ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ มอบแนวทางแผนงานปีที่ 2 ของรัฐบาล -ให้นโยบายครม.ใหม่ 24 ข้อ

นายกฯ มอบแนวทางแผนงานปีที่ 2 ของรัฐบาล -ให้นโยบายครม.ใหม่ 24 ข้อ

14 สิงหาคม 2020


เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบนโยบายการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ ปีที่ 2 แก่ คณะรัฐมนตรี โดยรัฐบาลจะมุ่งเน้นการบริหารราชการตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ อันได้แก่ นโยบายหลัก 12 เรื่อง และนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง พร้อมกับปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการบริหารงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการฟื้นฟูและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะเสริมสร้างความมั่นคงด้านการจ้างงาน ภาคการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม อาหาร พลังงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ สอดคล้องกับอุปสงค์อุปทาน ส่งเสริมและพัฒนาระบบการตลาด การค้าขายออนไลน์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าทางเรือ กองเรือพาณิชย์ พัฒนาการเกษตรบีซีจี เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ การแปรรูปสินค้าการเกษตร ยกระดับการส่งออกสินค้าให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลของทุกหน่วยงาน (Big data) พัฒนาระบบดิจิทัลให้ประชาชนใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับปรุงการบริการสาธารณะของภาครัฐ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเน้นคุณภาพมาตรฐาน ยกระดับทักษะแรงงานให้มีรายได้พอเพียง มั่นคง เพิ่มการจ้างงานแรงงานไทย เร่งรัดการวิจัยพัฒนาไปสู่การผลิตและการเกษตรที่มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ ควบคู่การส่งเสริมการอุปโภค บริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น พัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน รวมทั้งการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ความสำคัญและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนด้วยการส่งเสริมการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อส่งเสริมให้คนเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ

ด้านการบริหารจัดการงบประมาณ จัดทำงบประมาณขาดดุลเท่าที่จำเป็น และใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งงบประมาณที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายปี 2564 โดยจะมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณลงตามกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลักให้เดินหน้าไปพร้อมกับธุรกิจขนาดใหญ่ในห่วงโซ่เดียวกัน

ด้านการต่างประเทศ จะร่วมมือกับทุกประเทศ ในรูปแบบพหุภาคี หรือทวิภาคี ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การผลักดันการเจรจาการเข้าร่วมภาคีการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่เรียบร้อย และความร่วมมือต่อสู้วิกฤติการระบาดโรคไวรัสโควิด 19 ทั้งในเรื่องการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้รองรับต่อวิถีปกติใหม่ (New Normal) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งจะสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง

ด้านความมั่นคง เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศในภูมิภาค ควบคู่กับการเสริมสร้างกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีความเข้มแข็ง ทันสมัย โปร่งใส ยุติธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในทุกโอกาส เร่งการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด รวมทั้งการปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันผิดกฎหมาย สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เสริมสร้างการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมและเป็นธรรม

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติราชการให้เกิดการบูรณาการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้อำนาจและการดำเนินการของหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ขจัดปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดทางด้นกฎหมายหรือกฎระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและสะดวกรวดเร็ว ลดเวลาขั้นตอนการให้บริการภาครัฐ ลดภาระประชาชน ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ชัดเจน ทุกช่องทาง ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์

ด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ และองค์กรอิสระ ดำเนินการโดยสุจริตเที่ยงธรรม เป็นไปตามกฎหมาย ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม แจ้งเหตุให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบตามกฎหมาย ประกอบพยานหลักฐานที่ครบถ้วน โดยไม่ถูกแทรกแซง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

มอบนโยบาย ครม. ใหม่ 24 ข้อ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์  ยังได้มอบนโยบายแก่ครม.ใหม่อีก 24 ข้อ ดังนี้

1.น้อมนำพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ให้ประชาชนมีความสุข บ้านเมืองมีเสถียรภาพ รักษาระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม

2. ไม่ยึดผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ทางการเมือง เหนือผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม

3.เร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนแม่บท ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของโลกและประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป

4.ดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศอย่างสมดุลระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและในเวทีโลก ด้วยความเป็นเอกภาพและเสรีภาพ เร่งขับเคลื่อนการเจรจาและการใช้ประโยชน์จากพันธสัญญาต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

5.ขับเคลื่อนประเทศในยุคปกติใหม่ (New Normal) เน้นการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อการวิเคราะห์ปัญหา การวางแผน และการพัฒนางาน และการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย

6.ปรับปรุงรูปแบบและช่องทางการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการรับรู้ของประชาชนในปัจจุบัน

7.จัดให้มีคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด จากทุกภาคส่วน ในจังหวัดนั้นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ เพื่อเป็นกลไกในการรับฟังความคิดเห็น และการส่งผ่านข้อมูลของประชาชน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถเสนอแนะรัฐบาลในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการประชาชน

8.ส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ลดช่องว่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เสริมสร้างความรักและความสามัคคีในการที่จะช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน คนไทยทุก ๆ รุ่น (Generations) ต้องร่วมกันสร้างชาติไทยไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 9.สร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในรัฐบาลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและผลงานที่เป็นรูปธรรม

10.เร่งรัดการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

11.รักษาวินัยการเงินการคลังให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาหามาตรการทางการเงินรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

12.ปรับวิธีการใช้จ่ายงบประมาณ จัดทำแผนงาน/โครงการ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณ มีวงเงินที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณในแต่ละปีมากเกินไป

13.กวดขัน เข้มงวด การปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบ

14.ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยคำนึงถึงรูปแบบองค์กร บุคลากร ครู นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการศึกษาแนวใหม่ในศตวรรษที่ 21 การศึกษายุดดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในสถานการณ์จริงได้ มีทักษะการประกอบอาชีพ มีงานทำ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบ (กศน. ) รวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกกองทุนการศึกษา กยศ. และกองทุนเสมอภาคฯ

15.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา พัฒนาผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งรัดจ้างงาน สร้างงานให้คนไทยมีงานทำ เร่งรัดการพัฒนานวัตกรรมและผลงานวิจัยไปสู่การผลิต ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในประเทศ รวมไปถึงสร้างโอกาสในการส่งออก

16.ส่งเสริมการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องมือ เครื่องจักรมาใช้ในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

17.ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สร้างห่วงโซ่เชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต่อยอดความร่วมมือและขยายผลให้กับเกษตรกร ประชาชน และภาคเอกชนที่มีผลสำเร็จ เช่น การเร่งการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ข้าวใหม่ ๆ การแปรรูป ผลิตผลทางการเกษตร

18.พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ ทั้งระบบกักเก็บน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตั้งแต่แหล่งน้ำชุมชน ไปจนถึงองเก็บน้ำขนาดใหญ่ ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในชุมชน

19. ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน บนพื้นฐานการอนุรักษ์วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม การดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

20.ดำเนินนโยบายด้านพลังงาน โดยยึดหลักความโปร่งใส ลดภาระและความเดือดร้อนของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้บริโภค

21.แก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศ โดยนำแนวทางของต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จมาศึกษาและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

22.ขจัดความเหลื่อมล้ำ ด้วยมาตรการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ดูแลผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส กำหนดให้มีมาตรการดูแลคนทุกช่วงวัย กลุ่มเปราะบาง คนพิการที่เหมาะสม พัฒนาระบบสาธารณสุขพื้นฐาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยให้ความสำคัญกับการป้องกัน (Preventive) ผ่านกลไกหมอครอบครัว และ อสม. ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และข้าราชการชั้นผู้น้อย มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในทุกจังหวัด โดยทยอยดำเนินการเป็นระยะ กำหนดแผนงานโครงการที่ชัดเจน แบ่งการดำเนินการเป็นระยะ กำหนดความเร่งด่วน เพื่อให้ส่งผลโดยเร็วที่สุด

23. ภารกิจในระยะเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ภาคการเกษตร

24. ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยบูรณาการทุกภาคส่วนให้ร่วมกันติดตามดูแล ประดับประคอง ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19