
“ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์” รองเลขาธิการ อีอีซี คุมเข้มการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 กลุ่ม 11 ประเภท รองรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกสั้นๆ “แผนผังอีอีซี” ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 โดยมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้ 4 กลุ่ม คือ พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า แผนผังอีอีซี พื้นที่รวม 8.29 ล้านไร่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเดิมไป 8.29% แบ่งเป็น เปลี่ยนพื้นที่การพัฒนาเมือง 3.7% พื้นที่อุตสาหกรรม 1.9% และพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.93%
นอกจากนั้น แผนผังอีอีซี ได้วางแผนรองรับการพัฒนาจนถึงปี 2580 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน รวมเป็น 6 ล้านคนในพื้นที่อีอีซี
ที่ผ่านมา ก่อนที่แผนผังอีอีซี จะประกาศบังคับใช้ สกพอ.ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนกว่า 4,000 คน ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มทั้งส่วนราชการ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชนในพื้นที่
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2020/12/ผังเมือง-EEC.pdf” title=”ผังเมือง EEC”]“ในการรับฟังความเห็น เราไม่ได้เพียงนำแผนผังไปติดบอร์ดให้ประชาชนรับทราบว่า ‘แผนผังอีอีซี’ หน้าตาเป็นอย่างไร แต่เราประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด อปท. อบจ. ว่าในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าบ้านมีความคิดเห็นอย่างไร แล้วเราก็นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับแก้หลังจากนั้น ก็ประชุมร่วมกับสื่อมวลชนในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน พี่น้องประชาชนรวมทั้งสิ้น 40 เวที จำนวนผู้เข้าร่วมรับฟัง 4,000 คน นอกจากนั้น เราสื่อสารเรื่องดังกล่าว ผ่านช่องทางอื่นๆ อีกจำนวนมาก เพราะเราคาดหวังว่าจะมีการกระจายข่าวสาร และการรับรู้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ทุกความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม เรานำมาพิจารณาประกอบการจัดทำแผนผังอีอีซี เสมอ”
แผนผังอีอีซี ของเรานอกจากเป็นการวางเพื่อรองรับการพัฒนาใน 20 ปีแล้ว นอกจากนั้นเรามีจุดเด่น คือพื้นที่บริเวณแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำที่สำคัญ เรากันพื้นที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดย 200 เมตรแรก ต้องอนุรักษ์อย่างเดียว หลังจากนั้นระยะ 201 ถึง 500 เมตร ถัดมาสามารถพัฒนาได้ทุกอย่าง ยกเว้นโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทต้องห้าม นอกจากนั้นถ้าเป็นพื้นที่ป่าต้องเว้นไว้ 1 กิโลเมตร ห้ามสร้างโรงงาน
“เมื่อก่อนไม่มีการกำหนดขอบเขตชัดเจน แบบนี้ ทำให้เกิดปัญหา เช่น ที่แม่น้ำบางประกงไม่มีการกันพื้นที่ไว้ 500 เมตร ทำให้เกิดการสร้างหมู่บ้านติดแม่น้ำ หรือบางพื้นที่กลายเป็นบ่อฝังกลบขยะจากนอกพื้นที่ ทำให้ชุมชนโดยรอบ ประสบปัญหาการรบกวนจากกลิ่น หรือ มีแมลงวันเป็นจำนวนมาก รบกวนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านถึงขนาดต้องกางมุ้งคุยกัน ตอนกลางวัน”
หลังจากแผนผังอีอีซีประกาศบังคับใช้แล้ว ตาม มาตรา 32 พรบ.อีอีซี ได้กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องไปจัดทำผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับแผนผังอีอีซี ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จครบทุกอำเภอ ประมาณ ปี 2567 โดยจำแนกเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา 11 อำเภอ จังหวัดชลบุรี 11 อำเภอ และ จังหวัด ระยอง 8 อำเภอ หากดำเนินการครบถ้วนทุกอำเภอแล้ว ถือว่าแผนผังอีอีซี หมดอายุไป
“มาตรา 32 : แผนผังที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 30 เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ให้ผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ในส่วนที่ใช้บังคับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอยู่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนผังนั้นเป็นอันยกเลิกไป และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสำหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก”
สำหรับกระบวนการดำเนินการและจัดทำผังเมืองรวมตาม พ.ร.บ.การผังเมืองฯ ปี 2562 จะใช้เวลา 72-82 สัปดาห์ มีดังนี้
-
1. สำรวจ กำหนดเขตผัง วิเคราะห์และจัดทำร่างผังเมืองรวม 18 สัปดาห์
2. ประชุมเพื่อพิจารณาร่างผังเมืองรวม 2 สัปดาห์
3. ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 12 สัปดาห์
4. ประชุมคณะกรรมการผังเมือง 6 สัปดาห์
5. ปิดประกาศพร้อมข้อกำหนด 90 วัน 18 สัปดาห์
6. รวบรวม ตรวจสอบ พิจารณาคำร้อง และแจ้งผลการพิจารณาคำร้อง 2-12 สัปดาห์
7. จัดทำเอกสารประกอบการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย 2 สัปดาห์
8. นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 12 สัปดาห์
กรณีที่จะดำเนินการได้เร็วที่สุดอยู่ที่ 72 สัปดาห์ แต่หากมีการรับเรื่องร้องเรียน (ขั้นตอนที่ 6) จะทำให้กระบวนการล่าช้า โดยใช้เวลามากที่สุดถึง 82 สัปดาห์ ณ เดือนพฤจิกายน 2563 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอ เพียง 3 ผังเมืองรวม คือชลบุรี 1 ผังเมือง และฉะเชิงเทรา 2 ผังเมือง ที่อยู่ในขั้นตอนที่ 3 (ประชุมรับฟังความคิดเห็น) ที่เหลืออยู่ในขั้นตอน 1 และ 2
อย่างไรก็ตาม นางสาวทัศนีย์ ย้ำว่า “การพิจารณาเปลี่ยนสีตามแผนผังอีอีซี เป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง”
“ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การกำกับ ติดตาม ดูแล ให้การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามแผนผังอีอีซี ที่ได้ประกาศใช้ไป ซึ่ง สกพอ.รวมกับหลายภาคส่วนช่วยกัน เช่น กลุ่มพลังสตรี และบัณฑิตอาษา ที่จะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ”
สำหรับกระแสข่าวที่จะมีการปรับเปลี่ยนแผนผังอีอีซีเรื่องถนนในอีอีซีนั้น นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกพอ.ก็ดำเนินการไปตามผังเมืองรวมเดิม แต่เมื่อมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สกพอ.พร้อมนำข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายมาปรับปรุง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด และมีผลกระทบกับประชาชนและคนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด
อ่าน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน-การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC เพิ่มเติม