ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum#2 “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ต่อจิ๊กซอว์ภาครัฐกับโจทย์ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยืนของไทย

Thailand SDGs Forum#2 “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ต่อจิ๊กซอว์ภาครัฐกับโจทย์ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยืนของไทย

29 กรกฎาคม 2016


เนื่องด้วยมูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ตระหนักถึงการพัฒนาประเทศบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย โดยภายหลังที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals :SDGs) ภายใต้ทิศทางการพัฒนาใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการ Thailand SDGs Forum ขึ้น เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดและหาทางออกร่วมกันของการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาในไทย โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมแนวคิดแนวปฏิบัติในระดับองค์กรและรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทยโดยทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.)
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.)

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงาน “Thailand SDGs Forum # 2 : Business 2030 : Prepare for Your Future” โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ได้กล่าวบรรยายเรื่อง “ไทยและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ดร.บัณฑูรกล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสนใจกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมเองทำงานอยู่ในมูลนิธิองค์กรพัฒนาเอกชนด้านนโยบาย ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานกับภาครัฐ เลยมีโอกาสได้เห็นความเปลี่ยนแปลง โอกาสและความหวังที่เราจะเดินสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จึงมีสิ่งที่อยากมาเรียนเสนอเป็นข้อมูลให้ท่านได้เห็นว่าวันนี้ทำอะไรไปบ้าง มีโอกาส มีความหวังแค่ไหน เห็นภาพเป็นภาพรวม เป็นภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อให้เห็นว่าวันนี้ภาครัฐขยับไปอย่างไรบ้าง มีสไลด์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เป็นผู้ทำเป็นหลัก ผมเอาบางส่วนมาเสริมเพื่อจะเป็นข้อมูลให้ท่านได้เห็นภาพแล้วก็มองถึงบทบาท เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไป

เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนวันนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว อันที่จริงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ทางยูเอ็นผลักดันมาสักระยะหนึ่ง

การประชุม Rio+20 (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน :United Nations Conference on Environment and Development- UNCED) ตอนนั้นวางตัว agenda หลักเรื่องของ green economy “เศรษฐกิจสีเขียว” พยายามผลักดันอยู่ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่ได้มีการขานรับมากนัก

3 ปีถัดมา ปี 2015 เมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดความสำเร็จ ครั้งนี้เป็นที่ขานรับ นำมาสู่การกำหนดเป้าหมาย ประเทศไทยเองเข้าไปร่วมอย่างแข็งขัน เราจะดูต่อไปว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ppบัณฑูร1

ppบัณฑูร4

ผมนำภาพมาให้ท่านเห็น เป็นภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อเชื่อมสิ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนในเวลานี้ แต่ยังต้องลุ้นอยู่เป็นระยะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ล่าสุดท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไปพูดที่การสัมมนาประจำปีของสภาพัฒน์ฯว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะต้องเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือภาพตรงกลางที่พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนับจากนี้ไป

มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อจะให้มีสถานะชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ชาติต้องเดินต่อไป แก้ไขปัญหาความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรีทีนโยบายก็เปลี่ยน กระทรวงศึกษาเป็นตัววอย่างที่ดีว่า บางปีเปลี่ยน 3 คน นโยบายการศึกษาก็เปลี่ยน นักเรียนก็ปวดหัวกับนโยบายที่เปลี่ยน

ยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นที่มาแบบนี้ กติกาที่กำกับในรัฐธรรมนูญนั้นก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินต่อไปได้

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ่ายลงมาเป็นแผนปฏิบัติการที่ละระยะ แผนพัฒนาฉบับ 12 จะเป็นแผนแรกที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เดินไปทีละระยะ การมองนั้นมอง 20 ปี แต่การปฏิบัติให้ชัดเจนไม่มีใครสามารถบอกได้ครับว่า 20 ปีจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นทำให้ชัดเจนใน 5 ปีก่อน

แล้วในระหว่างนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าเห็นว่าปัจจัยภายนอกสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่กำหนด 20 ปีแล้วเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย ถือโอกาสเรียนให้ทราบว่าแนวคิดเรื่องนี้เป็นอย่างไร แผนที่ 12 จะเป็นแผนแรกครับ ที่นำยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ

ขณะเดียวกันตัวเชื่อมโยงทางขวาล่างก็คือ ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ นับตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ 37 วาระการปฏิรูปเพื่อซ่อมแซมประเทศและเดินก้าวสู่ทิศทางในอนาคต

วันนี้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีอีก 67 วาระการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งหมดนี้ลองไปคลี่ดูก็เชื่อมโยงอยู่กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทางใดทางหนึ่ง 17 เป้าหมายที่กล่าวถึง

มีอีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ณ ขณะนี้ คือเรื่องการต่อสู้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าที่ 13 ของ SDGs คือการต่อสู้กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ปลายปีที่แล้วเช่นกัน เรามีข้อตกลงที่เพิ่งบรรลุที่กรุงปารีส เป็นความตกลงปารีส เป็นความตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ ประเทศไทยเข้าไปร่วมลงนาม วันนี้มีอยู่ 158 ประเทศที่เป็น signatory country ให้การรับรองลงนามนับตั้งแต่เปิดการลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559ที่ผ่านมา

บัณฑูร2

สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศไทย และอีก 158 ประเทศ วันนี้ให้ความรับรองความตกลงฉบับนี้ แต่ละประเทศกำลังอยู่ในกระบวนการให้สัตยาบันแต่ละประเทศเอง ประเทศไทยเองก็มีความตั้งใจนะครับที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีของความตกลงปารีส ณ ขณะนี้อาจจะต้องนำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ความตกลงฉบับนี้จะเป็นตัวที่เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ นี่คือความเปลี่ยนแปลงระดับโลก แล้วก็โยงไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 มีสาระสำคัญที่พูดถึงการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ

วันนี้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ทุกท่านที่อยู่ในวงการธุรกิจคงทราบดี โดยเฉพาะท่านที่ทำธุรกิจค้าขายกับต่างประเทศ กฎเกณฑ์ กติกาการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงเรื่อง climate change เข้ามาอยู่กับเรื่องธุรกิจมาเป็นระยะ แล้วจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ความตกลงปารีส

เดิมคาดหวังว่าจะ effective ภายในปี ค.ศ.2020 ณ วันนี้อาจจะเร็วกว่านั้นนะครับ ตอนนี้มีอยู่ 19 ประเทศที่ให้สัตยาบันสารมายังองค์การสหประชาชาติแล้ว รอครบ 55 ประเทศและมีปริมาณการปล่อยก๊าซรวมเกินกว่า55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้

นี่คือจุดเชื่อมโยงที่เป็นภาพอนาคตของประเทศไทย จะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่รอการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งนะครับ บทบาทของภาคเอกชนเป็นข้อวิเคราะห์สำคัญอย่างยิ่ง

หนังสือเล่มล่าสุดของเจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) ที่พูดถึง The Age of Sustainable Development วิเคราะห์ว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จุดอ่อนอันหนึ่งคือบทบาทของภาคเอกชนที่ยังไม่ได้มีส่วนเข้ามาร่วมอย่างเต็มที่ นี่คือทั้งโอกาสและความท้าทายเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในส่วนถัดไปจะนำเสนอความก้าวหน้า เพื่อที่จะให้ท่านเห็นว่าวันนี้ทำอะไรกันไปถึงไหนบ้าง เรื่องของSDGs ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก political view ของผู้นำโลกที่เข้าไปทำให้เอกสารฉบับนี้

น่าสนใจนะครับ ตัวชื่อเอกสารฉบับนี้ “Transforming our world” โลกเราต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการการปฏิรูป นี่คือความมุ่งมั่นที่ผมเรียนในเบื้องต้นครับ ตอน Rio+20 ไม่สามารถผลักดันให้กระแส green economy เป็นที่ขานรับได้ มีข้อโต้แย้ง ข้อถกเถียงมากมาย ทั้งในทางวิชาการ แล้วก็การเมือง เศรษฐกิจในระหว่างประเทศ

แต่วันนี้เรื่องSDGs สามารถทำให้เกิดการขานรับเช่นเดียวกันกับเมื่อ 1992 การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้น 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ และกำลังจะออกมาในเร็วๆนี้คือ 230 กว่าตัวชี้วัด

ชัดเจนมาก ตรงนี้เป็นที่มา ที่ท่านนายกฯนำไปกล่าวถึง เราถกเถียงกันว่ายุทธศาสตร์ชาติ หน้าตาจะเป็นเช่นไร มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในมุมทางการเมือง แต่ถ้าเอาเป้าหมาย SDGs เข้าไปเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ตรงนี้จะลดความเป็นการเมืองในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไปได้เยอะ

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาคมโลกตกลงกัน เป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันว่า 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์เหล่านี้คือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เราจะไม่หลงทางอีกต่อไป

ท่านคงพอเห็นภาพแล้วว่ามิติที่เกี่ยวโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มากกว่า MDGs (Millennium Development Goals)นั้น พูดถึงทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องสังคม ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พูดกันมา 20 กว่าปี ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้จริง 17 เป้าหมายนี้

ประเด็นสำคัญที่อยากเรียนก็คือตรงส่วนนี้ ถ้าจะให้เห็นภาพเป็นภาพรวม ทางยูเอ็นก็ทำให้เห็นว่ามีอยู่ 5P มีอยู่ 5 ตัวP ที่เป็นจุดยึดโยงเป็นคอนเซ็ปต์ people, prosperity, peace, partnership, planet นี่คือ 17 goals ที่สามารถมองได้ภายใต้สัญลักษณ์แบบนี้ แต่ละP ก็จะเชื่อมโยงกับเป้าของSDGs แต่ละเป้า ท่านสามารถดูรายละเอียดที่จะนำไปสู่การวางแผนทิศทางในอนาคตได้

สิ่งที่น่าสนใจ ผมได้รับข้อมูลโดยความอนุเคราะห์จากสถาบันมั่นพัฒนา การประเมินดูว่าแต่ละประเทศนั้นพร้อมเข้าสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

ผลของการประเมินโดยเอาตัวเลขข้อมูลมาจากหลากหลายองค์กร วันนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 61 จาก 149 ประเทศ ประเมินในแง่ความพร้อมที่จะบรรลุตัวเป้าหมาย เป้าประสงค์ที่ กำหนดไว้ ถือว่าเราอยู่ในระดับที่เทียบเคียงกับประเทศอื่นแล้วไม่น้อยหน้าสักเท่าไหร่

ในอาเซียนเราต่ำกว่าสิงคโปร์ สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 19 เราอยู่สูงกว่าทางมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นี่คือสถานะของประเทศไทยในเวลานี้เมื่อเทียบกับอีก 149 ประเทศ ว่าเราพร้อม เราอยู่ในระดับใดที่จะ achieve ตัวเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดไว้

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ppบัณฑูร3

ppบัณฑูร5

มาถึงการดำเนินงานในประเทศไทยเวลานี้ทำอะไรไปบ้าง อันที่จริงประเทศไทยไม่เคยตก กระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่กลับมาจาก Rio+20 มีการนำมาสู่การยกร่างระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน

สมัยนั้นเป็นรัฐบาลท่านายกฯยิ่งลักษณ์(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีระเบียบสำนักนายกฯออกมา แต่เนื่องจาก ตอนนั้นเรากำลังแข่งกีฬาสีกัน เราก็เลื่อนประชุมแล้วเลื่อนประชุมอีก ท้ายสุดไม่สามารถนำมาสู่การประชุมอย่างเป็นทางการได้

มาถึงปัจจุบัน การประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2558 ปลายปีที่แล้ว ภาพโครงสร้าง ของกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนมีประธานในชุดใหญ่คือท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

วันนี้มีอนุกรรมการตั้งออกมาเป็น 3 ชุด อนุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อนุที่เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลสารสนเทศ มีรายละเอียดให้ท่านเห็นความสำคัญของแต่ละชุดเป็นอย่างไรบ้าง แต่ละการดำเนินการจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เกิดความหวังเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไรบ้าง

โครงสร้างของกรรมการชุดใหญ่ที่ท่านนายกฯเป็นประธาน ภาคเอกชนมีบทบาท มีส่วนร่วมครับ ในองค์ประกอบนี้สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า มีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการชุดใหญ่

ppบัณฑูร6

องค์กรภาคประชาสังคมที่เข้าไปอยู่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, สถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ), สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, ปลัดกระทรวงแทบทุกกระทรวงอยู่ในนี้ ทางสภาพัฒน์ฯเป็นฝ่ายเลขาที่ทำงานอย่างแข็งขันในเรื่องนี้ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะร่วมกันขับเคลื่อน 17 เป้าหมายนี้

หน้าที่หลักโดยสังเขป การกำหนดนโยบาย การสนับสนุนการดำเนินงานกำกับให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แนวทางท่าทีการเจรจา การติดตามผลการดำเนินงาน

นับตั้งแต่ท่านนายกฯไปประชุมยูเอ็น General Assembly เมื่อปลายปีที่แล้ว กลับมาเรียกประชุมทันที 7 ตุลา หลังจากนั้นตั้งอนุกรรมการ แล้วมีการดำเนินการมาเป็นระยะ

ท้ายสุดจะเรียนให้ทราบว่าวันนี้กิจกรรมที่จะนำมาสู่บทบาทภาคเอกชนจะเป็นอย่างไรบ้าง

ในส่วนของอนุกรรมการชุดแรกเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย ท่านประธานคือรัฐมนตรีสุวพันธ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอยู่ในโครงสร้างส่วนนี้ มีการประชุมเป็นระยะเพื่อกำหนดโรดแมป เพื่อดูตัวชี้วัด เพื่อดูว่าวันนี้เรามีแผนงานอย่างไรบ้างที่จะไปเชื่อมโยง

การประชุมครั้งหลังสุดที่ผมจำได้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ณ วันนี้ ในองค์ประกอบทั้ง 3 ชุด ยังมีบทบาทของภาคเอกชน ภาคสังคม น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จำได้ว่าผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมฯเป็นคนตั้งข้อสังเกตนี้

ตรงนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะกล่าวถึงในตอนหลังว่าเราอยากเห็นการมีส่วนร่วม public private people partnership ที่พูดกันอยู่ กลไกลประชารัฐที่พูดกันอยู่จะเชื่อมโยงกับเรื่องนี้อย่างไรมากขึ้น ฝากโจทย์นี้สำหรับการพูดคุยอภิปรายในหัวข้อถัดไป สำหรับเวทีในวันนี้ด้วย

อนุกรรมการชุดนี้วางแนวทาง การติดตาม การบูรณาการ กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัด ตัวชี้วัดที่กำหนดอยู่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยได้เพียงพอ เป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันทั่วโลก ก็เป็นบทบาทหนึ่งของอนุกรรมการที่จะชวนคิดชวนคุยในเรื่องนี้ แล้วก็เป็นโจทย์ที่อยากจะฝากกับภาคเอกชนด้วย

มีมาตรการอย่างไรบ้างที่จะต้องนำมาปรับปรุงเพิ่มเติมทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อนหน้านี้คุณบุญทักษ์ (บุญทักษ์ หวังเจริญ) พูดแตะอยู่ในประเด็นนี้

มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการทางกฎหมายที่ภาคเอกชนเห็นว่าควรจะปรับปรุง ยังมีจุดอ่อน ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เสนอแนะมา เพื่อให้การดำเนินการให้อนุกรรมการชุดนี้รับโจทย์ไปปรับปรุง ทำการบ้านต่อไป

อนุชุดที่2 มีอาจารย์จุรี วิจิตวาทการ รับผิดชอบดูแลเพื่อที่จะเชื่อมโยงเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นฐานคิดในการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้าย้อนกลับไปถึงเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีเขียวนั้นเป็นความพยายามขององค์การสหประชาชาติที่จะปรับเปลี่ยนการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนให้ไปสู่ทิศทางพัฒนาที่ยั่งยืน

แต่ว่าเศรษฐกิจสีเขียว ท้ายสุดในการประชุม Rio+20 บอกไว้ว่าเป็น means เป็นแค่แนวทางหนึ่งภายใต้แนวทางที่หลากหลาย แต่ละประเทศสามารถไปกำหนดเลือกกันเองได้ สำหรับประเทศไทยเรามีฐานคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว ที่จะเป็นตัวตั้งต้นในการที่บอกว่า ภายใต้โจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เรามี means เรามีแนวทาง วิถีทางของเราเองอย่างไร

ตรงนี้ก็เป็นโจทย์สำหรับประเทศไทยที่จะเอาตรงนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนการพัฒนาเพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นโอกาสที่สำคัญที่เราจะนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแปลงมาสู่การดำเนินงานและนำไปสู่การเผยแพร่สร้างความเข้าใจในเวทีระหว่างประเทศ นี่เป็นบทบาทของอนุกรรมการชุดนี้

ในชุดที่3 เรื่องของฐานข้อมูล ฝ่ายเลขาคือสภาพัฒน์ฯ องค์กรที่มีบทบาทสำคัญคือ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ภายใต้ตัวชี้วัดที่เราจะต้องประเมินตัวเอง ประเมินเพื่อไปตอบโจทย์ ไปรายงานกับเวทีระหว่างประเทศ

เราจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบฐานข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล สถิติ ตัวชี้วัด เป็นโอกาสสำคัญครับ ที่ทำให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเข้ามามีบทบาทอย่างมุ่งมั่นแข็งขันมากที่จะดำเนินงานในส่วนนี้

ถือโอกาสนี้ในการที่เราจะนำเอาข้อมูลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดเป้าหมาย ติดตามผลการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ใช้ประโยชน์ในการที่จะตรวจสอบตัวเราเองว่าเราอยู่ขั้นไหนของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ppบัณฑูร7

อย่างที่เรียนย้ำ เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อรายงานกับสหประชาชาติอย่างเดียว แต่เราต้องการที่จะบอกตัวเองว่าประเทศไทยเดินอยู่บนทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ ใช้โอกาสนี้ในการที่จะทำในเรื่องเหล่านี้

อนุกรรมการชุดนี้มีบทบาทสำคัญ ตัวชี้วัด ข้อมูลที่จะต้องจัดเก็บมีเป็นจำนวนมาก ท่านที่สนใจเข้าไปดูได้ในเว็บไซด์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 200 กว่าตัวชี้วัดหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง จำเป็นต้องมีข้อมูลอย่างไรบ้าง ประเทศไทยอยู่ในสถานะอย่างไรบ้าง นี่คืออำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการชุดที่3

มาสู่สถานนะของการดำเนินงานที่เห็นอยู่ในขณะนี้ แล้วทำอย่างไรถึงจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลให้ได้ วันนี้สภาพัฒน์ฯทำหน้าที่อย่างแข็งขัน นำเอาเป้าหมายทั้ง 17 เป้า เป้าประสงค์ 169 มาขึงให้เห็นเป็นตัวอย่าง สภาพัฒน์ฯเป็นแม่งาน

แต่ละเป้าประสงค์ของแต่ละเป้าหมายมีตัวชี้วัดแตกต่างกันไป แต่ละตัวชี้วัดเรามีสถานะการดำเนินการอย่างไรบ้าง เป้าหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง นโยบาย แผน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเป็นอย่างไรบ้าง กำลังอยู่ในกระบวนการที่ขึงตัว goals ตัว targets และสิ่งที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ นี่คือภาคปฏิบัติการที่กำลังเกิดขึ้น

ตัวอย่างแรกเป็นตัวอย่างเรื่องการลดความยากจน ตัวอย่างนี้เป็นเรื่องของการสร้างหลักประกัน คนมีชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี มีสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย นี่คือความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่โดยภาคราชการ

อันที่เป็นที่น่าสังเกตคือ ในกรณีนี้ที่ยกตัวอย่างมาเรื่องการลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลก แล้วเราก็ถอดมาเป็นเป้าประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขทำได้ดีแล้ว สถานะในตอนนี้คือ เราบรรลุเป้าหมายไปบางส่วน ฉะนั้นประเทศไทยถึงไม่แปลกว่าเราก็อยู่ในสถานะที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่เป็นข้อมูลที่เรียนให้ทราบในเบื้องต้น

มาถึงส่วนสุดท้ายที่อยากเรียนให้เห็นเป็นข้อมูล ชวนคิด ชวนคุยในโอกาสถัดไปด้วย เพื่อการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ สิ่งที่วางไว้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการต่อไป อาจจะออกมาในรูปของการจัดเวิร์คช็อปออกมาเป็นซีรี่ส์ คล้ายๆกับที่ทางมูลนิธิมั่นพัฒนาและไทยพับลิก้าร่วมมือกันจัดในเวลานี้

5 โจทย์ จะขับเคลื่อนอย่างไร

มีโจทย์อยู่อย่างน้อย 5 โจทย์ครับ สำหรับในทุก 17 goals 169 targets วันนี้เราคงต้องมาชวนกันคิดครับว่า แนวทางหรือ means ที่จะทำให้บรรลุในแต่ละเป้าหมายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

เรามีงานศึกษาวิจัย เรามีประสบการณ์ของภาคเอกชนมากมาย การลดความยากจนให้เกิดผลสำเร็จจะทำได้อย่างไร การสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมไทย แล้วก็เป็นพื้นฐานที่นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เราเผชิญอยู่ในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เรามี means อย่างไรบ้าง

ดร.บัณฑูร

ในรายงาน ในเอกสารขององค์การสหประชาชาติไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้แทนประเทศไทยได้ เราต้องค้นคว้า เราต้องบอกตัวเราเองนะครับ นี่คือโจทย์การบ้านข้อแรก

ในส่วนที่สอง 169 targets ยากที่จะบรรลุผลไปพร้อมๆกัน ระยะเวลาของสิ่งที่กำหนดไว้ของSDGs คือ14-15 ปี นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2015-2030 แต่ละ targetsใน 169 targets ใดบ้าง ในแต่ละ goals จะดำเนินการในช่วง 5 ปีแรก 5 ปีที่สอง และ5ปีที่สาม

นี่คือสิ่งที่ต้องมากำหนดร่วมกัน เพื่อจัดสรรทรัพยากร เราไม่ได้มีทรัพยากรมากที่จะดำเนินการทุกเรื่องไปพร้อมๆกัน แล้วบางเรื่องควรทำก่อน เพื่อจะเป็นฐานของการที่จะทำให้เรื่อง targets ถัดมาบรรลุผลได้ง่ายขึ้น นี่คือโจทย์ลำดับที่สอง

โจทย์ลำดับที่สาม เรื่องตัวชี้วัด 230 กว่าตัวชี้วัดนั้น บางตัวชี้วัดไม่ได้เป็นบริบทที่สอดคล้องสอดคล้องกับประเทศไทยนะครับ เป็นเรื่องที่ทางยูเอ็นกำหนดไว้ เป็น universal indicator เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกนำไปใช้ นำไปปรับใช้ ฉะนั้นโจทย์การบ้านในเรื่องนี้มีอะไรบ้าง

นับตั้งแต่เรามีตัวชี้วัดเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทยของเราเอง ตัวชี้วัดเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศของประเทศไทย ก็คงจะมีสถานะที่แตกต่างไปกับบางประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างในเรื่องความเสมอภาคทางเพศสูงมาก
บางประเทศจำเป็นต้องกำหนดจำนวนโควตาของนักการเมืองสุภาพสตรี ซึ่งอาจจะพูดถึงนักการเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมด้วยนะครับในสภา แต่ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น

ตัวชี้วัดที่ต้องปรับปรุงสำหรับหน่วยงานราชการคือตัว Joint KPI (ตัวชี้วัดของกระทรวงที่มีเป้าหมายร่วมกันระหว่างกระทรวง) ที่ภาคราชการมีอยู่แล้ว ปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดSDGs กับเป้าSDGs

ส่วนสุดท้ายที่เป็นโจทย์ท้าทาย การนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแปลงเป็นตัวชี้วัดในแต่ละ goals ในแต่ละ targets เราทำตรงนี้ได้ ก็ตอบโจทย์กับประเทศไทยเราเอง ทำตรงนี้ได้จะเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีความหมายเป็นตัวชี้วัด ที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ไปยังประเทศต่างๆให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

ถือโอกาสนี้ด้วย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานจี77 นี่คือโจทย์ข้อที่สามที่อยากจะฝากไว้สำหรับการชวนอภิปรายกันในโอกาสถัดไป

โจทย์ที่สี่คือแผนการขับเคลื่อนโรดแมป โรดแมปในที่นี้มีมากกว่าในส่วนราชการ 37 วาระของสภาปฏิรูปแห่งชาติส่วนหนึ่ง 67 เรื่องของการปฏิรูปของสภาปฏิรูปสภาขับเคลื่อนเป็นส่วนที่ตามมา ณ ขณะนี้

แต่ส่วนที่ต้องการความร่วมมือของภาคเอกชน คิดว่านี่คือภารกิจสำคัญอย่างที่ได้กล่าวถึง ข้อวิเคราะห์ของเจฟฟรีย์ แซคส์ ที่วิเคราะห์การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเพราะว่าขาดบทบาท ขาดกำลังของภาคเอกชนเข้ามาหนุนเสริมในเวลานี้

อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้น ตอนที่ฟังคุณบุญทักษ์พูด ผมนึกถึงกลไกประชารัฐ บทบาทของภาคเอกชน บทบาทของประชาชนที่เราเรียกกันว่า public private people partnership ขออนุญาตเติม people ไปด้วย

จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ 17 goals 169 targets นี้ให้ขับเคลื่อนไปได้ อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเปลี่ยน core business ในแต่ละองค์กร นั่นเป็น approach หนึ่งนะครับ กับอีกส่วนหนึ่ง จะมีความร่วมมือที่เชื่อมโยงมาจาก core business ของแต่ละภาคเอกชน นักธุรกิจกับการดำเนินงานของภาครัฐอย่างไร

ผมนึกถึงรูปธรรมที่เป็นข่าวคราวในช่วงเดือนที่ผ่านมา เวลานี้การขยายตัวของเกษตรเชิงเดี่ยวเข้าไปสู่พื้นที่สูง ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ต้นน้ำ นำมาสู่การเกิดปัญหาหมอกควัน ปัญหาเหล่านี้เชื่อมโยงไปกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นี่คือตัวอย่างหนึ่งครับว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน จะร่วมมือกันได้อย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วยการตอบโจทย์เป้าSDGsที่ 13 ตอบโจทย์เป้าSDGs ในเรื่องการรักษาระบบนิเวศน์ ป่า น้ำ นี่คือโจทย์ที่ฝากไว้เป็นการบ้านนะครับ

ประการสุดท้ายคือโจทย์เรื่องของการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน ซึ่งจริงๆแล้วเรามีคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวโยงกับทุกเป้ามากมายในประเทศไทย กรรมการน้ำแห่งชาติ ประมงแห่งชาติ, ป่าไม้แห่งชาติ, กรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, กรรมการในภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จำนวนมาก

เราจะใช้กลไกเหล่านี้ในการเสริมการทำงาน แล้วทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าการเดินสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยอยู่ในสถานะใด หลงทางหรือไม่ จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตาม17 เป้าได้อย่างแท้จริง

ภาพอนาคตของประเทศไทยในภาพสุดท้าย กำลังรอการต่อภาพจิ๊กซอว์ต่างๆอยู่ในเวลานี้ แต่ละจุดรอการขับเคลื่อน รอความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม นี่คืออนาคตที่ฝากไว้กับทุกท่านครับ

ดูข้อมูลเพิ่มเติม