วันที่ 21 ธันวาคม 2563 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยอนุมัติแพคเกจกระตุ้นการลงทุนในปีหน้า 4 มาตรการ เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มการลงทุนกลับมาดีขึ้นและมีเงินลงทุนเกินกว่า 3 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นและจะเริ่มเห็นการใช้วัคซีนต้านโควิด ส่วนในประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดี จึงคาดว่าจะเห็นด้านความต้องการลงทุนกลับมาในปีหน้า
“ปีนี้เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายภาพรวมการยื่นขอลงทุน เพราะเกิดสถานการณ์โควิด แต่ก็คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาจำนวนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มูลค่าต่อโครงการเฉลี่ยน้อยลง อย่างไรก็ตาม เราเห็นการลงทุนบางสาขาที่เติบโต เช่น พวกสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมี work from home(ทำงานอยู่บ้าน) หมวดอาหารและหมวดการแพทย์ก็ขยายดี” นางสาวดวงใจกล่าว
ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2563 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมมูลค่า 223,720 ล้านบาท ลดลง 15% ส่วนการอนุมัติการส่งเสริมมีจำนวน 1,174 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% รวมเงินลงทุน 274,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม มีจำนวน 1,035 โครงการ เพิ่มขึ้น 7% และเงินลงทุน 331,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
สำหรับแพคเกจมาตรการ 4 ด้านที่คณะกรรมการบีโอไออนุมัติในการประชุมครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
มาตรการยกระดับกิจการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยบริษัทหรือกิจการที่ดำเนินการอยู่เสนอแผนลงทุนที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับกระบวนการทำงาน เช่น การนำซอฟแวร์หรือระบบสารสนเทศมาใช้ในการเข้าสู่ระบบ National E–Payment และระบบอื่น ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์
ผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมมาตรการนี้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน
ทั้งนี้ บีโอไอกำหนดเงื่อนไขว่า หากเป็นบริษัทหรือกิจการทั่วไป วงเงินลงทุนต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่นับรวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมีวงเงินลงทุนเพียง 5 แสนบาท โดยสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565
“มาตรการนี้เป็นการส่งเสริมให้กิจการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเคยได้รับบีโอไอหรือไม่เคยรับ ก็สามารถยื่นโครงการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและการผลิตหรือการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นางสาวดวงใจกล่าว
มาตรการกระตุ้นลงทุนปี 2564 สำหรับโครงการที่มีการลงทุนจริง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากบีโอไอต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการนี้กำหนดให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ หากเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2564 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564
“มาตรการนี้เดิมใช้ตั้งแต่ปี 2562 แล้วสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ เราจึงได้ออกมาตรการนี้มาอีกแต่เปลี่ยนเงื่อนไขเพิ่มให้ เพราะต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” นางสาวดวงใจกล่าว
มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ 10 จังหวัด ได้แก่กาญจนบุรี เชียงราย ตราด ตาก นครพนม นราธิวาส มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว หนองคาย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค
โดยขยายเวลารับคำขอส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ 10 จังหวัด ออกไปอีก 2 ปี ถึงวันสุดท้ายของปี 2565
มาตรการนี้ ครอบคลุมทุกประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมกว่า 300 กิจการ แต่หากเป็นกิจการที่อยู่ใน 14 กลุ่มกิจการเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตร ประมง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง เครื่องเรือน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ พลาสติก กิจการท่องเที่ยว เป็นต้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 5 ปี
นอกจากนี้ให้ขยายเวลารับคำขอส่งเสริมการลงทุนสำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 2 ปี เช่นเดียวกัน แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา และ 2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท และใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมร่วมได้ด้วย และหากมีโครงการที่ลงทุนอยู่แล้วเดิม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งโครงการเดิม และโครงการลงทุนใหม่
นอกจากนี้ ยังมี 5 ประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในเฉพาะพื้นที่ SEZ และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น โดยยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ได้แก่
1) กิจการผลิตวัสดุก่อสร้างและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค
2) กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน เครื่องสำอาง
3) กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก
4) กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ เช่น กล่องกระดาษ
5) กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและ/หรือคลังสินค้า
“การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน SEZ ตั้งแต่เริ่มปี 2558 จนถึงเดือนกันยายน ปีนี้ มี่จำนวน 84โครงการ มูลค่า 18,932 ล้านบาท โดยตากเป็นจังหวัดที่ยื่นขอมากสุด ส่วนสงขลาเป็นจังหวัดที่มีเงินลงทุนมากสุด จะเป็นประเภทอุตสาหกรรมเกษตร โรงไฟฟ้า โรงงานถุงมือยาง ที่ขยายตัวเยอะมาก”นางสาวดวงใจกล่าว
มาตรการการให้เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยหากเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 – 8 ปีขึ้นไป จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 2 ปี แต่หากเป็นกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุน ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปีอยู่แล้ว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการที่ตั้งในเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และศูนย์การแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd)