ThaiPublica > คอลัมน์ > ปลูกป่า กับ ภาษีที่ดินที่ไม่ควรต้องจ่าย

ปลูกป่า กับ ภาษีที่ดินที่ไม่ควรต้องจ่าย

15 กุมภาพันธ์ 2021


ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ

ช่วงปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 คงไม่มีเรื่องใดที่ท็อปฮิตติดชาร์ตการพูดจารวมทั้งนินทาและถกเถียงกันมากไปกว่าเรื่องภาษีที่ดินที่รัฐกำลังจะบังคับใช้ ส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่รัฐจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการนี้ ที่แถมด้วยการได้รายได้เพิ่มมาเสริมงบประมาณสำหรับนำไปใช้พัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย

แต่ด้วยความไม่รอบคอบหรือจะด้วยการเร่งรัดให้ออกกฎหมายนี้ก็ตาม วิธีการนี้จึงทำให้เกิดช่องว่างของความเข้าใจในตัวกฎหมายรวมทั้งการเลี่ยงภาษีของเศรษฐีบางคน ดังที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการปลูกมะนาวบนที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่ราคาซื้อขายที่ดินคาดว่าประมาณ 6,400 ล้านบาท ซึ่งควรเสียภาษี(กรณีที่ดินว่างเปล่า)ประมาณ 38 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อปลูกมะนาวเป็นแปลงเกษตรกรรมการเสียภาษีจะเหลือเพียง 6.4 ล้านบาทต่อปี หรือลดไปประมาณ 6 เท่า สิ่งนี้ทำให้การพยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และภาพลักษณ์รวมทั้งค่านิยมแบบ goodwill ที่รัฐคิดว่าจะได้อาจกลายเป็นภาพลักษณ์ทางลบและค่าใม่นิยมหรือ badwill เมื่อเหตุการณ์นี้กลับตอกย้ำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นผู้ไม่มีที่ดินมูลค่ามากขนาดนั้น ยิ่งได้เห็นว่ากฎหมายนี้ของไทยเอื้อประโยชน์แต่คนรวยอยู่เช่นเดิม

มาในช่วงปี 2563 ได้มีวิกฤติทางสุขภาพและเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลกจากการระบาดของโคโรนาไวรัส covid-19 ทำให้เดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้าจนบีบให้รัฐบาลต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินนั้นออกไป และเมื่อถึงต้นปี 2564 ก็ได้มีการพูดถึงกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินนี้อีกครั้ง และความวิตกกังวลของเจ้าของที่ดินที่ต้องเสียภาษีเพิ่มก็กลับมาใหม่ จนมาเมื่อไม่นานมานี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ได้มีแนวคิดที่จะเลื่อนการเก็บภาษีที่ดินนี้ออกไปอีก 1 ปี

ทว่าวันนี้ผมไม่ได้จะมาพูดเรื่องนี้ที่มีคนเขียนบทความและพูดกันมากแล้วในหลายเวทีเกี่ยวกับว่าอัตราภาษีนี้ควรเป็นเช่นไร แต่จะขอพูดถึงเรื่องการมองไม่ครบถ้วนของผู้ออกกฎหมายนี้ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือเรื่องการปลูกป่าให้เป็นป่าจริงๆในที่ดินของตนเอง โดยไม่ได้หวังผลทางเกษตรกรรม ทางป่า(ทำ)ไม้ หรือทางเศรษฐกิจใดๆ

ขอยกตัวอย่างหนึ่งขึ้นเป็นอุทาหรณ์ก็แล้วกัน

ภาพที่1 ที่ดินที่แห้งแล้งและเปรี้ยวจนแม้หญ้าก็ขึ้นไม่ได้

ประมาณ 30 ปีเศษมาแล้ว หญิงคนหนึ่งวัย 40 เศษได้ไปซื้อที่ดินเกษตรแบ่งขายแถวทุ่งรังสิตที่เจ้าของโครงการเขาได้ใช้วิธีขุดดินในพื้นที่โครงการมาถมที่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการถมดินที่เดิมเป็นทุ่งนาราบต่ำ ทว่าดินทุ่งรังสิตเป็นดินเปรี้ยวซึ่งเมื่อขุดดินมาถมที่ ที่นั้นก็กลายเป็นทุ่งดินเปรี้ยวที่ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น (ดูรูปที่ 1) เลวร้ายขนาดผ่านไป 30 ปีเศษที่ดินบางแปลงยังเลวถึงขนาดหญ้ายังขึ้นไม่ได้เลย แต่ด้วยเจตนารมณ์ที่จะขอมีส่วนเล็กๆในการอนุรักษ์โลกใบนี้ของเรา หญิงคนนั้นก็ได้พยายามพลิกฟื้นผืนดินแผ่นนี้ขึ้นมาด้วยความยากลำบาก โดยการพลิกทีละนิด ผลักทีละหน่อย (ดูรูปที่ 2 และ 3) จนที่ดินนั้นกลายมาเป็นป่า(เล็กๆ)ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในละแวกนั้น แม้ขนาดพื้นที่ที่ดินผืนนี้จะไม่มาก แต่ก็เป็นแหล่งนิเวศที่เกือบสมบูรณ์ มีต้นไม้หลายพันธุ์ มีแมลง มีจิ้งหรีด มีตั๊กแตน มีหิ่งห้อย มีกบ มีตุ๊ดตู่ มีนกทั้งนกกินธัญญพืช นกกินผลไม้ นกกินสัตว์ เช่น งู หนู ตลอดจนนกบกและนกน้ำ (ดูรูปที่ 4 และ 5) รวมทั้งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซโลกร้อนหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแหล่งผลิตออกซิเจนได้มากมายจากการสังเคราะห์แสงของต้นไม้หลากหลายเรือนยอดในพื้นที่นั้น

ภาพที่ 2 ปรับปรุงดินโดยใช้ฟางและปูนมาร์ลรวมทั้งปุ๋ยจากระบบบำบัดน้ำเสีย
ภาพที่3 เริ่มลงต้นไม้โดยใช้ฟางคลุมดินตามทฤษฎีฟูกูโอกะ

คงมีพื้นที่ส่วนบุคคลไม่กี่ที่หรอกที่จะทำประโยชน์ให้สิ่งแวดล้อมได้ในรูปนั้น

ทว่าพื้นที่นี้ตามกฎหมายภาษีที่ดินฉบับนี้ถือว่าเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์ ต้องเสียภาษีในอัตราสูง

สิ่งดีต่างๆที่ผมเพิ่งกล่าวมาข้างต้นนั้นรัฐไม่ถือว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ดูว่า‘ป่า’เช่นที่ว่านั้นเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ไม่ให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่เกิดโลกร้อน รวมทั้งสามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ กล่าวคือ รัฐไม่ได้ดูหรือไม่ได้เข้าใจในคุณค่าทางระบบนิเวศของการที่คนกลุ่มหนึ่งยอมเสียสละไม่รับผลประโยชน์จากการทำเกษตรกรรมหรือทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ฯลฯ แต่ยังประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่นั้นมันมหาศาลเพียงใด

ในพื้นที่โครงการเดียวกันกับหญิงคนนั้น ปัจจุบันก็เริ่มมีเจ้าของที่มาถางและลงกล้าไม้ เพียงเพื่อที่จะไปขึ้นทะเบียนว่ามีการทำการเกษตร เช่น ปลูกกล้วย ข้าวโพด ยางนา และเสียภาษีน้อยลง ซึ่งหญิงคนนั้นจะทำเช่นนั้นด้วยก็ได้เช่นกัน

แต่เธอเลือกที่จะไม่ทำ เพราะเธอคิดว่าป่าที่เธอและอีกหลายท่านทั่วประเทศได้อุตส่าห์ฟูมฟักมาจนสมบูรณ์ขนาดนี้มีค่า ทั้งมูลค่าและคุณค่าต่อสังคมและระบบนิเวศ เกินกว่าที่จะตัดโค่นมันทิ้ง

ภาพที่ 4 ในที่สุดก็ได้ป่าที่สมบูรณ์ มีระบบนิเวศแบบนี้
ภาพที่ 5 ฝูงนกเป็ดแดงมาอาศัยอยู่ในบริเวณที่ระบบนิเวศเอื้อต่อพวกเขา

เอาละ แล้วเราจะรู้ได้เช่นไรล่ะว่าป่านั้นเป็นป่าที่ปลูกขึ้นมาเพื่อการณ์นี้ ไม่ใช่เป็นการปล่อยทิ้งให้มันรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง ก็ต้องพิสูจน์สิครับ แบบเดียวกับที่รัฐประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แล้วเปิดโอกาสให้ชาวบ้านพิสูจน์ว่าเป็นพื้นที่ทำกินมาก่อนที่รัฐจะประกาศเขตเป็นพื้นที่ป่า ถ้าพิสูจน์ได้ก็ให้อยู่ได้ต่อไป ไม่ต้องออกมาจากป่า หากเราใช้หลักการพิสูจน์นี้เช่นเดียวกัน เราก็จะสามารถขจัดปัญหาความคลางแคลงนี้ไปได้เช่นกัน

ผมจึงอยากจะวอนขอให้รัฐให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการปลูกป่าแบบเป็นป่าจริงๆนี้ ให้สามารถคิดภาระภาษีเป็นภาษีระดับเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย(ของคนและสรรพสัตว์)ได้ด้วย ซึ่งถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นก็ปรับกติกาให้ไม่ต้องเสียภาษีเลย หรือแม้กระทั่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้ามองไปให้ไกลๆป่าแบบนี้ถ้าเอาไปขึ้นทะเบียนกับรัฐ รัฐก็เอาไปคิดคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนที่ประเทศลดลงได้ เอาไว้ไปตอบโจทย์เกี่ยวกับการลดปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทยไปลงนามไว้ในระดับนานาชาติแล้วด้วย และก็ขอให้ใช้เวลาอีกเกือบปีที่เหลือช่วยปรับเกณฑ์ใหม่ให้ทันใช้ในปี 2565 ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งแก่คนรักษ์ป่าทั้งหลาย แต่ถ้าหากรัฐไม่เข้าใจและไม่สนใจในข้อดีของป่าสมบูรณ์ในพื้นที่ส่วนบุคคลเช่นที่ว่านี้ ผมก็คงต้องบอกรัฐว่า

“ภาษีที่ดินกำลังทำให้สิ้นกำลังใจครับ”