ThaiPublica > เกาะกระแส > ประชุม “ศูนย์บริหารเศรษฐกิจ” นัดแรก “วางกรอบเยียวยา” เร่ง 4 มาตรการ “ท่องเที่ยว-SME-จ้างงาน-กระตุ้นใช้จ่าย”

ประชุม “ศูนย์บริหารเศรษฐกิจ” นัดแรก “วางกรอบเยียวยา” เร่ง 4 มาตรการ “ท่องเที่ยว-SME-จ้างงาน-กระตุ้นใช้จ่าย”

19 สิงหาคม 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (ขวา) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวถึงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2563 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)” และการแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินการมาตรการเศรษฐกิจ

วางกรอบโครงสร้างตั้งอีก 3 อนุกรรมการ

ขณะที่โครงการสร้างการดำเนินงาน ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน 2) คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว และ 3) คณะอนุกรรมการสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อจัดวิเคราะห์และจัดทำรายละเอียดข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจและนำเสนอศูนย์บริหารเศรษฐกิจพิจารณาต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้นายสมิทธ์ พนมยงค์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ

“สำหรับข้อเสนอฯจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย 1) ระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 2) ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยจะมีการประสานและติดตามการดำเนินงานกับ “คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ” เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด”

ขณะที่กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ประกอบด้วย 3 ประเด็น ดังนี้

  1. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับพื้นที่ (Micro) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมการจ้างงานในระดับพื้นที่ การสนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยจะมีกลไกดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดเป็นหลัก และ (2) ระดับประเทศ (Macro) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ในระดับศักยภาพ การส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในภาพรวม รวมทั้งการวางรากฐานและผลักดันให้เศรษฐกิจปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยจะมีกลไกดำเนินการผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นหลัก
  2. เห็นชอบกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้ (1) การส่งเสริมการจ้างงานโดยเฉพาะให้แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษาการจ้างงานภายในประเทศ (2) การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถฟื้นตัวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวโดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สิ้น รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานไม่ให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น และ
  3. การรักษาเสถียรภาพทางการเงินเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ

ชง 4 มาตราหนุน “ท่องเที่ยว-SME-จ้างงาน-กระตุ้นใช้จ่าย”

สุดท้ายที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอมาตรการในระยะเร่งด่วนที่สำคัญ ๆ 4 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ การออกมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมไทยเที่ยวไทยเพิ่มเติม การสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และการวางแนวทางมาตรการนำร่องเพื่อเปิดรับท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ (ภูเก็ตโมเดล) อย่างรอบคอบและรัดกุม

2) มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs ได้แก่ การสนับสนุนสภาพคล่องให้ตรงตามความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ช่วยสร้างพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับ SMEs และการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในระดับพื้นที่

3) มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ได้แก่ การส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้ที่จบใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน การส่งเสริมการจ้างงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าว การรักษาการจ้างงานเดิมโดยเน้นในสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งแรงงานในและนอกระบบ และการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ

4) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมระยะใหม่ และมาตรการเปิดรับผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดมาตรการในระยะเร่งด่วนตามกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจ รวมทั้งการขอต่ออายุและ/หรือข้อเสนอเพิ่มเติมของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจตามเหมาะสมและความจำเป็น

รับทราบผลเยียวยาท่องเที่ยว-เสริมสภาพคล่อง SME

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 โดยสรุปว่าภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นและเผชิญกับการระบาดระลอกที่สองที่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจในหลายประเทศสำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในสาขาการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้ในไตรมาสที่สองของปี 2563 เศรษฐกิจปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 นับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2541 นอกจากนี้ ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ยังได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย (SMEs) รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำต้องประสบปัญหาการขาดรายได้และขาดสภาพคล่อง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลิกจ้างและปิดกิจการของผู้ประกอบการรายย่อย และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงาน สะท้อนจากจำนวนผู้ว่างงานและผู้ที่มีความเสี่ยงจะว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในระยะต่อไป รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งรัดในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการเราเที่ยวด้วยกันโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2563 มีประชาชนลงทะเบียนสำเร็จ 4.62 ล้านคน มีผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักลงทะเบียนรวม 6,943 แห่ง ร้านอาหาร 60,273 ร้าน และผู้ประกอบการ OTOP 1,058 แห่ง มีการใช้สิทธิ์โรงแรมทั้งสิ้น 544,373 Room Night มูลค่าห้องพักที่จองทั้งหมด 1,622 ล้านบาท ส่วนการใช้จ่ายผ่าน e-Wallet มีผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 145,152 ราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 187.9 ล้านบาท สำหรับการขอรับสิทธิ์เงินคืนค่าบัตรโดยสาร มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์แล้ว 10,155 ราย มีจำนวนการจองตั๋วแล้ว 1,701 ราย และมูลค่าบัตรโดยสารรวม 4.9 ล้านบาท

ส่วนมาตรการดูแลสภาพคล่องของ SMEs เพิ่มเติม โดยกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ประกอบด้วยความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่ม SMEs ทั่วไป (2) กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ (3) กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน ภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท