ThaiPublica > เกาะกระแส > 11 วัน โครงการคนละครึ่งครบ 10 ล้านคน ใช้จ่ายเฉลี่ย 229 บาท/คน/ครั้ง

11 วัน โครงการคนละครึ่งครบ 10 ล้านคน ใช้จ่ายเฉลี่ย 229 บาท/คน/ครั้ง

28 ตุลาคม 2020


เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้บริหารกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารกรุงไทยแถลงความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง และชี้แจงปัญหาที่พบการทำธุรกรรมไม่ปกติและการโฆษณาเชิญชวน “ไม่ซื้อของ แต่ได้เงิน”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ “โครงการคนละครึ่ง” เต็มจำนวน 10 ล้านคน ตามเป้าหมายสิทธิ์แล้ว นับตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้เวลารวม 11 วัน  แต่ทั้งนี้จะมีประชาชนบางส่วนที่ระบบกำลังทำการตรวจสอบคุณสมบัติและส่ง SMS แจ้งยืนยันสิทธิโดยเร็ว

โดยยอดลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและยอดผู้ได้รับสิทธิที่ถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน จะมีการรวบรวมมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ต่อไป

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 4 แสนราย และมียอดการใช้จ่ายสะสมตั้งแต่วันที่  3-27 ต.ค. 2563 เป็นเงิน 1,255.44 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 626.97 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 598.47 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 229 บาทต่อครั้ง

โดยมีการใช้จ่ายครบ 77 จังหวัด  ซึ่งจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

  • มาตรการ “คนละครึ่ง” VS “ช้อปดีมีคืน” ผู้บริโภคควรเลือกแบบไหน!
  • สำหรับประเด็นพบพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในโครงการคนละครึ่งนั้น นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ดูแลระบบของโครงการคนละครึ่ง กล่าวว่า ธนาคารได้มีติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ  โดยผ่านกระบวนการชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการโอน ชำระเติม จ่าย โดยธนาคารกรุงไทย ได้นำระบบการป้องกันการทุจริตในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานของธปท. และปปง. รวมถึงมาตรฐานของโลก เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

    หากพบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือมีการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชัน ตลอดจนการจ่ายเงินทั้งฝั่งร้านค้าและประชาชนทันที และหากตรวจสอบพบว่าการใช้จ่ายผิดเงื่อนไข โครงการจริงจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอให้ประชาชนและร้านค้าโปรดอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ในการช่วยดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าจริงอย่างเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้

    “หากเราพบพฤติกรรมหรือธุรกรรมในรายการที่น่าสงสัยที่ผิดปกติ ธนาคารจะเข้าไปตรวจสอบ ผมต้องย้ำว่าเราลงไปตรวจเมื่อเกิดสิ่งที่ผิดปกติ และประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่ขอให้ความมั่นใจว่า กระบวนการตรวจสอบ เป็นกลไกมาตรฐานสากล ขอให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจและอยากให้ผู้ที่เห็นเบาะแสแจ้งเข้ามาได้ เพราะกลไกที่ดำเนินการอยู่ นำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ”นายผยงกล่าว

    สำหรับพฤติกรรมผิดปกติ คือ ไม่ใช่การซื้อของ  อาจจะมีพฤติกรรมหลายรูปแบบ ไม่ได้จำกัดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งพฤติกรรมไม่ปกติที่พบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และยังไม่สามารถระบุจำนวนที่ผิดปกติได้ อยู่ระหว่างการประมวล

    นางสาวสุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับร้านค้าที่มีการใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วมีจำนวนกว่า 2 แสนร้านค้า เป็นร้านค้าเคลื่อนที่ เช่น หาบเร่แผงลอย มีจำนวนกว่า 5 หมื่นร้าน และส่วนที่เหลือ 1.7 แสนร้าน เป็นร้านค้าที่มีหน้าร้าน หากดูเป็นประเภทได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม  1.2 แสนร้าน ร้านธงฟ้า 4.2หมื่นร้าน โอทอป 1.05 หมื่นร้าน และร้านทั่วไป 4.6 หมื่นร้าน

    สำหรับเงินที่ร้านค้าได้ช้านั้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นการใช้เงินงบประมาณ จึงต้องทำตามระเบียบการเบิกจ่าย เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข เพราะฉะนั้นร้านค้าจะได้เงิน วันถัดไปหลังทำรายการสำเร็จ หรือ  T+1วัน หากติดวันหยุดราชการจะเข้าในวันถัดไป ส่วนประชาชนจะได้รับเงินทันทีอยู่แล้วเมื่อลงทะเบียนได้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง

    สำหรับกระแสข่าวที่ว่า “ไม่ซื้อของ แต่ได้เงิน” นั้น นางสาวสุภัค กล่าวย้ำว่า ขออย่าให้ประชาชนหลงเชื่อ เพราะทางการจะมีระบบตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งหากกระบวนตรวจสอบพบจะดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องและมีบทลงโทษด้วย

    “วันนี้ทางการทำงานเชิงรุกคือ ทุกวันนี้มีโฆษณาเชิญชวนในโซเชี่ยลมีเดีย หากตรวจสอบพบ สิ่งแรกที่ทำคือการไปแจ้งความ “นางสาวสุภัคกล่าว

    ทั้งนี้ หากต้องการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด สามารถส่งข้อมูลมาที่ [email protected] หรือ โทร. 02 273 9020 ต่อ 3697 3527 3548 3509