กรมพัฒน์ฯ เผยภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนมี.ค.63 ขอจัดตั้งใหม่ 6,066 ราย ปิดกิจการ 947 ราย เปรียบเทียบปีก่อนลดลง 12% คงเหลือกิจการที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ 762,229 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 18 ล้านล้านบาท
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กรมพัฒน์ฯ) ประจำเดือนมีนาคม 2563 และไตรมาส 1/2563 ว่าในเดือนมีนาคม 2563 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ (ห้างหุ้นส่วนและบริษัท) มีจำนวน 6,066 ราย รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 24,576 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวน 6,876 ราย ลดลง 810 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 โดยประเภทธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 579 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้มายื่นขอจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั้งหมดในเดือนนี้ รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 370 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 157 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
หากจำแนกตามทุนจะทะเบียน พบธุรกิจจัดตั้งใหม่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท มี 4,347 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.66 รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาทมี 1,597 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.33 ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มี 109 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.80 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.21 ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในไตรมาส 1/2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 19,415 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 (ต.ค.-ธ.ค.) 13,877 ราย เพิ่มขึ้น 5,538 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 จำนวน 20,750 ราย ลดลง 1,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 โดยธุรกิจที่มาจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,809 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,053 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจภัตตาคาร หรือ ร้านอาหาร 573 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 71,130 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2562 จำนวน 141,355 ล้านบาท ลดลง 70,225 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 50 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 จำนวน 52,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,739 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36
หากจำแนกตามทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท มี 14,068 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.46 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท มี 5,029 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.90 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มี 283 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.46 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มี 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.18
สำหรับธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือนมีนาคม 2563 มี 947 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 4,529 ล้านบาท โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 ของธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั้งหมด รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 60 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร หรือ ร้านอาหาร 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
จำแนกตามทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท มี 615 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.94 รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มี 287 ราย คิดเป็นร้อยละ 30.31 ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มี 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.33 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มี 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.42 ตามลำดับ
รวมในไตรมาส 1/2563 มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 3,169 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 มี 10,175 ราย ลดลง 7,006 ราย คิดเป็นร้อยละ 69 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 จำนวน 3,288 ราย ลดลง 119 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ปกติที่จะมีแนวโน้มของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 337 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 183 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร หรือ ร้านอาหาร 92 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการในไตรมาสนี้มีทุนจดทะเบียนรวมกันทั้งสิ้น 14,456 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 จำนวน 37,188 ล้านบาท ลดลง 22,733 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 จำนวน 9,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,460 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45
จำแนกตามทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท มี 2,170 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.47 รองลงมาคือ ช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มี 860 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.14 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มี 128 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.04 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มี 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.35
ส่วนธุรกิจที่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 มี.ค. 63 มี 762,229 ราย มีมูลค่าทุนทุนจดทะเบียนรวมกัน 18.56 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 187,116 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.55 บริษัทจำกัด มี 573,852 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.29 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,261 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.16 ตามลำดับ
จำแนกตามทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท มี 450,432 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.09 กลุ่มนี้มีทุนจดทะเบียนรวม 4 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.16 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท มี 224,96 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.45 รวมมูลค่าทุนจดทะเบียน 7.4 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.99 ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มี 71,614 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.40 รวมมูลค่าทุนจดทะเบียน 1.94 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.45 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,687 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.06 รวมมูลค่าทุนจดทะเบียน 15.48 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.40 ตามลำดับ
ส่วนการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 67 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 21 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 46 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,988 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 (เพิ่มขึ้น 8 ราย) ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 18 ราย เงินลงทุน 3,186 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ 11 ราย เงินลงทุน 1,116 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ 6 ราย เงินลงทุน 757 ล้านบาท รวมไตรมาส 1/2563 มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจำนวน 180 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 29,026 ล้านบาท