ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ชี้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “ตรงจุด” ได้ผล รายย่อย 70% กลับมาชำระคืนได้

ธปท. ชี้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “ตรงจุด” ได้ผล รายย่อย 70% กลับมาชำระคืนได้

22 ธันวาคม 2020


ธปท. แจงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แก้ปัญหาที่ตรงจุด-มีประสิทธิภาพ ลูกหนี้เริ่มฟื้นตัว หนุนยอดรับความช่วยเหลือลดกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ระบุลูกหนี้ธุรกิจกลุ่มแบงก์กว่า 95% ขอพักหนี้ถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น พร้อมกลับมาชำระปกติ ส่วนลูกหนี้ทั้งธุรกิจและรายย่อย ยังติดต่อไม่ได้มีสัดส่วน 3%

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ว่า จากการประเมินมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของ ธปท. ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จากการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไปในวงกว้าง และปรับให้มาเป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละรายนั้น ได้ผลและมีความคืบหน้าตามเจตนารมณ์ของการปรับนโยบายจากครอบคลุมเป็นเจาะจง เห็นได้จากสถานะและความสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขของลูกหนี้ในภาพรวมปรับดีขึ้น จึงไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หลังมาตรการพักชำระหนี้ที่ทยอยครบกำหนด

ในภาพรวม ลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือทยอยลดลงจาก 7.2 ล้านล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2563 เหลือ 6 ล้านล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2563 โดยเมื่อครบกำหนดมาตรการการพักชำระหนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือต่อ และสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทั้งนี้ การช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ประมาณร้อยละ 55 และของสถาบันการเงินเฉพาะกิจร้อยละ 45 มียอดหนี้ 2.7 ล้านล้านบาท

“เมื่อครบกำหนดมาตรการพักชำระหนี้ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือต่อ และสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ลูกหนี้เริ่มฟื้นตัวขอรับความช่วยเหลือลดลงกว่า 1.2 ล้านล้านบาท สถานะและความสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขของลูกหนี้ในภาพรวมปรับดีขึ้น จึงไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วหลังมาตรการพักชำระหนี้ที่ทยอยครบกำหนด หลังจากสิ้นสุดมาตรการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ได้ให้เจ้าหนี้คุยให้มากกับลูกหนี้ และตามกันให้ใกล้ชิด” นางวิเรขากล่าว

สำหรับมูลหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือแบ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจร้อยละ 63 และลูกหนี้รายย่อยร้อยละ 37 โดยลูกหนี้ธุรกิจได้รับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินพบว่าร้อยละ 66 ของหนี้ภาคธุรกิจสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ร้อยละ 32 ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนที่เหลือร้อยละ 2 ซึ่งมีวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทเป็นกลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถติดต่อได้

ในด้านของลูกหนี้รายย่อยพบว่าร้อยละ 70 สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ร้อยละ 29 ต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือมีมาตรการผ่อนปรนมารองรับ และร้อยละ 1 ยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถติดตามได้วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท

นางวิเรขากล่าวต่อว่า ลูกหนี้ทั้งธุรกิจและรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ มีความสามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางลดลง โดย ณ เดือน ตุลาคมที่ผ่านมา สถานะของลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยแยกได้ดังนี้

1. กลุ่มลูกหนี้ธุรกิจ มียอดหนี้ราว 2.12 ล้านล้านบาท พบว่า ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขปกติสัดส่วน 66% และลูกหนี้ที่ยังต้องปรับโครงสร้างหนี้มีสัดส่วน 32% ส่วน 2% เป็นลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อ ทั้งนี้ ลุกหนี้ธุรกิจส่วนใหญ่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ 95% ขอพักชำระหนี้ถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น หลังจากนั้นจะกลับมาชำระหนี้ตามปกติ ส่วนอีก 5 % จะขอพักหนี้ต่อถึงเดือนมิถุนายน 2564
2. กลุ่มลูกหนี้รายย่อยมียอดหนี้ราว 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่งกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขปกติถึง 70% และลูกหนี้ที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้มีสัดส่วน 29% ส่วน 1% เป็นลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อ

นางวิเรชากล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ธปท. ได้ติดตามและร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และเพื่อพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ได้ทันต่อเหตุการณ์ มีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน

ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่าน call center ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งได้โดยตรง หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริหารทางการเงิน ธปท. ส่วนลูกหนี้ที่มีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงิน สามารถแจ้งความต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase