ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติรับมือศก. 5 โจทย์ใหญ่ ปรับเกมแก้ “ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร” ชูหลัก “คิดรอบ ตอบได้”

ผู้ว่าแบงก์ชาติรับมือศก. 5 โจทย์ใหญ่ ปรับเกมแก้ “ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร” ชูหลัก “คิดรอบ ตอบได้”

21 ตุลาคม 2020


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ กางแผนรับมือเศรษฐกิจ 5 โจทย์ใหญ่ ปรับกลยุทธ์ “ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร” พร้อมชูหลักการ “คิดรอบ ตอบได้” ทั้งตัวเองและสาธารณะ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลำดับที่ 21 ได้พบปะกับสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ว่าจากการประเมินสถานการณ์หลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบ 7.8% ถึง-8.0% จะเห็นเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องเป็นรายไตรมาสต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 และจะสามารถฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 2/2564 แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ราวไตรมาส 3/2565

แก้เศรษฐกิจ 5โจทย์ใหญ่

สำหรับช่วงเวลาต่อจากนี้ ธปท.จะต้องรับมือกับ 5 โจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจได้แก่

    1.การแก้ไขวิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 และฟื้นตัวได้
    2.รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ การดูแลสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล)
    3.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และระยะต่อไปได้ดี
    4.สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด
    5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ธปท. เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย

“ธปท.ต้องเตรียมเครื่องมือไว้ให้ครบ เนื่องจากปัญหาที่เจอมีเข้ามาอย่างหลากหลาย รวมถึงการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลานานและมีความไม่แน่นอนระหว่างทางค่อนข้างสูง ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือ ผลข้างเคียงและผลระยะยาว หากเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น สามารถที่จะอัดยาแรงในการแก้ไขได้ แต่ขณะนี้เมื่อมีเรื่องระยะยาวเพิ่มเข้ามา ก็ต้องนึกถึงผลข้างเคียงที่จะตามมาด้วย เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น บั่นทอนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป”

เศรษฐกิจช็อค ชี้ฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน

เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมๆ กันในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์ จนมีผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีเหลือเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และภาคส่งออกสินค้าไตรมาส 2 หดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู

“2 เรื่องนี้เป็นช็อคที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นผลก็ส่งไปต่อรายได้ของคนหดหายไปและการจ้างงานที่ลดลง ตอนนี้ก็พ้นล็อคดาวน์แล้ว หน้าตาของการค่อยๆฟื้นตัวคือ 1.มีความไม่เท่าเทียมกัน บางเซคเตอร์ดี บางเซคเตอร์ถูกกระทบน้อย เช่น เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า กลับมาใกล้เคียงระดับก่อนเกิดโควิด แต่โรงแรมฟื้นตัวกลับมาเพียง 26% ของระดับก่อนโควิด และระหว่างเซคเตอร์ด้วยกัน เช่น โรงแรมก็ฟื้นตัวต่างกันมาก เช่น โรงแรมในภูเก็ตพึ่งพาต่างชาติก็หายไปมาก ส่วนโรงแรมที่ใกล้กรุงเทพ พัทยา หัวหิน ก็กลับมาฟื้นตัวเร็วกว่า 2. คือ มีระยะยาวและนาน เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ใช้เวลากว่ากิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาเท่าก่อนโควิด คงไม่เห็น จนกระทั่งไตรมาส 2 ปี 2565 สื่อว่าการฟื้นตัวไม่มาเร็ว ใช้เวลานาน และสุดท้าย 3. การฟื้นตัวมีความไม่แน่นอนสูงมาก เพราะคนยังมีคำถาม เช่น มีโควิดรอบ 2 ไหม วัคซีนจะมาไหม วัคซีนมาแล้วท่องเที่ยวจะฟื้นไหม ก็ไม่มีใครรู้ ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ผู้ว่าธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แม้ผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซีอยู่แล้ว แต่บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ

    1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ
    2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 สาเหตุเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
    3.มีความไม่แน่นอนว่า วัคซีนจะทดลองสำเร็จได้ในช่วงใด ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับใด จึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จากบริบทหลังโควิดที่เปลี่ยนไป ทำให้แนวทางการรักษาโรคทางเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรมการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน เปลี่ยนมาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัดจึงต้องให้ใช้ถูกจุด เพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลือเต็มที่

มาตรการพักชำระหนี้ “แก้ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร”

ตัวอย่างที่ได้รับการปรับแนวทางรักษาไปแล้วคือ การพักชำระหนี้ จากเดิมปูพรมหรือช่วยแบบเหมาเข่งในช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ จึงได้ให้สถาบันการเงินแช่แข็งลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสียหรือเน่า ทางธปท.ได้ให้แรงจูงใจทั้งการตั้งสำรองหนี้ การคงสถานะลูกหนี้ไว้เหมือนเดิม พนักงานทำงานที่บ้าน(WFH)และลดชั่วโมงทำงาน ทำให้ขาดสภาพคล่องและรายได้ ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมและตามความสามารถของลูกหนี้ เป็นการช่วยแบบตรงจุดกว่า เช่นเดียวกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย

“ตอนนี้คลายล็อกดาวน์ ก็ต้องทำให้ตรงจุด แยกแยะใครสามารถชำระหนี้ได้ ถ้าแช่แข็งเขาไว้ ดอกเบี้ยก็เดินตลอดเวลา ที่เราคุยกับสถาบันการเงินมา มีลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ได้ ส่วนกลุ่ม 2 ต้องมีมาตรการรองรับ เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ให้เวลาลูกหนี้กลุ่มไม่มีเงินสด คุยกับสถาบันการเงินจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อต่อเวลาจนถึงมิถุนายนปีหน้านี่เป็นตัวอย่างการแยกลูกหนี้ ที่มีความแตกต่างกันแต่ละราย เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละราย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

สำหรับการดำเนินการต่างๆของธปท. จำเป็นต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่นกรณีผลของการใช้มาตรการพักชำระหนี้ หากใช้นานถึง 1 ปี จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของระบบสถาบันการเงินหายไป 2 แสนล้านบาท ก็จะไปกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินได้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงผู้กู้รายอื่นๆ และผู้ฝากเงินด้วย

ทั้งนี้การจะออกมาตรการดูแลลูกหนี้เพิ่มเติมนั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องของซอฟท์โลน อยู่ระหว่างแก้ไขเพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ส่วนการจะออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมนั้น จะต้องคิดให้รอบคอบและดูผลข้างเคียงก่อน ยืนยันว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะทำ

จุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เอื้อรักษาวิกฤติได้

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดเป็นปัญหาที่เจอกันทั่วโลกและไม่ได้เหมือนวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างมีตำราสูตรแก้ไข 3-4 ข้อหลัก แต่ปัญหาของโควิดนี้เป็นของใหม่ จะเห็นแต่ละประเทศออกมาตรการต่างๆที่ไม่เหมือนกันและมีการลองผิดลองถูกไม่ใช่เฉพาะในประเทศฯไทย ธปท. จึงต้องกลับมาเน้นการใช้ความยืดหยุ่นในการรักษาอาการโรคทางเศรษฐกิจ

“เราออกแบบนี้มา แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปก็อาจจะไม่เหมาะแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นมาตรการแก้ไขต้องยืดหยุ่น เรารู้ปัญหามันหนักแต่อยากให้มั่นใจว่าเราแก้ไขได้ แม้จะหนัก แต่อย่างน้อยไทยสามารถควบคุมโรคโควิดได้ดี ขณะที่ยุโรปมีโอกาสเกิดระบาดรอบ 2 สูง”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีเสถียรภาพการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดี คือ ระบบสถาบันการเงินไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 19% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ระบบสถาบันการเงินของเวียตนามมี BIS 11% เพราะฉะนั้นสถาบันการเงินไทยมีความสามารถรับช็อคต่างได้ยังดีอยู่ ส่วนด้านเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่มีความแข็งแรงทั้งด้านหนี้ต่างประเทศที่อยู่ระดับน้อยและมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ทำให้ไทยสามารถรองรับได้ดีมากๆ และด้านการคลัง เนื่องจากหนี้สาธารณะที่อยู่ระดับต่ำกว่าเพดาน 60%ของ GDP จึงทำให้ยังมีช่องว่างสามารถขยายการก่อหนี้สาธารณะได้

ชูมาตรการรีไซเคิลเงินออกไปลงทุนตปท. ลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า

สำหรับแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจให้ถูกต้องดังนั้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะไปในทิศทางใดนั้น ย่อมมีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์และได้รับผลกระทบ ขณะที่การตัดสินใจเรื่องการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องดูถึงสาเหตุและปัจจัยรอบด้านเนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ขึ้นกับปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทกว่า 85% มีผลมาจากปัจจัยของทิศทางค่าเงินสกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่มาจากปัจจัยในประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งพบว่าในต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ต่างก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเช่นกัน แต่ค่าเงินก็ไม่ได้แข็งมาก เนื่องจากมีมาตรการผลักดันเงินในประเทศออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า Recycle เงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งธปท. กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่

นโยบายการเงิน-การคลัง เสมือนกองหน้า-กองหลัง

ส่วนนโยบายการเงินของไทยมาถึงทางตันหรือไม่นั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว และยังต่ำสุดในภูมิภาคด้วย จึงทำให้มีช่องว่างที่จำกัด ในช่วงนี้บทบาทของมาตรการทางการคลัง คงจะต้องเป็นหลักหรือเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินของธปท. จะต้องสอดประสานกับนโยบายการคลัง โดยจะช่วยในด้านการเงิน ดอกเบี้ย และสภาพคล่องเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

“ปัจจัยที่ยังมีความกังวลอยู่คือ การบริหารจัดการ เนื่องจากประเทศไทยมักคุยกันเรื่องนโยบายค่อนข้างมาก มีมาตรการออกมาเยอะ เป็นโจทย์ที่เจอในขณะนี้ ที่เป็นปัญหาบ่อยๆ”

นอกจากนี้ มองว่าการจะให้มาตรการด้านการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะภาคท่องเที่ยวหายไป การบริโภคซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างดีมานด์หลักหายไป การจะให้ฝั่งนโยบายการเงินหาดีมานด์มาทดแทนคงไม่ใช่ จึงต้องอาศัยเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วย ในฝั่งการเงิน และต้องทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดร.เศรษฐพุฒิ ได้เปรียบเทียบการใช้นโยบายการเงินว่าเป็นเสมือนกองหลังของทีมฟุดบอล มีความสำคัญมาก แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะหากกองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ เพราะฉะนั้นต้องทำกองหลังให้แข็งแรง ซึ่งจะทำให้จ่ายลูกไปยังกองหน้า หรือการใช้นโยบายการคลังมาประสานร่วมกัน นั่นคือการใช้เครื่องมืออื่นๆมาช่วย ซึ่งทำให้ทีมชนะได้

ส่วนปัญหาการชุมนุมกระทบมากหรือน้อยต่อเศรษฐกิจ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ธปท. ต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป แต่แน่นอนว่า จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบความสามารถในเรื่องของการจัดการภายในด้วย สิ่งที่ธปท.ให้ความสำคัญที่สุด คือการจัดการปัญหา และรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ

คนตกงาน-รายได้หายต้องใช้เวลารักษา

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวยอมรับว่า ไทยยังมีปัญหาหนักเรื่องตลาดแรงงาน คือคนทำงานมีน้อยลงจากเดิม ทำให้รายได้หายไปมาก หรือมีเงินไม่มากเท่าเดิม แต่ไทยก็ยังดีกว่าในด้านคนงานสามารถย้ายไปสู่ภาคเกษตรได้ สะท้อนว่าคนงานไทยย้ายไปย้ายมาได้ มีความยืดหยุ่น อย่างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นตัวเลขการจ้างงานฟื้นตัวกลับมาช้ากว่าประเทศไทย

“เป็นโจทย์ที่ต้องเร่งเข้าไปดูแล เหมือนเป็นคนไข้ ตรวจพบว่า อาการหนักมาก ต้องได้รับการรักษา ซึ่งไม่มียาวิเศษรักษาให้หายเร็ววันได้ เพราะแต่รักษาได้และใช้เวลา รวมทั้ง ธปท.ก็ต้องปรับตัวในการทำงานด้วยเพื่อรักษาอาการ ซึ่งแผน 3 ปีของธปท.ในการจัดองคาพยพใหม่ และลด KPI จาก 70 ตัวเหลือ 13-14 ตัว เพื่อให้รับกับ 5 โจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ” ผู้ว่าธปท. กล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิได้กล่าวถึงแผนการทำงานว่า เนื่องจาก ธปท. เป็นองค์กรที่มีพนักงานเก่งอยู่จำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันภายในองค์กรมีลำดับชั้นค่อนข้างมาก เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการแสดงศักยภาพของพนักงาน ดังนั้น จึงเตรียมปรับกระบวนการทำงานภายในองค์กร จากที่หน่วยงานหนึ่งมีหน้างานกว้างมากทำสารพัดงาน จะปรับลงมาให้โฟกัสหน้างานที่แคบลงหรือโฟกัสการทำงานมาที่เรื่องจำเป็นต้องแก้ไขด้วย เพราะตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดจากภาวะวิกฤติ

“แบงก์ชาติเป็นองค์กรที่มีคนเก่งจำนวนมาก และเป็นคนที่ทุ่มเทและมีความตั้งใจมากด้วย ไม่ใช่แค่คนที่เก่งเพียงอย่างเดียว โดยองค์กรที่มีคนเก่ง และทุ่มเทรวมไว้ด้วยกันมากขนาดนี้ ก็ควรที่จะต้องมีอะไรเป็นผลลัพธ์ออกมามากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งมองว่าสาเหตุที่ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาดีเท่าที่ควร เป็นเพราะติดขั้นตอนภายในขององค์กรเอง เป็นเรื่องกระบวนการทำงาน และโครงสร้างภายใน ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวมากนัก โจทย์ที่ต้องแก้ไขคือ การปรับเงื่อนไขและขั้นตอนในองค์กร ให้สามารถดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น”

สร้างธปท.เป็นองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด

สำหรับการสร้างองค์กรธปท.ให้มีความเชื่อมั่นที่สุดของสาธารณชน นั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่าการดำเนินนโยบายของธปท.จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อส่วนรวมเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น การจะออกนโยบายแต่ละครั้งจะยึดหลักการ “คิดรอบ ตอบได้” เนื่องจากธปท. เป็นองค์กรที่มีข้อมูลจำนวนมาก และมีคนเก่ง หากมีการปรับกระบวนการทำงานให้สั้นลงจะทำให้ทุกคนสามารถทำงานเต็มศักยภาพ และช่วยกันคิดรอบทุกด้าน และสามารถตอบคนได้ว่าทำไม ธปท. จึงได้คิดแบบนี้และทำด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งแน่นอนว่านโยบายที่ออกมาเพื่อส่วนรวม อาจจะมีผลกระทบต่อบางกลุ่มก็ตาม แต่ธปท.ก็มีเหตุผลในการตอบคำถามหรือสื่อสารออกไปสู่สาธารณะได้ ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่า ธปท. ได้มีการคิดออกมาอย่างดีที่สุดแล้ว

“การสร้างธปท.ให้เป็นองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด ไม่น่าเว่อร์ เพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่มีผลประโยชน์ เราเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเยอะมาก และเป็นองค์กรที่มีคนเก่งเยอะมาช่วยกันคิดช่วยกันสื่อสารออกไป นี่เป็นภารกิจที่ทำร่วมกัน ก็ต้องช่วยๆกัน หากเรามีอะไรที่ทำผิด ก็ยินดีจะปรับยินดีรับฟัง ซึ่งจะทำให้เหนื่อยน้อยลงทั้ง 2 ฝั่ง”

สำหรับการรักษาความเป็นอิสระและรักษาสมดุลของธปท. เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เนื่องจากมีกรอบกฎหมายของธปท.อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่แล้ว

“หากการทำงานยึดหลักความถูกต้อง และสามารถตอบคำถามของตัวเองได้ ก็จะอยู่ได้ เพราะเมื่อตอบตัวเองได้แล้ว ก็จะสามารถตอบคำถามคนอื่นในภาพรวมได้ด้วย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว