ThaiPublica > เกาะกระแส > ประธานาธิบดีทรัมป์ตัด GSP ไทย ก.พาณิชย์พร้อมช่วยภาคเอกชนรับมือ

ประธานาธิบดีทรัมป์ตัด GSP ไทย ก.พาณิชย์พร้อมช่วยภาคเอกชนรับมือ

31 ตุลาคม 2020


กระทรวงพาณิชย์ เผยสหรัฐฯ ตัดสิทธิฯ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติม 231 รายการ อ้างไทยไม่มีการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์อย่างเป็นธรรม เนื่องจากไทยไม่เปิดตลาดเนื้อสุกรของสหรัฐฯ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) พร้อมกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบ เอกชนพร้อมปรับตัวเร่งแข่งขัน ด้านคุณภาพ มาตรฐานแทนการแข่งขันด้านราคา

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ตามเวลาในสหรัฐฯประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ส่งจดหมายถึงรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อแจ้งว่าจะระงับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับสินค้าบางรายการของประเทศไทยภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป ( Generalized System of Preferences:GSP) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563

ในText of a Letter to the Speaker of the House of Representatives and the President of the Senate ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า “ผมขอแจ้งให้ทราบถึงความตั้งใจของผมที่จะระงับสิทธิพิเศษด้านภาษีตามที่ระบุไว้ภายใต้ Generalized System of Preferences (GSP) โดยอาศัยตามมาตรา 502 (d) (3) ของพระราชบัญญัติการค้าปี 1974 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563”

“หลังจากพิจารณาเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 501 และ 502 (c) ของพระราชบัญญัติปี 1974 ผมได้พิจารณาแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐอเมริกาว่า ไทยจะให้เปิดโอกาสให้สหรัฐฯเข้าถึงตลาดของตนอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล ด้วยเหตุนี้ผมจึงพิจารณาแล้วว่า เป็นเหมาะสมที่จะระงับการให้ GSP สำหรับสินค้าของประเทศไทย”

สหรัฐอเมริกายังคงยึดมั่นในการค้าที่เป็นธรรมและต่างตอบแทนกับไทย ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุ

  • กรมการค้าต่างประเทศเตรียม 4 มาตรการ รับมือสหรัฐฯ ตัด GSP
  • ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้จัดแุถลงข่าวด่วนในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ตามเวลาในประเทศไทย โดย นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับการแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Presidential Proclamation) เกี่ยวกับผลการพิจารณาตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการทบทวนรายประเทศ (Country Practice)

    นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

    โดยเป็นเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ การตัดสิทธิฯดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯจริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

    อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้สิทธิ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้มาโดยตลอดผ่านเวที TIFA (Trade and Investment Framework Agreement) โดยหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่ง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

    พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา

    ผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมรวมถึงแจ้งเรื่องผลกระทบที่ได้รับได้ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชั่นชื่อบัญชี “GSP_helper” หรือสายด่วน 1385 รวมถึงเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th