ThaiPublica > เกาะกระแส > จุฬาฯ เผยความคืบหน้าวัคซีน Chula-Cov19 เตรียมทดลองในคนพ.ค.นี้ ยัน mRNA ปลอดภัยต่อร่างกาย

จุฬาฯ เผยความคืบหน้าวัคซีน Chula-Cov19 เตรียมทดลองในคนพ.ค.นี้ ยัน mRNA ปลอดภัยต่อร่างกาย

18 กุมภาพันธ์ 2021


ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

18 กุมภาพันธ์ 2564 รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 เตรียมเปิดรับอาสาสมัครปลายเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมฉีดทดสอบจริงเมษายน-พฤษภาคมนี้ ตั้งเป้าไทยควบคุมการผลิตวัคซีนเต็มรูปแบบ

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov19 หลังได้ทดลองในหนูและลิงว่า โครงการฯ คาดว่าจะสามารถฉีดทดลองวัคซีนในอาสาสมัครมนุษย์ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาผลทดสอบวัคซีนก่อนจะเปิดรับอาสาสมัครช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ส่วนการทดลองในอาสาสมัครแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น 12 คนฉีดวัคซีนแบบ low dose ขนาด 16 และ 25 ไมโครกรัม กลุ่มที่เหลือฉีด 50 ไมโครกรัม ถัดมาเป็นกลุ่มคนอายุ 65 – 75 ปี จำนวน 36 คน เพื่อหาปริมาณโดสที่เหมาะสม จากนั้นจะขยับไประยะที่สองคือกลุ่มอาสาสมัครประมาณ 300 – 600 คน

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวถึงความคืบหน้าในรายละเอียด ดังนี้

  • วัคซีน ChulaCov19 นี้สามารถป้องกันโรค โควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากมายในหนูทดลอง  ผลการทดลองล่าสุด ภายหลังจากหนูทดลองชนิดพิเศษ ที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรค โควิด-19 ได้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบสองเข็ม ห่างกันสามสัปดาห์ เมื่อหนูทดลองได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีน จะเกิดอาการแบบ โควิด-19 ภายใน 3-5 วันและทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูกและปอด
  • วัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 o C ได้ อย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก
  • กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคต เพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์พบว่าเริ่มดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน เทคโนโลยีวัคซีน mRNA มีจุดเด่น คือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่สองเพื่อตอบโต้เชื้อที่ดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วจากวัคซีนเข้าไปจะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวเตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย

“ปลายๆ ปีหน้าวัคซีนอาจจะล้นโลก เป็นโอกาสของผู้ซื้อ แต่ที่เรายังคงพัฒนาวัคซีนต่อเพราะประเทศไทยไม่เคยมีวงจรห่วงโซ่ของการคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่ชัดเจน ตอนนี้เราจึงมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะสร้างศักยภาพการผลิตให้ครบวงจรเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย