หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ นำผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด มาประมวลผล สรุปออกมาเป็น “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในช่วง 5 ปีข้างหน้า” (พ.ศ. 2556–2560)
โดยร่างยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอฉบับนี้ กำหนดเป้าหมายเอาไว้ 4 ประการ คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 3. ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ และ 4. สนับสนุนให้ธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการลงทุนแนวใหม่เป็นไปตามเป้าหมาย บีโอไอได้ปรับปรุงระบบการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่ ( 6 Big changes) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ด้านที่ 1 ปรับเปลี่ยนนโยบาย จากเดิมส่งเสริมการลงทุนแบบกว้างและครอบคลุมเกือบทุกกิจการ (Broad-based) เปลี่ยนเป็น “ส่งเสริมที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยมีการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น” (Focus & Prioritized) โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอนาคต 4 หมวดใหญ่ 10 กลุ่มย่อย ดังนี้
หมวดแรก โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Foundation) ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เช่น เขตอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า สนามบินพาณิชย์ ศูนย์บริการโลจิสติกส์ กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี เยื่อกระดาษหรือกระดาษ เครื่องจักร กลุ่มที่ 3 อุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารทางการแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ กลุ่มที่ 4 อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กิจการ Recycle การบริการบำบัดน้ำเสียและกำจัดกากอุตสาหกรรม การบริการด้านจัดการพลังงาน (ESCO) กลุ่มที่ 5 ธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม เช่น R&D, HRD, Engineering Design, Software, บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน กิจการ ROH กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน
หมวดที่ 2 เทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูงที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย (Advanced Core Technologies) เป็นกลุ่มที่ 6 เทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง
หมวดที่ 3 อุตสาหกรรมที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ และความเป็นไทย (Thainess) ได้แก่ กลุ่มที่ 7 อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น อาหารแปรรูป วัตถุเจือปนอาหาร สารสกัดจากสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล กลุ่มที่ 8 อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness เช่น กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกีฬา การสร้างภาพยนตร์ไทยและบริการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
หมวดที่ 4 อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความสามารถเป็นฐานการผลิตหลักของโลก (Global Supply Chain) ที่สำคัญ คือ กลุ่มที่ 9 อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า อากาศยาน ต่อเรือหรือซ่อมเรือ และกลุ่มที่ 10 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น Electronic Design, Organics & Printed Electronics, HDD & SDD และชิ้นส่วน, เซลล์แสงอาทิตย์, White Goods
ทั้ง 4 หมวดใหญ่ และ 10 กลุ่มย่อย ดังกล่าวคืออุตสาหกรรมในอนาคตที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
จากนั้นก็มีการทบทวน “บัญชีประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม A บัญชีกิจการเป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เฉพาะกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ กลุ่มนี้มีทั้งหมด 101 ประเภทกิจการ ในจำนวนนี้มีอยู่ 32 ประเภทกิจการ ที่ได้รับยกเว้น CIT สูงสุด 8 ปี
กลุ่ม B บัญชีกิจการที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และ Non-tax กลุ่มนี้มีประมาณ 23 ประเภทกิจการ เป็นกิจการที่สมควรได้รับส่งเสริม แต่ไม่ได้รับยกเว้น CIT กลุ่ม C มีประมาณ 80 ประเภทกิจการ กิจการกลุ่มนี้บีโอไอจะไม่แจกบัตรส่งเสริมการลงทุนอีกต่อไป
ด้านที่ 2 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ จากเดิมจะให้บัตรส่งเสริมการลงทุนตามประเภทกิจการ (Sector-based Incentives) รูปแบบใหม่จะให้การส่งเสริมตามประเภทกิจการ แต่จะให้เน้นเฉพาะกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ (Sector & Merit-Based Incentives) โดยให้สิทธิประโยชน์แปรผันตามคุณค่า (Merit) ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้นักลงทุนพัฒนาความสามารถและยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น
ดังนั้น การให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอในด้านนี้มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การให้สิทธิประโยชน์พื้นฐาน (Basic Incentives) กับการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-Based Incentives) โดยกำหนดสิทธิประโยชน์พื้นฐานให้มีความแตกต่างกันระหว่างโครงการลงทุนใหม่กับโครงการขยาย (Reinvestment) และในกลุ่ม A2 และ A3 ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชน ยกระดับเทคโนโลยีและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ใช่จะนำโครงการขยายแบบเดิมมาขอรับการส่งเสริมอยู่ตลอดไป
การปรับลดสิทธิประโยชน์พื้นฐานให้ต่ำลง พร้อมกับนำมาตรการเชิงคุณค่า (Merit-Based) มาใช้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากยิ่งขึ้น อาทิ ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา (R&D), ได้รับมาตรฐาน ISO 14000 หรือ Carbon Footprint หรือตั้งโรงงานอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม
ด้านที่ 3 ยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนตามเขตพื้นที่ (Zones) มาเป็นส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค (New Regional Clusters) ในอดีตที่ผ่านมา บีโอไอแบ่งกิจการที่จะได้รับบัตรส่งเสริมเป็น 3 เขต โดยโรงงานที่ไปสร้างในเขต 3 จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงที่สุด ส่วนเขต 1 ได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำสุด แต่ผลปรากฏว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงการลงทุนประมาณ 60% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกและจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ เช่น ระยอง ชลบุรี อยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เป็นต้น สาเหตุที่นักลงทุนไม่ไปลงทุนในเขต 3 เพราะขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับการลงทุน
ดังนั้น ในร่างยุทธศาสตร์ใหม่จึงยกเลิกระบบการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ และปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในแต่ละภาคหรือพื้นที่ชายแดนแทน โดยจะมีการจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค” ซึ่งอยู่ภายใต้บอร์ดของบีโอไอ ทำหน้าที่กำหนดคลัสเตอร์ที่ต้องการส่งเสริม, พื้นที่เป้าหมาย, สิทธิประโยชน์ และมาตรการมาสนับสนุนเป็นรายกรณี
ตัวอย่างคลัสเตอร์ที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป (Food Valley), คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล, คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City), คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่น, คลัสเตอร์อุตสาหกรรมบันเทิง, คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยาน, คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คลัสเตอร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ด้านที่ 4 ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมที่เน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentives) มาเป็นการปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เหมาะสม และเน้นการอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุน (Tax Incentives + Facilitation)
หากเปรียบเทียบบรรยากาศการลงทุนของไทยกับประเทศคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผลการจัดลำดับการลงทุนของไทยอยู่ในระดับคงเดิม แต่ประเทศคู่แข่งดีขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการปรับเพิ่มบทบาทใหม่ให้กับบีโอไอ ได้แก่ บทบาทในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวก, การสร้าง New Regional Cluster, การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม, การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมลงทุนไทยในต่างประเทศ
ด้านที่ 5 ปรับเปลี่ยนบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเป็นหลัก (Inbound Investment) มาเป็นการเพิ่มบทบาทส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Inbound & Outbound Investment)
บรรยากาศการลงทุนที่ดีมีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพเข้าสู่ประเทศ หากเปรียบเทียบผลการจัดอันดับบรรยากาศการลงทุนของไทยกับประเทศคู่แข่ง พบว่าที่ผ่านมาผลการจัดลำดับของไทยอยู่ในระดับคงเดิม ขณะที่ประเทศคู่แข่งดีขึ้น ดังนั้น บีโอไอจึงควรเพิ่มบทบาทใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, สร้างรายได้ให้กับประเทศ และเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลก มีแนวทางดังนี้
5.1 จัดตั้ง “คณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ” ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายและเครื่องมือสนับสนุนต่างๆ ทั้งมาตรการด้านภาษีอากร มาตรการด้านการเงิน และมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็น
5.2 จัดตั้ง “สำนักส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ” ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
5.3 จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ” เพื่อจัดอบรมหลักสูตรสร้างนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมรุ่นที่ 3-4
5.4 จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ” เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร พร้อมมีทีมที่ปรึกษา ช่วยเหลือแนะนำนักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศเป้าหมาย
5.5 ศึกษาลู่ทางการลงทุนเชิงลึกในอุตสาหกรรมเป้าหมายสาขาต่างๆ
5.6 จัดสัมมนาเผยแพร่ลู่ทางการลงทุนในหัวข้อต่างๆ เช่น กฎระเบียบในการทำธุรกิจในต่างประเทศ โอกาสทางการตลาดในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เป็นต้น
5.7 นำนักลงทุนไทยไปสำรวจลู่ทางการลงทุนและหารือกับหน่วยงานรัฐในต่างประเทศ
5.8 ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุน
5.9 เจรจา G to G ในประเทศเป้าหมาย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและลดอุปสรรคของนักลงทุน
ด้านที่ 6 ปรับเปลี่ยนผลงานของบีโอไอ เดิมวัดผลงานจากมูลค่าคำขอรับการส่งเสริม (Application Values) เปลี่ยนเป็นวัดผลจากคุณค่าของโครงการลงทุน (Outcomes) โดยการกำหนดตัวชี้วัดตามวัตถุประสงค์มี 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
6.1 ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรม กำหนดตัวชี้วัด ได้แก่ จำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนในกิจการกลุ่ม A, จำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทำ R&D, มูลค่า R&D ต่อยอดขายอุตสาหกรรม (R&D Intensity), จำนวนการจดสิทธิบัตร, มูลค่าเพิ่มต่อแรงงาน (Value Added per Worker), มูลค่าการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม และผลการสำรวจบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทย
6.2 ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ตัวชี้วัดคือ จำนวนบริษัทที่ได้รับมาตรฐาน ISO 14000, Carbon Footprint หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และจำนวนกิจการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการส่งเสริม
6.3 ส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค ตัวชี้วัดคือ ความสำเร็จของการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ ทั้งจำนวนโครงการ เงินลงทุน และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
6.4 ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ตัวชี้วัดคือ มูลค่าการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายและประเทศเป้าหมาย
หลังจากที่บีโอไอยกร่าง “ยุทธศาสตร์ใหม่” เสร็จเรียบร้อย ช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 บีโอไอนำร่างยุทธศาสตร์ใหม่ออกเดินสายโรดโชว์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยจัดจัดงานสัมมนาทั้งหมด 6 ครั้ง มีนักลงทุนเข้าร่วมงาน 4,150 คน
และทุกครั้งที่มีการจัดงานสัมมนา ในช่วงบ่ายจะมีการแบ่งกลุ่มนักลงทุนที่เข้าร่วมงานออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ, กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก บริการและสาธารณูปโภค
ผลปรากฏว่า กลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ “บัญชีกำหนดประเภทกิจการที่จะได้รับบัตรส่งเสริมกิจการในอนาคต” โดยเฉพาะกรณีที่บีโอไอจะยกเลิกการให้สิทธิส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายตามร่างยุทธศาสตร์ใหม่ และมีบางประเภทกิจการถูกปรับลดสิทธิประโยชน์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมงานสัมมนาจึงขอให้บีโอไอทบทวน
วันที่ 13 มีนาคม 2556 นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ นำสรุปผลการทำประชาพิจารณ์ทั้ง 6 ครั้ง ส่งให้ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติให้ฝ่ายบริหารของบีโอไอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้นำความเห็นที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และให้นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งต่อไป