ThaiPublica > เกาะกระแส > ถอดบทเรียน “Phoenix Commodities” เทรดเดอร์สินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกล้มละลาย

ถอดบทเรียน “Phoenix Commodities” เทรดเดอร์สินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกล้มละลาย

1 กันยายน 2020


Krungthai COMPASS ถอดบทเรียนหลังเทรดเดอร์สินค้าเกษตรรายใหญ่ “Phoenix Commodities” ของโลกล้มละลาย เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกข้าวไทยอย่างไร โดยมองว่า

  • ทั้งปี 2563 ไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 6.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งส่งออกได้ 7.6 ล้านตัน หรือลดลง 12% YoY
  • Covid-19 ทำให้คู่ค้าของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือบางรายล้มละลายจนผิดนัดชำระหนี้ เช่นเดียวกับ Phoenix Commodities เทรดเดอร์สินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกที่ล้มละลายจากการขาดทุนถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการเก็งกำไรที่ผิดพลาดในตลาดน้ำมัน
  • หากเทรดเดอร์ปิดกิจการอาจทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยที่ค้าขายกับเทรดเดอร์ไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้า และอาจลุกลามไปจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง
  • กรณี Phoenix Commodities สร้างความเสียหายกับผู้ส่งออกข้าวไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท
  • Krungthai COMPASS แนะนำผู้ส่งออกทำประกันการส่งออก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการส่งออกสินค้าแล้วไม่ได้รับการชำระเงิน

สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในปีนี้ยังน่าเป็นห่วง โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ 3.3 ล้านตัน หรือลดลง 33% (YoY) โดยตลาดส่งออกหลักอย่างทวีปแอฟริกาหดตัวมากถึง 44% สาเหตุที่การส่งออกข้าวไทยลดลงมาก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในประเทศ ทำให้ผู้ส่งออก ขาดแคลนข้าวในการส่งออก อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก

นอกจากนี้ ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกจากสต็อกข้าวโลกที่ยังมีอยู่ในปริมาณมาก โดยเฉพาะจีน ที่ปัจจุบันเริ่มผันตัวมาเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น Krungthai COMPASS จึงประเมินว่าทั้งปี 2563 ไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 6.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งส่งออกได้ 7.6 ล้านตัน หรือลดลง 12% YoY

ขณะที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 ยังทำให้คู่ค้าของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือบางรายล้มละลายจนผิดนัดชำระหนี้ โดย Euler Hermes บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลกคาดว่าCovid-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มขึ้นกว่า 20%

สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม 2563) พบว่า ลูกค้าที่ประกันการส่งออก ยื่นเอกสารว่าผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 195% (YoY) รวมทั้งมีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมเพิ่มขึ้น 226% (YoY) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า 92% รองลงมา คือ ผู้ซื้อล้มละลาย 8% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการขอรับสินไหมสูง คือ ข้าว อาหาร และอัญมณี

เช่นเดียวกับกรณี “Phoenix Commodities” ที่ล้มละลายจนถึงขั้นปิดกิจการในช่วงกลางปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ช็อควงการสินค้าเกษตรของโลก เนื่องจากเป็นบริษัทเทรดเดอร์สินค้าเกษตรเจ้าใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก และจากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าว พบว่า บริษัทยังเป็นคู่ค้ากับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหลายเจ้า ในบทความนี้เราจะอธิบายว่าการปิดกิจการของเทรดเดอร์รายนี้เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกข้าวไทยอย่างไร รวมทั้งผู้ส่งออกข้าวควรปรับตัวอย่างไร

Phoenix Commodities คือใคร?

บริษัท Phoenix Commodities คือ บริษัทค้าขายสินค้า Commodities จำพวกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ข้าว เหล็ก และถ่านหิน เป็นต้น เป็นบริษัทในเครือ Phoenix Group DMCC ซึ่งบริหารงานโดย Mr.Gaurev Dhawan ชาวอินเดียผู้มีประสบการณ์ในตลาด Commodities มากว่า 25 ปี โดยบริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจค้าขายข้าวตั้งแต่ปี 2001 และก้าวขึ้นเป็นผู้ค้าข้าวอันดับที่ 3 ของโลก มีบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท มีพนักงานประมาณ 2,500 คน โดยในปี 2019 มีรายรับ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีกำไร 151.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทอาศัยชื่อเสียงที่มีมานานในการต่อรองกับผู้ส่งออกสินค้า Commodities เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัท ด้วยชื่อเสียงของบริษัททำให้การขอเทอมการค้ากับผู้ส่งออกเพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายก่อนแล้วค่อยชำระเงินทีหลังยิ่งทำได้ง่าย ขณะที่ข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าว พบว่า ในช่วงหลังเทรดเดอร์รายนี้มีการชำระเงินให้ผู้ส่งออกล่าช้า เนื่องจากบริษัทมีการทำ Hedging ค่าเงินแล้วขาดทุน

เหตุใดถึงขาดนล้มละลาย?

บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างว่าการระบาดของ Covid-19 ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมาก อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาทำให้บริษัทขาดทุนจากการเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างมาก โดยบริษัทมีภาระหนี้คงค้างอยู่ในกลุ่มธนาคารประเทศ สิงคโปร์ อังกฤษ และดูไบ ประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมี เทรดเดอร์อีกหลายรายที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกัน โดยจากรายงานข่าวของ Financial Times ระบุว่า บริษัท Hin Leong Trading และ ZenRock Commodities Trading ซึ่งเป็นบริษัทเทรดเดอร์สินค้า โภคภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงเช่นเดียวกัน ก็กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเหมือนกับ Phoenix Commodities และอาจสร้างความเสียหายของให้กับธนาคารผู้ให้กู้รวมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้ส่งออกข้าวไทยกลุ่มไหนบ้างที่ค้าขายผ่านเทรดเดอร์?

ผู้ส่งออกรายใหม่หรือผู้ส่งออกที่เน้นปริมาณการขายครั้งละมากๆ จะนิยมค้าขายผ่านเทรดเดอร์ เนื่องจากผู้ส่งออกรายใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการขยายตลาดส่งออกหรือหาตลาดเองมากนัก ทำให้ต้องพึ่งพาการค้าขายผ่านเทรดเดอร์ หรือบางครั้งเป็นผู้ส่งออกที่เน้นปริมาณการขายครั้งละมากๆ เพื่อลดต้นทุนในการจัดการ เทรดเดอร์ก็จะสามารถรวบรวมคำสั่งซื้อจากคู่ค้าต่างๆมาให้ได้ ส่วนผู้ส่งออกข้าวที่มีประสบการณ์ในตลาดส่งออกข้าวมานานจะนิยมค้าขายโดยตรงกับผู้ซื้อมากกว่า เนื่องจากผู้ส่งออกมีฐานลูกค้ารองรับชัดเจน อีกทั้งมีการค้าขายกับลูกค้ามาเป็นระยะเวลานาน จากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดความไว้ใจในสินค้าและการชำระเงินซึ่งกันและกัน

การปิดกิจการของเทรดเดอร์เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกข้าวไทยอย่างไร?

ปัจจุบันการค้าขายข้าวของผู้ส่งออกเสี่ยงแค่ไหน?

ผู้ส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่มักตกลงค้าขายกันแบบไม่มีการจ่ายล่วงหน้า ซึ่งเป็นการค้าขายที่มีความเสี่ยงสูง จากการที่ผู้ซื้ออาจไม่ชำระเงินหลังจากส่งมอบสินค้าไปแล้ว แทนการชำระเงินแบบ L/C (Letter of Credit) โดยมักให้เหตุผลว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียม อีกทั้งในปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่จำยอมต้องให้เทอมการค้ากับเทรดเดอร์ กล่าวคือ ให้เทรดเดอร์ นำสินค้าไปจำหน่ายก่อนแล้วนำเงินมาชำระกับผู้ส่งออกทีหลัง เนื่องจากเทรดเดอร์มีอำนาจในการต่อรองมากกว่าผู้ส่งออก จากการที่มีทางเลือกในการไปซื้อสินค้ากับผู้ส่งออกอื่นที่ให้เงื่อนไขดีกว่าแทน

การปิดกิจการของเทรดเดอร์ข้าวเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกข้าวไทยและอาจลุกลามไปจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยจากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน ผู้ส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่ให้เทอมการค้ากับเทรดเดอร์โดยทั่วไปประมาณ 60-150 วัน โดยผู้ส่งออกข้าวจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อหรือเทรดเดอร์ก่อน โดยที่ยังไม่มีการชำระเงินค่าสินค้า ดังนั้น หากเทรดเดอร์ปิดกิจการอันเนื่องมาจากเหตุผลด้านสภาพคล่องหรือขาดทุนจากการทำ Hedging ค่าเงิน เช่นกรณี Phoenix Commodities จะทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยที่ค้าขายกับ เทรดเดอร์ไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้า ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุความเสียหายจากเทรดเดอร์รายนี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท

ก้าวต่อไปของผู้ส่งออกข้าว

ผู้ส่งออกข้าวควรพิจารณาลดความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้าแล้วไม่ได้รับชำระเงิน โดยอาจตกลงวิธีการชำระเงินให้รัดกุมมากขึ้น เช่น การขอ Advance Payment บางส่วนก่อนการส่งสินค้า หรืออาจขอให้เทรดเดอร์ ทำการ Transfer L/C จากผู้ซื้อมาให้ผู้ส่งออก หากผู้ซื้อมีการเปิด L/C ให้กับเทรดเดอร์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ส่งออกได้

การทำประกันการส่งออกเป็นทางเลือกที่ดีในการบริหารความเสี่ยงจากการส่งออก โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถต่อรองขอ Advance Payment จากผู้ซื้อได้ และในสถานการณ์ Covid-19 ที่ทำให้ผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบจนทำให้ชำระเงินล่าช้า หรือไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ โดยประกันการส่งออกมีหลายรูปแบบกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์การส่งออกราย Shipment ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการที่ส่งออกไม่มากครั้ง หรือกรมธรรม์การส่งออกแบบเหมาจ่ายรายปี ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการส่งออกจำนวนมากและไม่ต้องการทำเอกสารหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับวิธีการชำระเงินของผู้ส่งออกและผู้ซื้อที่ตกลงกัน

รายงานโดย : อภินันทร์ สู่ประเสริฐ และกฤชนนท์ จินดาวงศ์ Krungthai COMPASS