ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเตรียมคลายล็อกธุรกิจพลังงาน สื่อสาร ท่องเที่ยว ดึงต่างชาติลงทุนสร้างงาน

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเตรียมคลายล็อกธุรกิจพลังงาน สื่อสาร ท่องเที่ยว ดึงต่างชาติลงทุนสร้างงาน

24 มกราคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 มกราคม 2564

  • อินโดนีเซียเปิดธุรกิจพลังงาน สื่อสาร ท่องเที่ยว ดึงต่างชาติลงทุน
  • กัมพูชาแก้ไขกฎหมายการพาณิชย์ดึงต่างชาติลงทุน
  • เวียดนามอนุมัติตั้งเขตเกษตรไฮเทค
  • จังหวัดกว๋างนิญของเวียดนามตั้งเป้าเป็นศูนย์เศรษฐกิจทางทะเล
  • เมียนมาตั้งตลาดกลางการเกษตร
  • สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่ง FDI ในเมียนมา
  • อินโดนีเซียเปิดธุรกิจพลังงาน สื่อสาร ท่องเที่ยว ดึงต่างชาติลงทุน

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/01/23/opening-of-new-office-buildings-to-further-push-up-vacancy-rate-in-jakarta.html
    อินโดนีเซียเตรียมที่จะปลดธุรกิจพลังงาน การสื่อสาร และการท่องเที่ยว ออกจากธุรกิจต้องห้ามสำหรับต่างชาติ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและสร้างงาน

    สาขาธุรกิจซึ่งเป็นกิจการที่มีเงื่อนไขในการลงทุนสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศได้ลดเหลือเพียง 48 สาขาจากมากกว่า 300 สาขาที่กำหนดไว้ในร่างคำสั่งประธานาธิบดี รัฐบาลเตรียมที่จะยกเลิกข้อจำกัด สำหรับสาขาธุรกิจต่างๆ เช่น การสื่อสาร สารสนเทศและเทคโนโลยี พลังงาน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แม้จะยังต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบอื่นๆ

    ทั้งนี้คาดว่าจะมีการประกาศในเดือนหน้า ซึ่งการยกเลิกข้อจำกัดนี้นับเป็นการปรับปรุงสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย หรือ Negative Investments List (DNI)ในหลายร้อยสาขาธุรกิจที่รอกันมานาน เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้ตัด 20 สาขาธุรกิจที่ห้ามการลงทุนภาคเอกชนให้เหลือเพียง 6 สาขา ได้แก่ ยาควบคุม การพนัน การจับปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ การเก็บเกี่ยวปะการัง การผลิตอาวุธเคมี และสารเคมีทางอุตสาหกรรม โดยผ่านประมวลกฎหมายสร้างงาน omnibus law ที่ผ่านความเห็นชอบในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะคงสาขาธุรกิจในภาคสำคัญซึ่งมุ่งเน้นการส่งออก หรือเป็นธุรกิจสำคัญในโครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติทุน หรือโครงการที่ใช้แรงงานมาก สาขาในภาคธุรกิจสำคัญนี้รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีสิทธิ์ได้รับแรงจูงใจทางการเงิน เช่น สิทธิภาษี การลดหย่อนภาษีและลดหย่อนการลงทุน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ความสะดวกในการออกใบอนุญาตธุรกิจ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการรับประกันความพร้อมของวัตถุดิบ

    การถือหุ้นของต่างชาติจะยังคงจำกัดในภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับการขนส่ง การแพร่ภาพและการเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการธนาคารและการเงินจะต้องได้รับใบอนุญาตพิเศษจากรัฐบาลตามร่างคำสั่งฉบับนี้ กองทุนทั่วโลกสามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าการลงทุนที่สูงเกิน 10 พันล้านรูเปียะห์ (944,267 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ขึ้นไป ยกเว้นการลงทุนในสตาร์ทอัปที่ใช้เทคโนโลยีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามข้อกำหนดในร่างคำสั่งซึ่งกำลังทำรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ

    อินโดนีเซียประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังพยายามดำเนินการเพื่อให้พ้นจากภาวะถดถอยและบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5% ในปีนี้ การปฏิรูปและลดความซับซ้อนของกฎระเบียบทางธุรกิจ อาจดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้นและเป็นเครื่องยนต์สำคัญสำหรับการเติบโตของประเทศท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

    แผนการดึงการลงทุนนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย นักลงทุนต้องเป็นพันธมิตรกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเมื่อลงทุนในโครงการที่ใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก หรือเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมพิเศษ หรือโครงการที่ต้องการเงินทุนน้อยกว่า 10,000 ล้านรูเปียะห์ไม่รวมทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์

    ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่จำนวน 56 แห่งได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 196 แห่ง โดยมีมูลค่าสัญญารวมกัน 1.5 ล้านล้านรูเปียะห์ จากการเปิดเผยของนายบาห์ลิล ลาฮาดาลีอะ ประธานคณะกรรมการการลงทุนอินโดนีเซียบาห์ลิลลาฮาดาเลีย

    พันธมิตรทางธุรกิจเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อเนื่อง และสร้างสมดุลการลงทุนทั้งภายในและภายนอกเกาะชวา

    กัมพูชาแก้ไขกฎหมายการพาณิชย์ดึงต่างชาติลงทุน

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/principle-nod-trade-law-changes

    กัมพูชาได้อนุมัติในหลักการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยว่าด้วยองค์กรทางการพาณิชย์ (Law on Commercial Enterprises) และกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์ทางการค้าและการจดทะเบียนพาณิชย์ (Law on Commercial Rules and Registration) เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดการลงทุนในประเทศ จากข่าวประชาสัมพันธ์ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน

    การประชุมในวันที่ 18 มกราคมมีประธานคณะกรรมการ นายอัน พรมณีโรท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และ นายพัน สรศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

    การแก้ไขกฎหมายมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้การจดทะเบียนธุรกิจราบรื่นและเพิ่มประสิทธิภาพบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมของกระทรวงการคลัง ที่มีชื่อว่า Cambodia Data Exchange (CamDX) และกำหนดระเบียบและขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนกลไกที่ใช้บังคับ และเพื่อให้กฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกัน ซึ่งคณะกรรมการระบุว่า จะให้กระบวนการดำเนินธุรกิจในกัมพูชากระชับขึ้น และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    ระบบ CamDX เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบครบวงจรและสร้างแบบจำลองจากซอฟต์แวร์มาตรฐานที่รัฐบาลเอสโตเนียใช้ ตามที่ระบุไว้ในข้อมูลนำเสนอของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่โพสต์บนเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย

    สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการอนุมัติของคณะรัฐบาลระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เร่งให้คณะทำงานระหว่างกระทรวงจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

    นายลอง เขมวิชิต โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายจะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในกัมพูชา

    โดยย้ำว่า กฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจะสนับสนุนกลไกที่เกี่ยวข้อง มีความชัดเจนและความสอดคล้องของกฎหมายมากขึ้น และทำให้การทำธุรกิจในกัมพูชาง่ายขึ้น การแก้ไขกฎหมายจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน “เราหวังว่าการแก้ไขกฎระเบียบและขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยดึงดูดธุรกิจจำนวนมากให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชา”

    นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายสองฉบับนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนรอมานาน โดยระบุว่า ขั้นตอนปัจจุบันในการอัปเดตข้อมูลทางธุรกิจ มีความยุ่งยากหลายขั้น เพราะติดกระบวนการของระบบราชการที่มีความซับซ้อนมากเกินไป และไม่ได้ปรับให้รับกับพัฒนาการทางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

    “การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์กรทางการพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์ทางการค้าและการจดทะเบียน ไม่เพียงช่วยลดเวลาและงบที่บานปลาย แต่ยังลดกระบวนการของระบบราชการ”

    “การปรับขั้นตอนการดำเนินธุรกิจเป็นแนวทางที่ดีสำหรับรัฐบาลในการส่งเสริมและทำให้กัมพูชาเป็นจุดที่มีความน่าสนใจให้กับนักธุรกิจในประเทศและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น และจะช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาด้วย”

    กฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การค้าและการจดทะเบียนฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2538 ส่วนกฎหมายว่าด้วยองค์กรทางการพาณิชย์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2548

    เวียดนามอนุมัติตั้งเขตเกษตรไฮเทค

    ที่มาภาพ:
    https://vietnamnews.vn/economy/859678/thai-nguyen-high-tech-agricultural-zone-set-up.html

    นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ได้ลงนามในคำสั่งฉบับที่ 70/QD-TTg ให้จัดตั้งและการออกระเบียบปฏิบัติสำหรับเขตเกษตรกรรมไฮเทคท้ายเหงียน หรือ Thái Nguyên high-tech agricultural zone

    เขตเกษตรกรรมไฮเทคท้ายเหงียนนี้จะตั้งขึ้นใน ย่านเตี่ยน ฟง เมืองเฝอ เหยียน จังหวัดท้าย เหงียน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 154.36 เฮกตาร์
    เขตเกษตรกรรมไฮเทคท้ายเหงียน จะเป็นแหล่งวิจัยและนำร่องรูปแบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการทำฟาร์ม การป่าไม้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเก็บรักษาและแปรรูปผลผลิตในฟาร์ม

    รวมทั้งจะเน้นไปที่การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเฉพาะ สำหรับภาคการเกษตรของจังหวัด ของภูมิภาค และเวียดนามโดยรวม

    คณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัดได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างการประเมินและการอนุมัติ การวางแผนของเขตเกษตรกรรมไฮเทคท้ายเหงียน

    ก่อนหน้านี้จังหวัดท้าย เหงียน ได้ตั้งเขตการผลิตเกษตรแปลงใหญ่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ท้ายเหงียนเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามมีพื้นที่ร่วมกัน มากกว่า 22,400h เฮกตาร์

    จังหวัดกว๋างนิญของเวียดนามตั้งเป้าเป็นศูนย์เศรษฐกิจทางทะเล

    https://vietnamnews.vn/economy/859675/quang-ninh-eyes-becoming-dynamic-sea-based-economic-hub.html

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/772855/new-coastal-economic-zone-set-up-in-quang-ninh.html

    จังหวัดกว๋างนิญทางตอนเหนือได้วางแนวทางยกระดับเศรษฐกิจทางทะเล โดยเน้นที่การท่องเที่ยว บริการทางทะเล และอุตสาหกรรมชายฝั่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ก่อนถึงการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 13 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 มกราคมนี้ นายเกา เจื่อง ฮุย รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด กล่าวว่า จังหวัดเป็นผู้นำในการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือให้ก้าวสสู่เศรษฐกิจทางทะเลที่แข็งแกร่ง

    ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกัน มีผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงอย่างหลากหลาย และมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งในภูมิภาคและระดับโลก จังหวัดกว๋างนิญจึงลงทุนมหาศาลในสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวและการค้า การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ในฮาลอง, เวินโดน, โกโต, ไห่ฮา, หม่องก๋าย และบ่าย ตู ลอง

    จังหวัดจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนฮาลองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทันสมัย ขณะที่พัฒนาเวินโดนและโกโตให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิงระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังศึกษาวิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น การแล่นเรือสำราญ แท็กซี่น้ำ เครื่องบินทะเล การขึ้นบอลลูนและการดำน้ำลึก

    นอกจากนี้จะให้ความสนใจกับการยกระดับท่าเรือประมงในพื้นที่และที่จอดเรือ การปรับปรุงโลจิสติกส์การประมงในเขตโกโตและเวินโดน และจัดตั้งศูนย์ประมง 3 แห่งในเวินโดน โกโต และดั่มไห่ และศูนย์การค้าอาหารทะเล 2 แห่งในเมืองฮาลอง

    จังหวัดกว๋างนิญจะพัฒนาโลจิสติกส์ให้เป็นภาคธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลก

    นายเกา เจือง ฮุย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐสภา ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมชายฝั่งและภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยย้ำว่ากว๋างนิญให้ความสำคัญสูงสุดกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การต่อเรือไฮเทค และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งจะใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการส่งออก ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และประหยัดทรัพยากรทางทะเล

    จังหวัดมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสนใจในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจจากทะเล เช่น เวชภัณฑ์และสาหร่ายทะเล และการทำฟาร์มหญ้าทะเลและการแปรรูป

    ในเดือนกันยายน 2020 นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ได้ลงนามตั้งเขตเศรษฐกิจชายฝั่งกว่างเอียน จังหวัดกว๋างนิญ ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

    เขตเศรษฐกิจกว่างเอียนมีพื้นที่ 13,303 เฮกตาร์ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดกว๋างนิญ มีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางธรรมชาติและภูมิศาสตร์ ในการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ การค้าและการบริการกับเขตเศรษฐกิจชายฝั่งอื่นๆ เช่น เวินโดน, ดิ่น วู-กั๊ต ไห่ ในไฮฟอง และท้ายบินห์ ที่อยู่ใกล้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละเขต และสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระหว่างเขตเศรษฐกิจกับพื้นที่ใกล้เคียง

    เขตเศรษฐกิจกว่างเอียนจะเริ่มพัฒนาไปจนถึงปี 2035

    เมียนมาตั้งตลาดกลางการเกษตร

    ที่มาภาพ: https://consult-myanmar.com/2020/03/02/bidding-announcement-second-round-agricultural-marketing-center-closing-date-9-march-2020/
    กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน มีแผนจัดตั้งตลาดกลางการเกษตร ในกรุงเนปิดอว์ เพื่อผลักดันตลาดเกษตรของประเทศ และมีประโยชน์ต่อเกษตร

    ทั้งนี้ได้มีการเปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โดยจะมีการพัฒนาด้วยความร่วมมือจาก Korean International Corporation Agency และเกาหลีใต้จะสนับสนุนเงินจำนวน 8.37 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการนี้

    ศูนย์กลางตลาดแห่งนี้จะรวบรวมและให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัยและเอื้อต่อการค้าส่ง

    อู ถิ่น ทุน รองปลัดกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน กล่าวว่า โครงการนี้จะรองรับธุรกิจหลังเก็บเกี่ยว เพราะเราต้องการบริการหลังเก็บเกี่ยวที่ศูนย์กลางตลาดการเกษตร

    สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่ง FDI ในเมียนมา

    ที่มาภาพ:
    https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-source-of-fdis-in-myanmar-in-2020-2021fy/
    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอันดับหนึ่งในเมียนมาในไตรมาสแรกของปีงบประมาณปัจจุบันปี 2020-2021 จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย Directorate of Investment and Company Administration (DICA) หน่วยงานที่ดูแลการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

    บริษัทจดทะเบียนของสิงคโปร์ 6 รายนำเงินเข้าเมียนมา 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2020 โดยส่วนใหญ่ลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิต

    จีนครองตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองในปีงบประมาณนี้ด้วยเงินทุนประมาณ 133.53 ล้านดอลลาร์จาก 8 บริษัท ตามด้วยไทยที่ลงทุน 24 ล้านดอลลาร์ในเมียนมาร์

    นักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 มีทั้งบริษัทจดทะเบียนจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สหราชอาณาจักร เวียดนาม เกาะมาร์แชล และจีน (ไทเป)

    DICA ระบุว่า เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 348.8 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนตุลาคม-ธันวาคมของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งรวมการขยายการลงทุนของบริษัทที่ได้ลงทุนอยู่แล้ว และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ในบรรดาบริษัทต่างชาติ 23 แห่งที่ได้รับอนุญาตและรับรองโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission: MIC) และคณะกรรมการการลงทุนที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 1 ตุลาคมถึง 31 ธันวาคมของปีงบประมาณปัจจุบัน มี 13 บริษัทได้ลงทุนในภาคการผลิต ภาคปศุสัตว์และการประมงดึงดูด 3 โครงการลงทุน ขณะที่ภาคการเกษตร พลังงานและภาคบริการอื่นๆ แต่ละภาคดึงการลงทุนได้ 2 โครงการแต่ละโครงการ และมี 1 บริษัทต่างชาติลงทุนในภาคการโรงแรมและการท่องเที่ยว

    MIC ตั้งเป้าหมาย FDI ไว้ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน 2020-2021

    สิงคโปร์ครองตำแหน่งนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมาร์ตั้งแต่ปี 2012 โดยลงทุน 1.85 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2019-2020 ลงทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2018-2019, ลงทุน 724.4 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีงบประมาณสั้นๆ (เมษายน-กันยายน 2018), ลงทุนจำนวน 2.16 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017-2018, ลงทุน 3.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016-2017, ลงทุน 4.25 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015-2016, ลงทุน 4.29 พันล้านดอลลาร์ในปี 2014-2015, ลงทุน 2.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2013-2014 และ 418 ล้านดอลลาร์ในปี 2012-2013 ตามลำดับ

    นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวารองจากนักลงทุนญี่ปุ่น