ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > โมเดลความยั่งยืน “บลูทรี ภูเก็ต” สวนน้ำต้นแบบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

โมเดลความยั่งยืน “บลูทรี ภูเก็ต” สวนน้ำต้นแบบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

24 กุมภาพันธ์ 2021


เปิดโมเดลความยั่งยืน “บลูทรี ภูเก็ต” แลนด์มาร์กแห่งใหม่ในจังหวัดภูเก็ต วางระบบโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรตั้งแต่การก่อสร้าง น้ำ ไฟ สวนน้ำ และการจัดสรรทรัพยากรภายใน

บนพื้นที่ ‘เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ กว่า 140 ไร่ในชื่อ “บลูทรี ภูเก็ต” (Blue Tree) ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 พันล้านบาท กับจุดขายเรื่องการท่องเที่ยวแบบ ‘สวนน้ำ’ จับกลุ่มทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เนื่องด้วยขนาดของพื้นที่สวนน้ำและทะเลจําลองกว่า 17,000 ตารางเมตร มากกว่าสวนน้ำแห่งอื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต

บลูทรี ภูเก็ต ชูจุดขายเรื่องการสร้างคอมมิวนิตี (community) ให้คนในพื้นที่ เพราะมีเป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ลานกิจกรรม อีเวนต์ คอนเสิร์ต พื้นที่กึ่งสาธารณะ ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้ยังมีจุดขายเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ กล่าวคือ ทุกกระบวนการจัดการภายในต้องลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปในช่วงสถานการณ์ปกติ ภูเก็ตขึ้นชื่อจังหวัดท่องเที่ยวที่กอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ นักท่องเที่ยวกว่า 13 ล้านรายต่อปี (ข้อมูลปี 2562) สร้างเม็ดเงินเข้าจังหวัดกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่แผนการท่องเที่ยวของ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็หวังจะปั้นภูเก็ตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

ทว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเติบโตของภูเก็ตสะดุดอย่างรุนแรง กระทบไปถึงภาคเอกชนและห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากมาย

บลูทรีได้เปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะสั้นๆช่วงปลายปี 2562 แต่ต้องประสบภาวะโควิด-19 จึงต้องปิดการให้บริการ โดยหวังว่าเมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 สามารถสะกัดได้ นักท่องเที่ยวกลับมาจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่เมื่อโควิดรอบสองในช่วงปลายปี 2563 จึงต้องชะลอต่อไปอีก

แดเนียล สแตงเคอ (Daniel Steinke) กรรมการผู้จัดการ บลูทรี ภูเก็ต กล่าวว่า บลูทรี ภูเก็ต ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการความยั่งยืนทั้งวงจร โดยภายในองค์กรมีกลุ่มงานด้านความยั่งยืนสำหรับวางแผนการจัดการโดยเฉพาะ

“ที่นี่ยึดตามหลักความยั่งยืนมาก เรามีแผนกความยั่งยืน เราจริงจังมาก เราพยายามยั่งยืนให้ได้มากที่สุด”

สามเสาหลักด้านความยั่งยืน

พนิษฐา ชีวเจริญกุล ผู้ประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability Coordinator) กล่าวว่า การสร้าง ‘ความยั่งยืน’ จะต้องคำนึงถึงสามองค์ประกอบหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ชุมชนและเศรษฐกิจ โดยทั้งสามองค์ประกอบจะต้องสมดุลกัน ทำให้บลูทรีฯ พัฒนาโครงการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนไปพร้อมกัน

“ความต้องการตั้งแต่เริ่มโครงการคือสร้างธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะทำธุรกิจมันมีผลกระทบต่อธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้มีการพัฒนาการสร้างรายได้ให้ทั้งธุรกิจและชุมชนรอบข้าง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด”

เริ่มตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบต่างๆ ได้มีการสร้างเพื่อให้ใช้พลังงาน เช่น พัดลมหรือแอร์ให้น้อยที่สุด โดยพยายามเน้นช่องลม เพื่อให้ลมธรรมชาติหมุนเวียนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ การออกแบบจึงพยายามเน้นให้มีพื้นที่โปร่งเพื่อให้เกิดช่องลม และออกแบบให้อาคารต่างๆ ไม่ชิดกันจนเกินไป

แต่องค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานคือทรัพยากรในการก่อสร้างที่พยายามเน้นวัสดุธรรมชาติมากที่สุด โดยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการใช้ไม้ไผ่เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก อีกทั้งในอนาคตยังสามารถถอดหรือปรับเปลี่ยนไม้ไผ่เป็นวัสดุอื่นได้

“เราใช้ไม้ไผ่เข้ามาตกแต่งพื้นที่ที่ไม่ต้องใช้ความแข็งแรงมาก ไม้ไผ่มีความแข็งแรงสูงเพียงแต่เนื้อไม้ธรรมชาติก็เป็นธรรมดาที่จะผุพัง แต่เราไม้ไผ่ที่เราใช้ผ่านการเคลือบน้ำยาเพื่อยืดอายุการใช้งาน ศาลาพักผ่อนหรือที่พักผ่อนภายในพื้นที่ก็ใช้ไม้ไผ่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม”

แต่ไม้ไผ่ที่บลูทรีฯ ใช้ไม่ได้มีประโยชน์ในมิติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยเหลือชุมชนและจังหวัดโดยรอบ เนื่องจากบริเวณภูเก็ต-พังงามีการปลูกไม้ไผ่จำนวนมาก ทำให้สามารถสร้างความยั่งยืนโดยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนไปด้วยกัน

เทคโนโลยีจัดการน้ำ

ด้วยความเป็นสวนน้ำขนาดใหญ่ทำให้ต้องมีระบบการจัดการน้ำ จึงนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำความสะอาดเข้ามาช่วยลดทรัพยากรคนและทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้คลอรีนเพียงแค่ 10% เมื่อเทียบกับสระว่ายน้ำธรรมดา ใช้พลังงานน้อยกว่าระบบสระปกติ 50 เท่า แต่เมื่อใช้คลอรีนน้อยทำให้ของเสียที่มาจากสระว่ายน้ำน้อยลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็ใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามการใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำขนาด 1.7 หมื่นตารางเมตรเป็นไปตามหลักความยั่งยืน เพราะเมื่อคำนวณต้นทุนทรัพยากรเทียบกับการใส่สารเคมีปริมาณมากแล้ว ทรัพยากรหุ่นยนต์สามารถลดต้นทุนได้มากกว่าวิธีการอื่นๆ

น้ำในสระของสวนน้ำจะไม่เหมือนน้ำทั่วไปที่ใส่สารเคมี 100 เท่า แต่ภายในสวนน้ำจะใช้น้ำจืดที่ผสมคลอรีนเพียง 10% และมีระบบบำบัดน้ำ

“เล่นน้ำที่นี่เหมือนอาบน้ำที่บ้าน เด็กเล่นได้ไม่เป็นอันตราย และเรามีหุ่นยนต์ที่มาจากประเทศชิลี เมืองไทยมีที่นี่ที่เดียว จะเป็นตัวมอนิเตอร์ว่าส่วนไหนสกปรก หุ่นยนต์(เรือสีขาว)ก็จะไปทำงานบำบัดน้ำ ประหยัดพลังงานและดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่เปลี่ยนน้ำใช้ระบบบำบัด หากน้ำลดลงก็ใช้การเติมเข้ามา”

นอกจากนี้ น้ำที่เอามารดต้นไม้เอามาจากน้ำฝน จะเห็นหลังคาที่โค้งเข้าหากัน มีท่อเพื่อเอามาวนใช้ได้หมด และนำน้ำที่บำบัดแล้วไปรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่สวน

แยก-แปรรูปขยะ

ถัดมาคือ ‘ขยะ’ ตามหลักการความยั่งยืนที่เริ่มจากการแยกประเภท ลดการใช้งานพลาสติกบางประเภท เน้นการใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารียูส (reuse) ใหม่ได้อย่างแก้วน้ำที่พยายามเลี่ยงการใช้แก้วพลาสติก นอกจากนี้ยังได้นำขยะมารีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (upcycliing) แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“ในพื้นที่เองจะตั้งถังขยะสามถังเสมอ ให้ลูกค้าและพนักงานแยกขยะก่อนทิ้ง เรารณรงค์เรื่องการแยกขยะ ส่วนขยะรีไซเคิลที่ขายได้ก็ขายแล้วนำรายได้ไปสนับสนุนกิจกรรมซีเอสอาร์ ที่ผ่านมาเรานำเงินจากขยะรีไซเคิลไปซื้อถุงยังชีพ ไปทำอาหารกล่องแจกพื้นที่รอบๆ”

“เรามีงานอาร์ตแอนด์คราฟท์ เอาขยะมารีไซเคิลมาทำเป็นของใช้ ของตกแต่ง ของใช้ เป็นงานฝีมือให้เลือกซื้อได้”

บลูทรีฯ ได้ทำโครงการ Precious Plastic Blue Tree Phuket โดยลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) และให้ชีวิตใหม่แก่พลาสติกเหลือใช้ ด้วยการเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีค่ามากขึ้น เช่น ถ้วยชาม ที่รองแก้ว กระถางต้นไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้พลาสติกและการจัดการขยะ

ความรู้เรื่องการจัดการขยะยังกระจายไปชุมชน โดยจัดแผนการเรียนการสอนแบบเวิร์กช็อป (workshop)ให้เด็กและผู้ปกครอง เพื่อสื่อสารการให้ความรู้เรื่องการลดขยะ ผลกระทบของขยะที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หมักปุ๋ย สิ่งของใช้จากธรรมชาติ

“เวลาเราทำงานเราเป็นคนดูแลโครงการ แต่คนช่วยเราจริงๆ คือพนักงาน อย่างเเราไม่สามาถแยกขยะด้วยตัวเองได้ เราแค่บอกแนวทาง แล้วดึงคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยคิด ในอนาคตเราก็อยากให้มีตัวแทนของแต่ละแผนกมาช่วยเราคิดวางแผนและทำงาน เพราะเวลาทำโครงการจะได้แฮปปี้กับทุกฝ่าย”

พลังงานไฟฟ้า

ด้านความยั่งยืนเรื่องพลังงาน ได้มีการนำรถตุ๊กตุ๊กระบบไฟฟ้า (EV) เข้ามาใช้รับส่งนักท่องเที่ยวภายในพื้นที่ เพื่อลดมลภาวะทางควันและลดการใช้พลังงานน้ำมัน อีกทั้งมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าโดยรอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ขนาด 185 กิโลวัตต์ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาต และเมื่อติดตั้งเสร็จสมบูรณ์จะสร้างพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 265,000 กิโลวัตต์ต่อปี

ฮับศิลปะของคนภูเก็ต

เดือนธันวาคม 2563 บลูทรีฯ ได้จัดงาน The Living Art Festival 2020 & Blue Tree Reopening เป็นเทศกาลแห่งความสุขในการเสพงานศิลป์ ที่ได้รวบรวมงานศิลปะทุกแขนงจากทั่วประเทศไทยมาไว้ในงานเดียวกัน โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เป็นผู้สนับสนุนหลัก

วัตถุประสงค์หลักในการจัดเทศกาลนี้เพื่อยกระดับเมืองภูเก็ตให้เป็น Creative City Hub หรือศูนย์กลางของงานศิลป์สร้างสรรค์

ภายในงายจึงเต็มไปด้วยศิลปิน และภาพวาดสตรีทอาร์ต ไม่ว่าจะเป็น การวาดผ้าบาติก ปะติมากรรม งานปั้นเซรามิก รวมถึงเวิร์คช็อปด้านต่างๆ เช่นการทำจิวเวอรี่หรือการทอผ้าร่วมสมัย

ที่สำคัญคือภายในโครงการบลูทรีฯ มีห้องแกลอรี่งานศิลปะชื่อ The Living Art ซึ่งได้นำศิลปะหลากหลายแขนงมาร่วมจัดแสดง นับเป็นการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้มีช่องทางจัดแสดงผลงาน นอกจากนั้นยังสามารถเข้าไปชมแกลเลอรี่ผ่านระบบ VR เสมือนจริงในเว็บไซต์

ในอนาคต “บลูทรี ภูเก็ต” ได้วางแผนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Learning Centre) เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เข้ากับภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต และจะเป็นต้นแบบให้ธุรกิจการท่องเที่ยวอื่นๆ ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักความยั่งยืน