“วิชา” สรุปผลสอบ “คดีบอส” ชี้มีเครือข่าย-สำนวนไม่ชอบ–สมคบคิดประวิงคดี จี้เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง นายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก บี้ ตร.ดำเนินคดีที่ยังไม่ขาดอายุความต่อภายใน 30 วัน
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในข้อหาต่างๆ รวมทั้งข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตายในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี พ.ศ. 2555 จนถึงที่ทางตำรวจไม่เห็นแย้งจนกระทั้งมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นคดีที่คาใจประชาชน และสังคม
“ผมไม่อยากให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบการดำเนินดคีของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีในลักษณะนี้ที่มีเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนคดีในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้บางกรณีที่เกิดประเด็นขึ้นมาผมก็ได้เชิญนายวิชา มหาคุณ และคณะกรรมการฯ เข้ามาเป็นกรรมการในการดำเนินการซึ่งมีการกำหนดไว้แล้ว 30 วัน มีการประชุมทุกวัน มีการส่งรายงานบันทึกรอบ 10 วัน มีการพูดคุยโทรศัพท์กับผม ปรึกษากัน แต่ผมก็ไม่ได้ไปก้าวล่วงกับใคร เพราะผมถือว่าอยู่ตรงกลางตรงนี้ ผมก้าวล่วงกับอัยการไม่ได้เพราะเป็นองค์กรอิสระ ส่วนของตำรวจผมได้สั่งการไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการฯ ได้ลงมติว่า เรื่องนี้ใช้เวลายาวนานถึง 8 ปี เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ ฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องที่มีความไม่ชอบมาพากล ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ ทั้งจากที่มีการร้องขอความเป็นธรรมซ้ำซากถึง 14 ครั้ง และคณะกรรมการตรวจสอบฯ ใช้คำว่า “อาจจะมีการทำเป็นขบวนการ” อันนี้ก็ต้องไปตรวจสอบกันต่อไปให้เกิดความชัดเจนขึ้น ต้องมาดูว่าเราจะทำอะไรต่อไปได้
“ตรงนี้อย่าพึ่งไปดูว่าใครบ้าง มันยังต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบอีก ผมยังไม่อยากระบุรายชื่อตรงนี้ หลายคนก็อยากจะรู้ก็แค่เพียงได้รู้ แต่ความขัดแย้งก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลาก็ปรากฏออกมาเอง”
ทั้งนี้ วันนี้ได้มีข้อเสนอแนะ 5 ข้อ
- ยกคดีขึ้นดำเนินการใหม่ โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความดำเนินการได้แน่นอน ซึ่งยังมีอีก 2-3 คดีที่ยังอยู่ ได้แก่ ข้อหายาเสพติดให้โทษ และข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- ดำเนินคดีและวินัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บังคับบัญชา สมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ทนายความซึ่งทำผิดกฎหมาย พยานที่ให้การเท็จ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนให้เกิดการทำผิดดังกล่าว)
- บางเรื่องไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่จะตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงจริยธรรม โดยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อบุคคลดังกล่าว
- เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชา ต้องไปดูในเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบอีกหลาย เรื่องที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการมอบอำนาจ ซึ่งจะมีการส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยทันที โดยรัฐบาลจะมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นศูนย์กลางในการติดตามประสานงานในการดำเนินการรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
- ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเชิงปฏิรูปอย่างชัดเจน เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความ ให้เป็นเหมือนกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือให้ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหา และไม่ให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ซึ่งคณะทำงานได้เสนอขอทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อพิจารณาสั่งการส่งเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้การดำเนินคดีอาญาเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ
“ใครมีเบาะแสหรือข้อเสนออะไรต่างๆ ก็ส่งให้คณะกรรมการได้ด้วยต่อไป มีหลายท่านที่ให้เกียรติกับเราไม่ได้หวังอะไรตอบแทน เพราะทุกคนต้องการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้นในเรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักของประเทศชาติ เราอยู่กันอย่างไร้กฎหมายนั้นไม่ได้ บ้านเมืองจะกลายเป็นอนาธิปไตยทันทีไม่ใช่ประชาธิปไตย หากไม่มีกฎหมายนั้นอยู่ไม่ได้ หลายอย่างทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ ความเชื่อมั่นของต่างประเทศก็เสียไป เศรษฐกิจก็ไม่มั่นคง การลงทุนก็ลดลง ผมถามว่าเราจะได้อะไร ชัยชนะท่ามกลางซากปรักหักพัง ใครจะได้อะไรผมถามหน่อยเถอะ”
ทั้งนี้ นายวิชา มหาคุณ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ระบุว่า “เรื่องกระบวนการยุติธรรมทำให้คนรู้สึกอ่อนไหวถึงความไม่เป็นธรรม อีกทั้งต่างประเทศก็จี้มาว่าจะถอนการลงทุน เพราะไม่เชื่อมั่นว่ารัฐจะทำให้เกิดความยุติธรรมได้ แม้จะเป็นเพียงเรื่องการขับรถชนที่เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งคดีนี้มีระยะเวลายาวนาถึง 8 ปี จนถึงเมื่อมีการชี้ขาดสั่งไม่ฟ้องคดีต่างประเทศก็รู้ก่อนคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับบุคคลและองค์กรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่คนไทยเองก็ตามที่ต้องรู้เรื่องจากฝรั่งว่าคดีของนายวรยุทธ ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต จนเกิดผลจากสั่งฟ้องกลายเป็นสั่งไม่ฟ้อง”
นายวิชากล่าวต่อไปว่า ข้อมูลที่คณะกรรมการฯ ทำข้อเสนอแนะตั้งแต่ 1-30 สิงหาคม 2563 ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาแต่ยังเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นกังวลว่า หากเผยแพร่หรือเปิดเผยออกไปจะกระทบ แต่สำหรับเอกสารที่สรุปให้กับสื่อมวลชนจะทำให้เห็นกระบวนการทั้งหมด แต่ตัวละครต่างๆ จะขอใช้อักษรย่อ พร้อมระบุตำแหน่งให้ แต่เป็นบุคคลที่คุณก็รู้ว่าใครเหมือนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งท่านสามารถไปสืบหาต่อได้เลยว่าเป็นใคร
สำหรับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีความเห็นโดยสรุปดังนี้
ชี้ “เจตนาฆ่า”
- คณะทำงานเห็นว่าจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหา ที่มีการชนผู้ตายแต่กลับไม่หยุดรถ กลับพาร่างผู้ตายไปไกลกว่า 60 เมตร และลากรถจักรยานยนต์ของผู้ตายไปไกลกว่า 160 เมตร นั้นน่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา (เล็งเห็นผล) ได้
ชั้นตำรวจสอบสวนไม่ชอบ
- มีการพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาตั้งแต่ภายหลังเกิดเหตุ โดยสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้สร้างพยานหลักฐานเท็จ นำตัวลูกจ้างของครอบครัวอยู่วิทยามาแทนตัวผู้ต้องหา และแม้ได้ตัวผู้ต้องหามาแล้ว กลับมีการอ้างว่าเป็นความผิดของผู้ตาย
- พนักงานสอบสวนได้ร่วมมือกับทีมทนายผู้ต้องหา ตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อ “ผู้ตาย” เพื่อให้รูปคดีเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยให้ผู้ต้องหาพ้นผิด ซึ่งโดยหลักแล้วการตั้งข้อหาจะกระทำได้เมื่อบุคคลมีชีวิตอยู่
- พนักงานสอบสวนไม่มีการตั้งข้อหาเสพยาเสพติดทั้งที่มีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์พบสารแปลกปลอมในร่างกายผู้ต้องหาเชื่อมโยงกับสารโคเคนและแอลกอฮอล์
- มีการรับฟังพยานฝ่ายผู้ต้องหา ซึ่งให้การขัดแย้งกับผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นเหตุให้สั่งไม่ฟ้องคดี
- มีการส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการล่าช้ากว่ากำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีการนำผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลก่อนครบกำหนดปล่อยตัวชั่วคราว
- มีการร่วมมือกันจัดให้รองศาสตราจารย์ ส. ได้พบกับพันตำรวจโท ธ. เพื่อนำเสนอวิธีการคำนวณความเร็วใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวันที่สอบปากคำเพื่อให้การคำนวณความเร็วใหม่มีระยะเวลาน่าเชื่อถือ
- โดยมีการบีบบังคับให้นายตรวจคนดังกล่าวให้การเปลี่ยนความเห็นเรื่องความเร็วในการขับรถของผู้ต้องหา เพื่อให้สอดคล้องกับผลการคำนวณของศาสตราจารย์ ส. และภายหลังที่นายตำรวจคนดังกล่าวต้องการขอยกเลิกคำให้การ พันตำรวจโท ว. ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าส่งสำนวนให้พนักงานอัยการไปแล้ว
- เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการมีความบกพร่อง เนื่องจากไม่พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของนาย น. ด้วยความรอบครอบ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้มอบอำนาจที่มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ
สมคบคิดประวิงคดี ชั้นอัยการ
- มีการความร่วมมือของผู้ต้องหา ทีมทนายความ เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลทั่วไป เพื่อเปิดช่องให้ผู้ต้องหาใช้ “ระบบการร้องขอความเป็นธรรม” ถึง 14 ครั้ง เพื่อประวิงคดีจนทำให้คดีขาดอายุความ และเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด อีกทั้งมีการอนุญาตให้มีการกลับความเห็นคำสั่งฟ้องในคดีอาญาที่สั่งไปแล้วได้
- มีการสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมไปถึง 13 ครั้ง แต่กลับประสบผลสำเร็จในครั้งที่ 14 ที่พิจารณาเพียงพยานหลักฐานเดิมที่เคยพิจารณาไปแล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือจนสั่งยุติฯ ไป
- อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการหน้าที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีร้องขอความเป็นธรรมรายหนึ่งได้มีความเห็นให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งที่ 14 โดยเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องขอความเป็นธรรมเสนอในครั้งที่ 14 นี้ ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ “อันเป็นสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคำสั่งเดิมได้” และเชื่อว่าการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งนั้นเป็นไปเพื่อประวิงคดีเนื่องจากผู้ต้องหาซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีไม่เคยมาร้องขอด้วยตนเอง
- เห็นว่านาย น. อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้รับโทษ เนื่องจากได้มีความเห็นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เจาะจงให้สอบเพิ่มเติมเฉพาะพลอากาศโท จ. เท่านั้น ซึ่งพยานปากนี้ได้ถูกพิจารณาไปแล้วในการสอบหลายครั้งก่อนหน้าว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ จนต่อมามีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563
- อัยการสูงสุดในฐานะผู้มอบอำนาจให้นาย น. ไม่อาจปฏิเสธความรับปิดต่อความบกพร่องในการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของนาย น. ผู้รับมอบอำนาจได้
ใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันกระบวนการยุติธรรม
- มีการใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันกระบวนการยุติธรรม โดยการร้องขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2459 กับคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม ข้าราชการทหาร และตำรวจระดับสูง ซึ่งมีคณะกรรมาธิการบางคนได้จัดทำพยานหลักฐานเท็จ พร้อมกับเข้าเป็นประธานคณะทำงานในการพิจารณาการร้องข้อความเป็นธรรมที่ร้องต่อคณะกรรมาธิการ
- อีกทั้งกรรมาธิการคนดังกล่าวยังเข้าเป็นพยานและให้ปากคำสนับสนุนข้ออ้างของผู้ต้องหาในการสอบสวนเพิ่มเติมต่อพนักงงานสอบสวนวันที่ 15 มิถุนายน 2561
- มีการโยกย้ายโดยผู้บังคับการกองการต่างประเทศ ที่ได้แจ้งให้ตำรวจสากลทราบถึงหมายจับผู้ต้องหา โดยผิดปกติ
- พบว่า ทนายความผู้ต้องหามีส่วนสำคัญในการทำให้ไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา โดยได้มีการไปพบกับรองศาสตราจารย์ ส. พร้อมนาย ช. เพื่อให้คำนวณความเร็วรถผู้ต้องหาใหม่ และร่วมให้มีการสอบปากคำพันตำรวจโท ธ. เพื่อเปลี่ยนคำให้การ
“คณะกรรมการจึงมีความเห็นตรงกันว่า เป็นการกระทำอันเป็นการสมยอม ไม่สุจริต ร่วมมือกันแบบที่เรียกว่า ตามทฤษฎีสมคบคิด ทำให้สำนวนเสียไปตั้งแต่ต้น เหมือนที่เราพูดว่า เรื่องนี้เป็นต้นไม้พิษ สร้างผลไม้อันเป็นพิษ บริโภคไม่ได้ ต้องเสียไปทั้งหมด ในทางกระบวนการเราเห็นว่าให้มีการสอบสวนใหม่ ไม่ใช่ว่าสอบสวนพยานหลักฐานใหม่ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 แต่เราเห็นยิ่งกว่านั้นคือต้องนับหนึ่งใหม่ แต่เนื่องจากบางข้อหาขาดอายุความไปแล้ว คงช่วยไม่ได้ในส่วนนี้เราจึงได้เสนอด้วยว่า หลังจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ที่เราเสนอว่าต้องแก้โดยเร่งด่วน ให้อายุความหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหลบหนี แบบเดียวกับคดีทุจริตที่อายุความหยุดลงตราบใดที่ยังหลบหนีอยู่”
อย่างไรก็ตาม นายวิชากล่าวว่า สำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง และเป็นผู้นำองค์กร เราอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงในเรื่องของทางอาญา หรือทางวินัย แต่ว่าเราสามารถดำเนินการได้ในแง่ของจริยธรรม เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 พูดถึงเรื่องจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และอาจจะให้พ้นจากตำแหน่งได้โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องกี่คน นายวิชาระบุว่า มีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ประมาณ 10 คนขึ้นไป
เมื่อถามว่า การดำเนินการกับบุคคลระดับผู้บังคับบัญชาจะรวมถึงบุคคลที่อยู่ในระดับผู้นำองค์กรด้วยหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ถ้าเขาสอบไปพบว่ามายุ่งเกี่ยวด้วยก็ต้องเข้าด้วย แล้วแต่กระบวนการในการสอบสวนหรือไต่สวนในการดำเนินการเพื่อให้ได้ความจริง พร้อมยืนยันว่ามีผู้นำองค์กรเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย
นายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก จี้ ตร.เร่งสอบใน 30 วัน ยันไม่ปล่อยพ้นกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรีได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ถึงรายงานสรุปดังกล่าว ใจความว่า เมื่อวานนี้ ผมได้รับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสั่งไม่ฟ้อง “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ที่คุณวิชา มหาคุณ และคณะได้ดำเนินการตรวจสอบ
ผมได้อ่านเอกสารทุกหน้า และรู้สึกว่าสิ่งที่ได้อ่านเป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากสำหรับประเทศไทย ผมขอเริ่มด้วยการพูดถึงสิ่งที่ผมไม่สามารถทำได้ก่อน
ผมไม่ใช่คนที่จะตัดสินได้ว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา มีความผิดหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่ศาลและผู้พิพากษาจะเป็นผู้ตัดสิน ตามหลักกฏหมาย และหลักฐานต่างๆ ที่นำมาประกอบคดี อย่างถูกต้อง
แต่สิ่งที่ผมสามารถทำได้ – และผมจะทำ – คือคดีนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการเร่งด่วน และให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ “บอส” ในคดีที่ยังไม่หมดอายุความ ภายใน 30 วัน เราต้องไม่ปล่อยให้คนหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม โดยใช้วิธีถ่วงเวลาให้หมดอายุความ และผมถือว่า การปล่อยให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่เลวร้ายด้วยเหมือนกัน
และมีอีก 2-3 เรื่องที่ผมขอพูด
- ผมขอบอกทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีเหล่านี้ว่า ขอให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และใช้จริยธรรมและศีลธรรมนำทาง นั่นคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ เพราะไม่อย่างนั้นคุณเองก็อาจจะเดือดร้อนด้วย
- มีอีกเรื่องหนึ่งคือ ตามที่ผมเคยกล่าวถึงวิธีการทำงานแบบ New Normal ของผม และภาครัฐ ว่าเราจะต้องทำงาน โดยรับผิดชอบกับงานของตัวเอง และรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเราด้วย และตามรายงานที่ผมได้รับมาเมื่อวาน ผมเห็นชัดเจนว่า อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส หรือใช้จริยธรรมและศีลธรรมนำทางเท่าใดนัก เพราะฉะนั้น ผมจะสั่งการให้เริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่หรือบุคคล ที่อาจจะเกี่ยวข้องทำให้เกิดความไม่ถูกต้องในกระบวนการทางกฏหมาย ทั้งจากปฏิบัติหน้าที่ หรือการไม่ปฏิบัติหน้าที่
ผมขอให้ทุกคนจำกรณีนี้ เรื่องนี้ มี 2 ผู้เสียหาย ผู้เสียหายคนแรก คือ ตำรวจดีๆ ท่านหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงเช้ามืดของวันนั้น ส่วนอีกหนึ่งผู้เสียหาย ก็คือ ประเทศไทยของเราทั้งหมด เพราะวิธีการดำเนินคดีในกรณีนี้ ได้ส่งผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรง กับพื้นฐานที่สำคัญของสังคม 2 อย่าง นั่นคือ ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรม และความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการบังคับใช้กฏหมาย
เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของยุคสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่มากขึ้น จากผู้นำ ผมขอขอบคุณ คุณวิชา ที่เสียสละรับภารกิจที่ยากมากนี้ และผมต้องขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญและผู้อาวุโสทุกท่านในคณะ ที่ได้เสียสละทำภารกิจนี้เพื่อประเทศ สิ่งที่ท่านทั้งหลายทำให้ประเทศในครั้งนี้ จะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ มากกว่ากรณีนี้กรณีเดียว ผมขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง