ThaiPublica > สู่อาเซียน > ธุรกิจอะไรในเวียดนามที่ “บริษัทไทยครองตลาด”

ธุรกิจอะไรในเวียดนามที่ “บริษัทไทยครองตลาด”

27 กุมภาพันธ์ 2021


ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2020/03/vietnam-contain-covid-19-limited-resources/

แม้ไทยจะไม่ใช่นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม แต่หลายบริษัทไทยครองตลาดในหลายภาคธุรกิจ เช่น ค้าปลีก เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ ปศุสัตว์และพลังงานแสงอาทิตย์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนในเวียดนามของนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 13%

ณ สิ้นปีที่แล้ว การลงทุนทั้งหมดของนักลงทุนไทยมีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์ แม้ไม่มากพอที่จะทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 แต่ก็ยังสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ในหลายภาคธุรกิจได้ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในไม่กี่ภาคธุรกิจ

ในภาคการค้าปลีก เครือข่ายซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำบางแห่งครองตลาดโดยบริษัทไทย 2 แห่ง คือ กลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มทีซีซี (TCC Group)

กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำด้านค้าปลีกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจการของตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้เริ่มต้นธุรกิจในเวียดนาม จากการเป็นผู้ขายสินค้าแฟชั่นในปี 2012 โดยจัดจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์ต่างๆ เช่น ซูเปอร์สปอร์ต (SuperSports), คร็อกส์(Crocs) และนิวบาลานซ์ (New Balance)

ในปี 2015 บริษัทได้เข้าถือหุ้น 49% ในร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าเหงียน คิม (Nguyen Kim) ผ่านพาวเวอร์บาย (Power Buy) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย

ที่มาภาพ: https://www.centralgroup.com/en/updates/business-highlights/458/vietnam

ในปีเดียวกัน บริษัทได้ซื้อเชนซูเปอร์มาร์เกตลาน ชี (Lan Chi) ซึ่งดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่ชนบททางตอนเหนือ

ในปี 2016 ซื้อเครือข่ายซูเปอร์มาร์เกต บิ๊กซีเวียดนาม จากกลุ่มคาสิโนของฝรั่งเศสในราคากว่า 1 พันล้านดอลลาร์

ทีซีซีกรุ๊ป ซึ่งมีเจ้าของเป็นมหาเศรษฐีชายที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ซื้อเชนร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท (Family Mart) ในปี 2012 และเปลี่ยนชื่อเป็น บี’ส์มาร์ท (B’s mart)

ในปี 2016 บริษัทซื้อเครือข่ายค้าส่งเมโทรแคชแอนด์แค์รีเวียดนาม (Metro Cash & Carry Vietnam) ในมูลค่า 655 ล้านยูโร (796 ล้านดอลลาร์) และเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Market Vietnam ในอีกหนึ่งปีต่อมา

ทีซีซีกรุ๊ปยังครองตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม หลังจากเข้าถือหุ้น 53.59% ใน Sabeco (Saigon Beer Alcohol Beverage Crop) ผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำของเวียดนามในปี 2017

ที่มาภาพ: https://www.vir.com.vn/tcc-group-launches-mm-mega-market-thang-long-to-boost-northern-business-54678.html

เฟรเซอร์แอนด์นีฟลิมิเต็ด (Fraser and Neave, Limited) ซึ่งเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นเจ้าของ เป็นผู้ถือหุ้นต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมวีนามิลค์ (Vinamilk)

เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งครองตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อหุ้น 70% ของ ยวี เติ่น พลาสติก (Duy Tan Plastics) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดแข็งรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

ปัจจุบันเครือซิเมนต์ไทยเป็นเจ้าของบริษัทบรรจุภัณฑ์ 8 แห่งในเวียดนาม

เครือซิเมนต์ไทย ยังมีบริษัทย่อยในเครืออีกกว่า 20 แห่งกระจายในอุตสาหกรรมซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/cpvietnamcorp/photos/3509358755956121

ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ บริษัทเอกชนรายใหญ่สุดของไทย เจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ป หรือเครือซีพี ได้ครองตลาดมานานหลายปี

ในปี 1993 เครือซีพีได้ก่อตั้งบริษัท CP Livestock Co. ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น CP Vietnam Corporation (CPV) ในปี 2019 มียอดขายสูงถึง 65.5 ล้านล้านด่อง มากกว่าคู่แข่งที่เป็นธุรกิจรายใหญ่สุดในท้องถิ่นถึง 10 เท่า

อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของเวียดนามยังดึงดูดนักลงทุนไทยหลายราย เช่น บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ที่เข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในจังหวัด นิญ ถ่วน และจังหวัดอาน ยาง ตั้งแต่ปี 2018

ในเดือนมีนาคม 2020 บริษัทฯ ประกาศแผนที่จะลงทุนกว่า 456 ล้านดอลลาร์ในโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 750 เมกะวัตต์ ใน จังหวัดบิ่ญเฟื้อก

ส่วนบริษัทพลังงานของไทยอีกแห่ง คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทกัลฟ์ ถือหุ้น 90% ในโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 2 แห่ง คือ TTC 1 และ TTC 2 ในจังหวัดเต็ยนิญ ทางทางตอนใต้ของเวียดนาม

บริษัทของไทยได้เปรียบคู่แข่งจากยุโรป เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และยังมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับกลยุทธ์ของนักลงทุนไทย มักมีเป้าหมายที่บริษัทชั้นนำในเวียดนามหรือบริษัทที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน จากนั้นเข้าไปเทคโอเวอร์หรือควบรวมกิจการ

ที่มา : Which sectors in Vietnam are dominated by Thai companies?