ไปแล้วกว่า 80% โดยดำเนินการติดตั้งท่อ เสา สายส่งสัญญาณไฟเบอร์ออปติก ตั้งแต่บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ, สนามบินอู่ตะเภา, อำเภอบ้านฉาง ไปจนถึงมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จากนั้นก็เริ่มนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตำบลบ้านฉางให้กลายเป็น “ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ” ในอนาคต

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า โครงการนี้เราต้องการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งในด้านความปลอดภัย, สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ หลังจากที่ NT ได้วางโครงข่ายระบบ 5G ในพื้นที่ EEC ไปแล้วกว่า 80% จากนั้นก็เริ่มนำ “เสาอัจฉริยะ 5G” (5G Smart Pole) จำนวน 5 ต้น มาทดลองติดตั้งที่ตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อสัญญาณและรับส่งข้อมูลบริการต่างๆ ระหว่างชุมชน กับหน่วยงานของรัฐ เช่น เทศบาลตำบลบ้านฉาง, สถานีตำรวจภูธรบ้านฉาง และโรงพยาบาลบ้านฉาง
“ข้อดีของระบบ 5G คือ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือต่างๆ หรือที่เรียกว่า “internet of things: IoT” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ สามารถรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งภาพ เสียงและข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แรงและเสถียรกว่าระบบ 4G ถึง 100 เท่า เนื่องจากท่อส่งสัญญาณใหญ่กว่าหลายเท่า จึงไม่มีปัญหาเรื่องความหน่วงในการจัดส่งข้อมูล และสามารถประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราทำควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างประชากร ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการ”ดร.คณิศกล่าว
ดร.คณิศกล่าวต่อว่า หลายคนอาจไม่เข้าใจประโยชน์ของ 5G ถามว่าตอนนี้โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ 5G มีราคาแพงมาก ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรจาก 5G ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า ถ้าใช้มือถือเพื่อดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ยังสามารถใช้ 4G ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าใช้ในเรื่องของการให้บริการสาธารณะ เชื่อมต่อหรือประมวลผลข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ หรือใช้ในภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์, automation, การแพทย์, ท่องเที่ยว, การบิน, โลจิสติกส์ และเมืองอัจฉริยะ กรณีนี้คงต้องใช้ 5G เท่านั้นที่จะสามารถตอบโจทก์วัตถุประสงค์การใช้งานดังกล่าวได้
สำหรับเสาอัจฉริยะที่นำมาติดตั้งในอำเภอบ้านฉาง ในเบื้องต้นนำมาทดลองใช้งานก่อน 5 ต้น จากเป้าหมายทั้งหมด 160 ต้น ซึ่ง NT กำลังเร่งดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยเสาอัจฉริยะแต่ละต้นสามารถใช้งานได้มากกว่า 10 ฟังก์ชัน
เริ่มจากด้านบนสุดของหัวเสาอัจฉริยะจะติดตั้งระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม ผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเสา
ถัดมาจะเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณจากโครงข่าย 5G และอุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ฟรีไวไฟ ซึ่งทาง NT เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นๆ มาติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณบนเสาอัจฉริยะร่วมกันได้ โดยการเช่า เพื่อใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการลงทุนซ้ำซ้อน
เสาอัจฉริยะแต่ละต้นจะติดตั้งกล้องวรจรปิด 3-4 ตัว ออนไลน์ข้อมูลภาพ 4 ทิศทาง ผ่านระบบ 5G เข้ามาที่ศูนย์ข้อมูล Intelligence Operation Center ตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง และสถานีตำรวจภูธรบ้านฉาง โดยเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ข้อมูล หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถซูมหรือดูภาพขยายได้อย่างชัดเจนแบบเรียลไทม์ รวดเร็วกว่าระบบ 4G ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลภาพทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสถิติปริมาณรถยนต์เข้า-ออกในอำเภอบ้านฉาง จะถูกออนไลน์ไปที่ศูนย์ข้อมูล และนำขึ้นไปเก็บบนคลาวด์เพื่อต่อยอดทำเป็น common data lake เพื่อใช้ในการบริหารจัดการปัญหาจราจร ป้องกันปัญหาอาชญากรรม วิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอาชญากรหรือคนหาย อุบัติเหตุ และอุบัติภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชั้นถัดมาจะติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ตรวจวัดระดับสารพิษในอากาศ และค่าฝุ่น PM2.5 ออนไลน์ข้อมูลไปที่ศูนย์ข้อมูลเทศบาลตำบลบ้านฉางตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัล เครื่องขยายเสียง แจ้งประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ และชั้นสุดท้ายติดตั้งกล้องวงจรปิดมุมต่ำในรูปแบบของวิดีโอคอล S.O.S รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา รวมทั้งเตรียมติดตั้งเครื่อง EV charger เพื่อรองรับรถไฟฟ้าในอนาคตเป็นโครงการถัดไป
ดร.คณิศกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทาง สกพอ. และ NT ยังประสานงานไปยังโรงพยาบาลบ้านฉางและร้านขายยา เพื่อจัดทำระบบ “สาธารณสุขอัจฉริยะ” เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยการจัดทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษาและวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยไปรับยาได้ที่ร้ายขายยาใกล้บ้าน รวมไปทั้งถึงกรณีผู้ป่วยในที่เข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลบ้านฉาง ทีมแพทย์ที่ทำการรักษาอาจใช้วิดีโอคอลไปสอบถามหรือขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลศิริราชผ่านระบบ 5G ได้ ซึ่งในขณะนี้ทางโรงพยาบาลศิริราชอยู่ระหว่างการพัฒนาและยกระดับขึ้นเป็น “โรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G” แห่งแรกของประเทศไทย
“สำหรับโครงการบ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของเมืองไทย จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จะนำมาใช้สนับสนุนโครงการจะมาจาก 3 แหล่งใหญ่ คือ เทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทุน 30%, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ลงทุน 30% และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีก 40% โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.), ตัวแทนจาก สกพอ. และตัวแทนจากเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขึ้นมากำกับดูแล โดย สกพอ. จะนำเสนอรายละเอียดของโครงการลงทุน และโครงสร้างการกำกับดูแลให้ที่ประชุม สกพอ. อนุมัติในครั้งต่อไป” ดร.คณิศกล่าว